หลายคนเคยได้ยินกันมาบ้างว่าดวงอาทิตย์สามารถส่งผลกระทบต่อโลกในแง่มุมต่าง ๆ ได้มากมาย โดยเฉพาะระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงความกังวลที่ว่าอาจสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออินเทอร์เน็ตได้

แต่เคยสงสัยกันบ้างไหมว่ามันสัมพันธ์กันอย่างไร จะรุนแรงขึ้นขนาดนั้นจริงไหม แล้วปัจจุบันมีการเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง

อะไรคือพายุสุริยะ

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NASA) ให้ความหมายพายุสุริยะว่าคือความเคลื่อนไหวบนดวงอาทิตย์ซึ่งมีสาเหตุมาจากสนามแม่เหล็ก นำไปสู่การปล่อยรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าและพลาสมาออกไปภายนอก ส่งผลกระทบต่อสนามแม่เหล็กของดวงดาวในระบบสุริยะ

ภาพการเกิด CME (ที่มา NASA/SOHO)

พายุสุริยะมี 4 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ เปลวสุริยะ (Solar Flare) ลมสุริยะความเร็วสูง (High-Speed Solar
Wind) อนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ (Geomagnetic Storm) และการปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (CME)

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าเมื่อความเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์เข้าสู่จุดสูงสุด จะนำไปสู่การเกิดพายุสุริยะขนาดใหญ่

เหตุการณ์คาร์ริงตัน

ความน่ากลัวของพายุสุริยะคือการที่มันเกิดขึ้นเร็วมากจนยากต่อการประเมินล่วงหน้าได้นาน ๆ

พายุสุริยะปล่อยคลื่นรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดพายุแม่เหล็กในชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งพายุแม่เหล็กนี่แหละที่จะไปป่วนระบบไฟฟ้า คลื่นวิทยุ ดาวเทียม ไปจนถึงภารกิจนอกโลกขององค์กรอวกาศนานาชาติ และยังทำให้ปรากฎการณ์แสงเหนือเกิดขึ้นในภูมิภาคของโลกที่ปกติจะไม่เกิด

พายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้นมาคือเหตุการณ์คาร์ริงตัน ที่เกิดขึ้นในปี 1859 หรือเมื่อ 164 ปีมาแล้ว

ในเวลานั้น มีแสงสว่างวาบออกมาจากดวงอาทิตย์จนมีรายงานว่าคนในยุคนั้นสามารถอ่านหนังสือได้แม้ในเวลากลางคืนที่ไม่มีแสงไฟ หลังจากนั้นไม่นาน สายสัญญาณโทรเลขมีประกายไฟพุ่งออกมา และแสงเหนือเกิดขึ้นในที่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนอย่างจาเมกา ทั้งหมดนี้เกิดจากพายุแม่เหล็กโลกที่รุนแรง

ฮิว ฮัดสัน (Hugh Hudson) ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์เผยในปีว่าประมาณการว่าพลังงานที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยออกมาในเหตุการณ์ครั้งนั้นเทียบได้กับระเบิดนิวเคลียร์ชนิด 1 เมกะตัน 10,000 ล้านลูก

แต่ผลกระทบต่ออินเทอร์เน็ตในโลกยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าจะรุนแรงหรือไม่ แล้วถ้ารุนแรง จะรุนแรงแค่ไหน

รุนแรงถึงขั้นทำอินเทอร์เน็ตพัง?

ความกังวลสำคัญคือพายุแม่เหล็กโลกที่เกิดจากพายุสุริยะนั้น อาจส่งผลต่อระบบอินเทอร์เน็ตจนล่มไปหมดใช้งานไม่ได้ เพราะเคยมีกรณีที่ดาวเทียม Starlink 40 ดวงถูกพายุสุริยะจนเสียหาย

งานศึกษาเมื่อปี 2021 ในชื่อ Solar Superstorms: Planning for an Internet Apocalypse ของผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์วิน เตือนให้ระวังพายุสุริยะในอนาคตที่อาจสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสายอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะสายที่อยู่ใต้น้ำ

อย่างไรก็ดี เจ้าของงานชิ้นนี้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าคำว่า ‘วิบัติทางอินเทอร์เน็ต’ (Internet Apocalypse) ที่ใช้ในงานของตัวเองเป็นสิ่งที่เกินเลยไป ในความเป็นจริงไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ถึงขั้นนั้น

แมทิว โอเวนส์ (ที่มา University of Reading)

แมทิว โอเวนส์ (Mathew Owens) นักฟิสิกส์ดวงอาทิตย์จากมหาวิทยาลัยเรดดิง ชี้ว่าความเป็นไปได้ที่พายุสุริยะจะกระทบต่ออินเทอร์เน็ตก็คือพายุสุริยะขนาดใหญ่ยักษ์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และจะต้องไปกระทบโดยตรงกับสายอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ที่วางอยู่บนบกและใต้น้ำด้วย

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) เคยออกมาประเมินว่าความเคลื่อนไหวบนดวงอาทิตย์จะทวีความรุนแรงสูงขึ้นในเดือนกรกฎาคมของปี 2025 แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะส่งผลต่อโลกอย่างไรบ้าง

ไม่น่าห่วงขนาดนั้น

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าการเกิดพายุสุริยะครั้งใหญ่ ๆ จะเกิดความหายนะต่อระบบอินเทอร์เน็ตของโลก หรือระบบการสื่อสารสมัยใหม่

เปลวสุริยะเกิดขึ้นบ่อยก็จริง แต่ส่วนใหญ่เป็นในระดับต่ำอย่าง A และ B ซึ่งไม่ส่งผลใด ๆ ต่อโลกมากนัก แม้แต่ระดับที่สูงขึ้นมาอย่างระดับ C และ X ซึ่งเป็นระดับสูงสุดก็ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น

ชอน เอลวิดจ์ (Sean Elvidge) หัวหน้าวิจัยสภาพแวดล้อมอวกาศแห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมไม่คิดว่าดวงอาทิตย์จะส่งผลกระทบอะไรต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือระบบสื่อสารในชีวิตประจำวันได้มากนัก ยิ่งระบบอินเทอร์เน็ตยิ่งแล้วใหญ่

ขณะที่ ศาสตราจารย์ สจวร์ต เบล (Stuart Bale) ผู้เชี่ยวชาญสาขาฟิสิกส์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และนักวิจัยหลักของ NASA ชี้ว่าการการเปลี่ยนแปลงในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์เกิดขึ้นช้ามาก

NASA เองก็เคยออกมาบอกว่าแม้แต่เปลวสุริยะในระดับที่ร้ายแรงที่สุดก็ไม่สามารถจะทำลายโลกได้แน่นอน

แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะนิ่งนอนใจได้

เหล่าองค์กรระดับโลก ทั้ง NASA องค์การมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศ (NOAA) และสำนักงานภูมิอากาศทหารอากาศ (AFWA) ของสหรัฐฯ ก็เฝ้าติดตามปรากฎการณ์บนดวงอาทิตย์ และแจ้งเตือนไปยังภาคส่วนเทคโนโลยีให้เตรียมการป้องกันมาโดยตลอด

เส้นทางการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของ Parker Solar Probe ในครั้งที่ 16 (ที่มา NASA)

เครื่องมือสำคัญคือยาน Parker Solar Probe ซึ่ง NASA ปล่อยตัวในปี 2018 มีหน้าที่ในการสำรวจดวงอาทิตย์และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์

นอกจาก Parker Solar Probe แล้วยังมียาน Solar Orbiter และ BepiColombo ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) และยาน STEREO-A ของ NASA ซึ่งเฝ้าสังเกตดวงอาทิตย์ในระยะห่างที่แตกต่างกันไป

พยากรณ์ดวงอาทิตย์

วิชาล อูเพนแดรน (Vishal Upendran) ผู้ช่วยวิจัยจากห้องทดลองแสงอาทิตย์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในแคลิฟอร์เนีย ของ Lockheed Martin ได้พัฒนาโมเดล AI ที่ใช้ข้อมูลดาวเทียมเกี่ยวกับลมสุริยะในการพยากรณ์การเกิดลมสุริยะล่วงหน้าเป็นเวลา 30 นาที

ภาพจำลองยาน Solar Orbiter (ที่มา ESA)

ซึ่งจะช่วยให้ผู้ดูแลระบบส่งไฟฟ้าและสื่อสารปิดระบบชั่วคราว หรือผู้ควบคุมดาวเทียมสามารถย้ายที่ขณะเกิดพายุสุริยะเพื่อลดความเสียหายได้

เบลยังบอกด้วยว่าหากมนุษย์เข้าใจ ‘การเชื่อมต่อใหม่ของสนามแม่เหล็ก’ (magnetic reconnection) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ในสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ที่ส่งผลต่อลมสุริยะมากเท่าไหร่ มนุษย์ก็สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว โอกาสที่พายุสุริยะจะทำลายระบบการสื่อสารของโลกโดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตเป็นไปได้น้อยมาก แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ไม่ยอมให้โอกาสน้อยนิดนั้นเกิดขึ้นเป็นจริงได้

ด้วยการเตรียมความพร้อมโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเอาชนะให้ได้แม้กระทั่งดวงอาทิตย์!

ที่มา Space (1) Space (2) Parker Solar Probe (nasa.gov), The Washington Post, NASA, Scimath, BBC ไทย, Massachusetts Institute of Technology, NASA, Scientific American, Live Science, CBS News

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส