ในวันที่ 25 มิถุนายน 2566 ผู้ใช้งาน Facebook รายหนึ่งได้ออกมาโพสต์เรื่องราวที่ตนเองได้ไปลงทะเบียนเพื่อใช้งานสิทธิพิเศษของเบอร์มือถือกับผู้ให้บริการเครือข่ายคือ AIS ก่อนพบว่าบัตรประชาชนของตนถูกลงทะเบียนซิมการ์ดไปแล้วถึง 34 เบอร์ โดยเกิดจากการลงทะเบียนของตนเองเพียง 2 เบอร์เท่านั้น

ส่วนอีก 32 เบอร์นั้นที่เหลือ ถูกลงทะเบียนโดยผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าของบัตรประชาชนตัวจริง! ซึ่งแบไต๋ได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ AIS แล้ว ก็ได้คำตอบว่า “เอไอเอสประสานงานกับลูกค้าเพื่อตรวจสอบกรณีนี้แล้ว” ซึ่งหากมีความคืบหน้าจากทาง AIS เราจะนำเสนอข่าวต่อไป

คนโดนสวมรอยอาจซวยได้

เบอร์ที่จดทะเบียนด้วยบัตรประชาชนของคนอื่นอาจถูกนำไปใช้แอบอ้างหรือก่ออาชญากรรมได้สารพัดวิธีอย่างการเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การส่ง SMS ต้มตุ๋น ไปจนถึงการนำเบอร์ไปใช้ในการติดต่อประสานงานเพื่อก่ออาชญากรรม หรือไปจนถึงการก่อการร้าย

ซึ่งเมื่อกระบวนการสืบสวนเริ่มต้นขึ้นแล้ว คนที่จะซวยหนักที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเจ้าของเลขประจำตัวประชาชนที่ถูกนำไปใช้ในการจดเบอร์เถื่อนนั่นเอง

การถูกแอบอ้างนำข้อมูลส่วนตัวไปลงทะเบียนซิมการ์ด  

นอกจากต้นเรื่องแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่โดน บางคนโดนตั้งแต่ 1 เบอร์ ไปจนถึง 50 กว่าเบอร์เลยทีเดียว!

นี่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีการสวมรอยใช้ข้อมูลส่วนตัวไปลงทะเบียนหรือไม่ และเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อการลงทะเบียนจำเป็นต้องใช้ข้อมูลส่วนตัว รูปถ่ายบัตรประชาชนตัวจริง รวมถึงรูปถ่ายใบหน้าของผู้ลงทะเบียนเอง

กฎการลงทะเบียนซิมการ์ดจาก กสทช.

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยมีข้อกำหนดบังคับให้ปิดใช้งานซิมที่ไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันตัวตน ภายในวันที่ 30 กันยายน 2558 เพื่อป้องกันการก่อการร้าย  

ต่อมามีการออกข้อกำหนดเพิ่มเติม ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ให้ผู้ใช้งานสามารถมีซิมการ์ดที่ลงทะเบียนได้สูงสุด 5 เบอร์เท่านั้น โดยนับเฉพาะที่ลงทะเบียนในนามบุคคลธรรมดา ไม่นับที่จดทะเบียนในนามนิติบุคคล หรือสำหรับซื้อสินค้า IoT และยังเป็นการนับเฉพาะการลงทะเบียนของแต่ละค่ายเท่านั้น

หากมีความต้องการเปิดซิมการ์ดมากกว่าจำนวนที่กำหนด สามารถติดต่อสอบถามได้ ณ ศูนย์ให้บริการเครือข่ายมือถือที่ต้องการ ซึ่งผู้ใช้งานที่มีการลงทะเบียนซิมการ์ดมากกว่า 5 เบอร์ ก่อนวันที่ กสทช. ออกข้อกำหนดนั้น จะยังคงใช้งานได้ตามปกติ

การลงทะเบียนซิมการ์ด สามารถทำได้ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการเครือข่ายต่าง ๆ โดยใช้ข้อมูลยืนยันตัวตน เช่น รูปถ่ายบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง และรูปใบหน้าตัวเอง เพื่อส่งคำขอการลงทะเบียนเปิดใช้งาน

อย่างไรก็ตาม กสทช. ไม่ได้บังคับให้ผู้ให้บริการเครือข่ายตรวจสอบหมายเลขบัตรประชาชนที่มีการลงทะเบียนซิมเกินจำนวนที่กำหนด มีแค่การสุ่มตรวจผ่านศูนย์บริการบางแห่งเท่านั้น

นั่นอาจหมายความว่าทั้ง 32 เบอร์ที่ลงทะเบียนไว้โดยใช้เลขบัตรประชาชนเดียวกัน อาจเกิดขึ้นมาแล้วอย่างน้อยเกือบปีเลยทีเดียว เว้นแต่จะเป็นด้วยเหตุผลอื่น ๆ

การตรวจสอบ และระงับการใช้งานซิมการ์ด

ในปัจจุบันสามารถตรวจสอบผลการลงทะเบียนซิมการ์ดได้โดยนำบัตรประชาชนตัวจริงของเราไปตรวจสอบที่ศูนย์ให้บริการเครือข่ายมือถือ หรือในบางเครือข่ายสามารถตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันได้เช่นเดียวกัน รวมถึงยังสามารถตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน 3 ชั้น ของ กสทช. ได้ด้วย

หากตรวจสอบแล้วพบว่า มีซิมการ์ดอื่น ๆ ที่ลงทะเบียนภายใต้เลขบัตรประชาชนของเรา สามารถแจ้งไปยังศูนย์ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ พร้อมบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อทำการระงับการให้บริการเบอร์ต่าง ๆ เหล่านั้นได้ทันที

บทสรุปยังคลุมเครือ

ถึงแม้ว่าวิธีการแก้ไขเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะแสนง่าย แต่ปัญหาความคาใจก็ยังไม่หมดไป โดยเฉพาะสาเหตุที่ว่าทำไมถึงมีการนำบัตรประชาชนของผู้อื่นไปลงทะเบียนซิมได้มากมายขนาดนั้น

ทำไมผู้ให้บริการเครือข่ายถึงยอมให้มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แล้วผู้ให้บริการเหล่านี้ควรจะมีระบบตรวจสอบความผิดปกติหรือไม่

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ยังต้องรอการตรวจสอบเพิ่มเติมจากผู้ให้บริการเครือข่าย สิ่งที่ระบุไว้ข้างต้นเป็นเพียงการตั้งข้อสงสัย และข้อสันนิษฐาน ขณะนี้จึงได้แต่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ผู้ใช้บริการทำได้แต่เพียงต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน รอจนกว่าจะมีมาตรการที่เหมาะสมกว่านี้ออกมา

ที่มา: nbtc (1), nbtc (2), Facebook

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส