แน่นอนว่า AI แทบจะเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานของผู้คนหลายคนก็ว่าได้ เพราะช่วยทำให้ประหยัดเวลา สะดวกสบาย แถมยังใช้งานง่าย ทำได้หลากหลาย ตั้งแต่เรื่องงานไปจนปรึกษาปัญหาชีวิต แนะทางออกได้ครบจบ วันนี้แอดจะชวนมาดูกันค่ะว่า ตั้งแต่ปี 2024 จนถึงปี 2025 ผู้คนใช้ AI ไปกับเรื่องอะไรกันบ้าง 

คำถามที่หลายคนตั้ง รวมถึงตัวแอดเอง คำตอบได้อยู่ในรายงานการวิเคราะห์โดย มาร์ก ซาโอ-ซานเดอร์ส (Marc Zao-Sanders) บน Harvard Business Review โดยเขาได้ศึกษาข้อมูลจากโพสต์นับพันรายการในฟอรัมต่าง ๆ ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งเปรียบเทียบแนวโน้มการใช้งาน Generative AI ระหว่างปี 2024 และ 2025 เพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้คนในแต่ละปี

จาก ‘ผู้ช่วย’ สู่ ‘ผู้รู้ใจ

ถ้ามองจากอันดับต้น ๆ ของการใช้งานในปีนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ คนเริ่มใช้ AI เพื่อดูแล ‘ใจ’ ตัวเองมากขึ้น

  • อันดับ 1 คือการใช้ AI เป็นเพื่อนคุย หรือช่วยบำบัดอารมณ์
  • อันดับ 2 ใช้จัดระเบียบชีวิต จัดตารางงาน วางแผนสิ่งที่ต้องทำ
  • อันดับ 3 ใช้ในการค้นหาความหมายของชีวิต หรือสะท้อนตัวเอง

พูดง่าย ๆ คือ จากเดิมที่ AI เป็นเครื่องมือช่วยงาน ตอนนี้หลายคนเริ่มใช้มันเหมือน ‘เพื่อน’ ที่คอยรับฟัง และช่วยคิดอย่างมีเหตุผล

ตัวอย่างหนึ่งจากผู้ใช้ในแอฟริกาใต้ บอกว่า “บริการสุขภาพจิตที่นี่หายากมาก แต่ AI ทำให้คนทั่วไปมีโอกาสได้พูดคุย แม้จะไม่ใช่นักจิตวิทยาจริง ๆ แต่บางครั้งแค่มีใครสักคนฟังเราก็ช่วยได้แล้ว”

ใช้ AI ช่วยจัดการชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

  • ช่วยวางแผนทำความสะอาดบ้านก่อนมีแขกมา
  • ใช้เป็นติวเตอร์ส่วนตัวตอนเรียนคอร์สออนไลน์
  • วางแผนเมนูอาหารแบบ Healthy พร้อมลิสต์ของที่ต้องซื้อ
  • วางแผนทริปท่องเที่ยว พร้อมที่พัก ร้านอาหาร และเส้นทาง
  • เขียนจดหมายอุทธรณ์ค่าปรับให้จนชนะคดี

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ AI ทำได้ดีมาก ไม่มีเหนื่อย ไม่มีบ่น และพร้อมช่วยเราคิดเป็นขั้นตอนในเรื่องที่บางทีเราก็ขี้เกียจจัดการเอง

แต่ทว่าถ้าจะพูดแต่ข้อดีมันก็จะอวยมากไป แต่รายงานฉบับนี้ก็ได้มีการบอกไว้อีกว่าผู้คนก็ใช้ AI อย่างระมัดระวังมากขึ้น ในแง่ของข้อจำกัดและข้อควรระวัง เช่น

  • เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล
  • สังเกตได้ว่า AI บางตัวมีมุมมองทางการเมืองแอบแฝง
  • เข้าใจว่า ถ้าอยากได้คำตอบดี ๆ ต้องใส่คำสั่ง (Prompt) ให้ชัดเจน
  • หลายคนถึงขั้นฝึกเขียน Prompt แบบมือโปรแล้วด้วย

อยากให้ AI ‘ทำแทน’ ไม่ใช่แค่ ‘แนะนำ’

หลายคนอยากให้ AI ก้าวไปอีกขั้น คือช่วย ‘ลงมือทำ’ แทนเราจริง ๆ เช่น “อยากให้ AI ยกเลิกบริการที่สมัครไว้ ก่อนที่มันจะเริ่มหักเงิน” นี่เป็นสัญญาณว่าผู้ใช้คาดหวังว่า AI จะไม่ใช่แค่ให้คำแนะนำแล้วปล่อยให้เราทำต่อเอง แต่ควรเป็นเหมือนผู้ช่วยส่วนตัวที่ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เราได้เลย

การใช้งาน AI ในปี 2025 สะท้อนให้เห็นว่า คนไม่ได้ใช้แค่เพราะมัน ‘เจ๋ง’ หรือ ‘ใหม่’ แต่ใช้เพราะมันช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และบางครั้งก็ ‘เหงาน้อยลง’

เราเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการใช้เพื่อทำงาน เป็นการใช้เพื่อ ‘เข้าใจตัวเอง’ และ ‘จัดการชีวิต’ และไม่แน่ว่าอีกหลายปีข้างหน้า เราอาจได้เห็น AI ที่เข้าใจมนุษย์ลึกขึ้น เป็นที่ปรึกษาที่ดียิ่งขึ้น ช่วยคิด ช่วยหาคำตอบ และลงมือทำเพื่อเรามากขึ้นก็ได้…