สมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) เปิดเผยผลวิจัยว่าวัยรุ่น 56% ยอมเป็นหนี้บัตรเครดิตเพื่อสร้างภาพลักษณ์ ‘กินหรู อยู่สบาย’ บนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ได้รับการยอมรับและให้คนอื่นรู้สึกอิจฉา “เรื่องนี้จริง” และไม่น่าใช่แค่วัยรุ่นหรอก วัยทำงานแล้วก็เป็น

ทุกวันนี้ มนุษย์ (เกือบ) ทุกคนใช้ชีวิตคู่ขนานกันไปอยู่ในโลกสองใบ คือโลกแห่งความจริง กับโลกในโซเชียลมีเดีย ขณะที่บางคนเพิ่งตื่นนอนตอนสาย แต่บนไอจีกลับมีภาพนั่งจิบกาแฟอยู่ที่คาเฟ่เก๋ ๆ หรือในช่วงที่บางคนกำลังประชุมอย่างหน้าดำคร่ำเครียด ภาพนอนจิบไวน์ริมสระว่ายน้ำก็โผล่ขึ้นมาบนฟีด

ถ้าย้อนกลับไปในยุคก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดีย เราแทบจะไม่รู้รายละเอียดในชีวิตของคนอื่นเลย (แม้ว่าเราจะขี้เผือกแค่ไหนก็ตาม) ไม่เว้นกระทั่งคนใกล้ชิดอย่างเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่แฟนของคุณเอง เราอาจจะรู้ว่าเขามีฐานะประมาณไหน ไลฟ์สไตล์เป็นยังไง ก็ต่อเมื่อได้พบปะพูดคุยกันต่อหน้า เห็นการแต่งกาย ได้นั่งรถของเขา หรือมีโอกาสไปเยี่ยมบ้านเขาสักครั้ง แต่สมัยนี้ไม่ต้อง! แค่ตามไอจี เฟซบุ๊ก หรือติ๊กตอกของเขา “รู้หมด” ส่วนจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งนั้น ค่อยว่ากันอีกที

โซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้เราเข้าถึงชีวิตของคนอื่นได้แค่ปลายนิ้ว เรารู้ว่าเขาทำงานอะไร แต่งงานกับใคร มีลูกกี่คน เป็นเพื่อนกับใคร มีสัตว์เลี้ยงไหม อยู่บ้านหรือคอนโด ภายในบ้านเป็นแบบไหน แต่งตัวแบบไหน ชอบแบรนด์อะไร ชอบกินอะไร ไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยแค่ไหน นั่งบิสสิเนสหรือชั้นประหยัด กระทั่งที่อยู่ ที่ทำงาน หรือวันเกิดของเขา เราก็ยังรู้ได้ไม่ยาก

ถ้าเป็นเมื่อก่อน คุณต้องเป็นดาราหรือคนดัง ถึงจะมีคนมาขอเก็บบันทึกไลฟ์สไตล์และสัมภาษณ์เรื่องราวชีวิตของคุณไปลงนิตยสารหรือออกรายการทีวี แต่ทุกวันนี้ไม่ต้องเพราะ “ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือ” แถมฟรีอีกต่างหาก

ในเมื่อเป็นสื่อส่วนตัวในมือเรา เล่าถึงชีวิตของเรา แล้วเรื่องอะไรเราจะไม่อยากอวด “เรื่องดี ๆ” ให้คนอื่นอิจฉาล่ะ

ต้องเข้าใจก่อนว่าการอวดไม่ใช่เรื่องผิดแปลกเพราะเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ด้วย อย่างสัตว์ (นกยูงตัวผู้รำแพนหางสีสันสวยงามเพื่อดึงดูดนกยูงตัวเมีย) หรือพืช (ดอกไม้จะใช้กลิ่น สี และกลีบดอก เพื่อดึงดูดผึ้งให้มาช่วยผสมเกสร) ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนเราอยากมีความโดดเด่นเป็นพื้นฐาน ออกไปไหนก็ต้องแต่งหน้าสวย สวมเสื้อผ้าดูดี ฉีดน้ำหอมหน่อย เรียกความสนใจได้ตั้งแต่เดินผ่าน

พอมาถึงยุคโซเชียลมีเดีย ทุกคนเลยอยากโพสต์สิ่งดี ๆ ให้คนอื่นได้ดู เชื่อว่าหลายคนไม่ได้ต้องการ “อวด” อะไรหรอก แค่อยากบันทึกสิ่งดี ๆ ไว้ที่นั่น (แทบไม่ต่างจากพื้นที่เก็บรูปและวิดีโอ) แต่ก็เชื่อว่าหลายคน “ตั้งใจอวด” ความร่ำรวย ไลฟ์สไตล์เลิศหรู รสนิยมราคาแพง “ฉันกินมิชลิน บินบิสสิเนส ขับรถแพง ใช้แบรนด์เนม เที่ยวปารีส..” ภาพลักษณ์หรูหราเหล่านี้ทำให้เขารู้สึกได้รับการยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และบางครั้งถึงขั้นรู้สึกอยู่เหนือคนอื่น ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเขา “เงินของเขา” อยากโพสต์อะไรก็ได้ ตราบใดที่ไม่ขัดกับกฏของโซเชียลมีเดีย แต่ก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา

การโพสต์อวดรวยอาจเป็นดาบสองคม เพราะเป็นการล่อตาล่อใจมิจฉาชีพ เดี๋ยวนี้สะกดรอยตามบ้านหรือที่ทำงานกันได้ง่ายมาก แต่ที่น่าวิตกกว่านั้นคือมันทำให้คุณ “ติดกับดักโซเชียล” พอเห็นยอดติดตาม ยอดกดไลก์ ยอดคอมเมนต์ มาจากความร่ำรวยหรูหรา คุณก็ต้องสรรหาไลฟ์สไตล์และสิ่งของราคาแพงมาโพสต์อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าจะปล่อยไลฟ์สไตล์ที่ดูแย่ออกไปไม่ได้ ถ้าความหรูหรานั่นเป็นชีวิตจริง ๆ ของคุณก็ดีไป แต่สำหรับบางคน “มันไม่ใช่” ก็ต้องเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมาให้คนเชื่อว่าเขาเป็นแบบนั้นจริง ๆ

ภัยอีกอย่างของการ “อวดรวย” บนโซเชียล ไม่ใช่ภัยของคนโพสต์ แต่เป็นภัยของผู้ติดตาม ทุกวันนี้มิจฉาชีพที่ทำธุรกิจสีเทา มักจะอวดความมั่งคั่งลงบนโซเชียล (ไม่อยากเชื่อว่ายุคนี้จะมีคนโพสต์อวดเงินสดเป็นปึก ๆ) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือว่า “เขาทำธุรกิจนี้แล้วรวยจริง” และหลงกลยอมร่วมลงทุนลงเงินด้วย หลายต่อหลายคนตกเป็นเหยื่อเพียงเพราะเห็นภาพไลฟ์สไตล์ที่หรูหรา แต่จริง ๆ แล้วคือการจัดฉาก หรือไม่ก็รวยจริง แต่เงินเหล่านั้นมาจากการหลอกลวงคนอื่น

เมื่อสองปีก่อน จีนสั่งแบนคอนเทนต์ “อวดร่ำอวดรวย” ใน Douyin (ติ๊กตอกของจีน) ประเภทโชว์ทรัพย์สิน เงินสดเป็นปึก รถซูเปอร์คาร์ และไลฟ์สไตล์หรูหราทั้งหลาย เพราะทางการจีนต้องการสร้างพลังบวกให้กับสังคมออนไลน์ ไม่อยากสร้างค่านิยมที่ผิด ๆ โดยเฉพาะกับเยาวชน

ก็จริงนะ หลายคนเริ่มไม่อยากทำงานออฟฟิศ เพราะการเป็น “อินฟลูเอนเซอร์” มันดูร่ำรวย ใช้ชีวิตหรูหรา งานก็สบาย แถมยังใช้ชีวิตได้อิสระ เผลอ ๆ ดังจนได้เป็นดารา เทียบกับการไปสมัครเป็นพนักงานประจำ กว่าจะได้เลื่อนขั้น เงินเดือนสูง ๆ ก็ใช้เวลาเป็นสิบปี “ฉันเอาเวลาไปทำคลิปลงติ๊กตอกดีกว่า” จะคิดแบบนี้ก็ไม่ผิด เพราะบางคนก็ดังจริง รวยจริง แต่คงคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ๆ

อย่าลืมคำพูดที่ แอนดี วอร์ฮอล บอกไว้ว่า “ในอนาคต ทุกคนจะมีชื่อเสียงกันแค่คนละ 15 นาที” (In the future, everyone will be famous for 15 minutes.) ไม่น่าเชื่อว่าวอร์ฮอลพูดไว้ตั้งแต่ปี 1967 สมัยยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แต่กลับเป็นเรื่องจริงแท้ในวันนี้ 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส