เมื่อวันที่ 8 – 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมาทางแบไต๋ได้รับเชิญจากทาง Netflix ให้เข้าร่วมงาน See What’s Next Asia ที่ Marina Bay Sands Expo and Convention Center ประเทศสิงคโปร์ โดยทาง Netflix ได้เชิญสื่อมวลชนจากทั่วเอเซียเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอคอนเทนต์ใหม่และการพัฒนาขององค์กรที่ทาง Netflix มุ่งพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแบบรายบุคคล หรือ Personalisation เพื่อกุมหัวใจของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง (แถมขโมยเวลานอนพวกเราอีกต่างหาก ฮ่าาา ) โดยแบไต๋ขอสรุปประเด็นสำคัญจากงานดังนี้

เพราะ Disrupt คืองานของเรา

ต้องยอมรับว่ายุคนี้คือยุคของการ Disruption หรือการล้มล้างสิ่งเดิมๆอย่างแท้จริง หากจะว่าถึงจุดกำเนิดของ Netflix แล้วอาจจะต้องนั่งไทม์แมชชีนกลับไปในปี 1997 หรือ พ.ศ. 2540 ในวันที่ผู้ร่วมก่อตั้งอย่าง รีด เฮสติงส์ และมาร์ค แรนดอล์ฟ  สองคู่หูคิดการใหญ่ท้าทายวงการเช่าแผ่นหนังด้วยการเปิดเว็บไซตฺ์ให้เช่าแผ่น DVD ออนไลน์ จนขยับขยายทดลองระบบสตรีมมิงภาพยนตร์ควบคู่การเช่า DVD และขยายขอบเขตข้ามประเทศไปแคนาดาปี 2010 จนอีก 6 ปีต่อมา Netflix มีสมาชิกถึง 190 ประเทศ ให้บริการคอนเทนต์หลากหลายประเภททั้ง ภาพยนตร์ ซีรีส์ และรายการบันเทิงต่างๆ ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความหลากหลายในแต่ละภูมิภาคของโลกด้วยหนัง ซีรีส์ดัง รวมถึงคอนเทนต์ต้นฉบับ นำเทรนด์ผู้นำการผลิตคอนเทนต์ในระบบสตรีมมิ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

ผลิตคอนเทนต์ที่ก้าวข้ามกำแพงภาษาและวัฒนธรรม

และคงไม่เป็นการกล่าวเกินจริง ถ้าจะพูดว่า Netflix ได้ก้าวข้ามข้อจำกัดทางภาษาและวัฒนธรรมอย่างแท้จริงด้วยการสรรหาคอนเทนต์แปลกใหม่จากทั่วทุกมุมโลกทั้งอเมริกา ยุโรป และโดยเฉพาะในเอเซีย ที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายและเฉพาะตัวเป็นอย่างยิ่ง โดยทาง Netflix ได้ตั้งทีมจัดหาคอนเทนต์ทั้ง เอริกา นอร์ธ (Erika North) ผู้จัดหาคอนเทนต์ในประเทศแถบเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่มาพร้อมซีรีส์ของไทย 2 เรื่องและของไต้หวัน 1 เรื่อง ซิมราน เศรษฐี (Simran Sethi) มาพร้อมซีรีส์อินเดียฟอร์มยักษ์นำโดย Baahubali Before The Beginning เพื่อเล่าเรื่องราวปฐมบทของ Baahubali หนังพหุภาคสุดฮิตของอินเดีย คิมมินยอง (Minyong Kim) นำซีรีส์เกาหลีใต้ทั้งฟอร์มยักษ์อย่าง Kingdom ซีรีส์ซอมบี้กับฉากหลังยุคโชซอน หรือซีรีส์โรแมนติกจาก Webtoon อย่าง Love Alarm และเรื่องอื่นๆ มาขโมยเวลานอนของสาวก K-Pop และไทโตะ โอคิอูระ (Taito Okiura) ที่เรียกเสียงกรี๊ดอย่างบ้าคลั่งด้วยอนิเมะซีรีส์ทั้ง Pacific Rim, Altered Carbon และอนิเมะซีรีส์มากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ ‘หลากเรื่องเล่าในโลกหนึ่งใบ ที่ Netflix มุ่งนำเสนอสู่ผู้คนทุกมุมโลก

Disney Plus กำลังมา Netflix พร้อมรบแค่ไหน

หนึ่งในคำถามสุดฮอตที่นักข่าวรุมถาม รีด เฮสติงส์ คือการมาถึงของ Disney Plus บริการสตรีมมิงของบริษัทยักษ์ใหม่ วอลต์ ดิสนีย์ ที่ประกาศตัวเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดสตรีมมิ่งพร้อมให้บริการปีหน้าที่จะทำให้ Netflix มีคู่แข่งที่น่ากลัวเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งราย แต่ทาง รีด เฮสติงส์ ยังคงมั่นใจในศักยภาพของ Netflix และยังคิดบวกว่าดีซะอีก ผู้บริโภคจะได้มีทางเลือกที่หลากหลายและมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะเป็นสมาชิกในหลายผู้ให้บริการระบบสตรีมมิ่ง

มีโอกาสที่ Netflix จะทำหนังฉายโรงไหม

คำถามนี้ทั้ง รีด เฮสติงส์ และ เท็ด ซารานดอส ยืนยันพร้อมกันว่า ตลาดภาพยนตร์สำหรับฉายโรงยังไม่ใช่เป้าหมายทางธุรกิจของ Netflix ในขณะนี้ แต่ เท็ด ซารานดอส ก็ยังให้ความหวังว่าสำหรับหนังบางเรื่องที่เหมาะกับการฉายโรงเช่น ROMA ที่จะมีการเข้าฉายโรงหนัง House RCA พร้อมกับปล่อยสตรีมมิ่งทาง Netflix วันที่ 14 ธันวาคมนี้ ก็น่าจะพอทำให้คอหนังที่อยากดูในโรงได้ชื่นใจขึ้นมาบ้าง แม้ไม่ได้ฉายโรงทุกเรื่องก็ตาม

และสำหรับในส่วนต่อมาที่ถือว่าอยู่ในเรดาร์ความสนใจของพวกเราชาวแบไต๋ที่สุดนั่นคือ การพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ของ Netflix ที่ถือว่าตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง เรามาเจาะลึกกันทีละส่วนว่า Netflix พัฒนาประสบการณ์การรับชมของเราอย่างไร

ไม่ใช่แค่โยนคอนเทนต์ให้ดู แต่ช่วยตัดสินใจ

หนึ่งในคำถามที่ ทอดด์ เยลลิน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสบการณ์ผู้บริโภค คือคำถามว่า เวลาเข้า Netflix ฉันจะดูอะไรดี? นำไปสู่การออกแบบอัลกอริธึ่มแนะนำคอนเทนต์ให้ผู้บริโภคแบบรายบุคคล เช่นถ้าเราดู Black Mirror ทาง Application ของ Netflix ก็จะแนะนำคอนเทนต์ที่ใกล้เคียงกันให้กับผู้บริโภคได้เป็นทางเลือกให้รับชมคอนเทนต์ที่ชื่นชอบ เป็นต้น

ภาษาจะไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการใช้งานแอปอีกต่อไป

ด้วยคำนึงถึงผู้ใช้งานในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ปัจจุบันทาง Netflix ได้แปลเมนู แปลคำบรรยายหรือซับไตเติลและชื่อคอนเทนต์เป็นภาษาต่างๆแล้วถึง 22 ภาษาเพื่อให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษสัมผัสประสบการณ์ที่ Netflix มอบให้ได้อย่างเต็มอรรถรส

เจาะลึกเพื่อนั่งในใจ เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาคอนเทนต์

นอกจากฟีเจอร์เปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นตัวละครต่างๆจากหนัง ซีรีส์ของ Netflix เมื่อกลางปีที่ผ่านมาแล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่าสมาชิกแต่ละคนจะเห็นภาพตัวอย่างหรือภาพปกของหนังไม่เหมือนกัน โดย ทอดด์ เยลลิน กล่าวว่าทาง Netflix ออกแบบภาพปกของคอนเทนต์แต่ละรายการไม่ต่ำกว่า 5 แบบเพื่อทดลองและเก็บสถิติว่า ภาพแบบไหนที่ผู้บริโภคจะคลิกเพื่อรับชมมากที่สุด รวมถึงการเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อหาคอนเทนต์ที่โดนใจ โดยเรียกผู้บริโภคกลุ่มต่างว่า Taste Group หรือกลุ่มที่บอกรสนิยมในแต่ละประเภท เช่นกลุ่มคนดูหนังตลกชอบดูหนัง หรีอ ซีรีส์ตลกที่มีเนื้อหาประมาณไหนเป็นต้น

ปรับ-เปลี่ยน รูปแบบการแสดงผลของแอปพลิเคชันเพื่อตอบสนองผู้บริโภค

ทาง Netflix ได้ปรับรูปแบบการแสดงผลของแอปพลิเคชันให้เหมาะกับอุปกรณ์การรับชมต่างๆทั้ง คอมพิวเตอร์ แท็บเบลต สมาร์ตทีวี โดยเฉพาะ สมาร์ตโฟนที่ทาง Netflix สำรวจแล้วว่า สมาชิกร้อยละ 60 เลือกใช้งานบนมือถือมากที่สุด ดังนั้น Netflix จึงปรับการแสดงผลหลายอย่างทั้ง ตัวอย่างซีรีส์ที่แนะนำเมื่อเราแตะตรงปุ่มชื่อเรื่อง มันจะแสดงตัวอย่างซีรีส์เป็นแบบภาพแนวตั้งเต็มจอทันที หรือแม้กระทั่งการปรับเซ็คชั่นตัวอย่างซีรีส์ที่กำลังจะมาลงสตรีมมิงในแทสค์บาร์ด้านหลัง เพื่อตอบข้อเรียกร้องของผู้บริโภคที่ไม่อยากให้ตัวอย่างซีรีส์ในอนาคตมา  รบกวนการตัดสินใจเลือกชมเป็นต้น

สมาร์ตดาวน์โหลด เจอไวไฟปุ๊บดาวน์โหลดปั๊บ

ฟีเจอร์นี้ให้บริการสำหรับผู้ใช้สมาร์ตโฟนระบบแอนดรอยด์ โดยฟีเจอร์ สมาร์ท ดาวน์โหลด สามารถระบุรายการที่เรากำลังดูอยู่และดาวน์โหลดตอนต่อไปโดยอัตโนมัติไปยังสมาร์ตโฟนของเราผ่านเครือข่าย Wi-Fi หลังจากนั้นจะลบตอนที่รับชมไปแล้วโดยอัตโนมัติเป็นการเพิ่มพื้นที่ว่างสำหรับหน่วยความจำบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เราสามารถเลือกว่าต้องการจะเปิดฟีเจอร์สมาร์ท ดาวน์โหลด หรือไม่ ฟีเจอร์นี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่ต้องการเพลิดเพลินกับการชม Netflix ในที่ที่ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ตลอดจนในที่ที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า

การเข้ารหัส หรือ Encoding ที่พัฒนาเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ดาต้าน้อยลงดูได้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ Netflix ได้ปฏิบัติการแบบ “one-size-fits-all” หรือขนาดเดียวแต่เหมาะสมกับทุกประเภท ในการระบุบิทเรทเพื่อเข้ารหัสรายการและภาพยนตร์ต่างๆ ทำให้ไฟล์มีคุณภาพสูงแต่ใหญ่มาก แต่ต่อมาทาง Netflix ก็ตระหนักว่าเนื้อหาบางอย่างอาจไม่ต้องใช้บิทเรทการเข้ารหัสเดียวกันเพื่อให้ได้ประสบการณ์ในการรับชมที่ดีที่สุด ดังนั้น Netflix จึงเริ่มต้นการเข้ารหัสตามชื่อของแต่ละรายการ ซึ่งการเข้ารหัสแต่ละรายการหรือภาพยนตร์แต่ละเรื่องด้วยบิทเรทที่ต่างกันนี้ช่วยให้สมาชิกสามารถรับชมรายการได้เต็มอรรถรสแต่ก็ประหยัดการใช้ดาต้าไปพร้อมกันด้วย ดังนั้นแม้อยู่ในสภาวะแบนด์วิดธ์ต่ำเนื้อหารายการที่ไม่ได้มีความคมชัดสูง เช่น การ์ตูนเรื่อง Larva หรือ Disenchantment สามารถสตรีมได้ที่ความละเอียดสูงกว่าเมื่อใช้บิทเรทเดียวกัน

นอกจากนี้ที่ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญจนเราหูผึ่งก็คือนวัตกรรมล่าสุดอย่าง การเพิ่มประสิทธิภาพการเข้ารหัสแบบไดนามิก (Dynamic Optimizer Encoding) ซึ่งจะเลือกวิธีการเข้ารหัสที่ดีที่สุดต่อภาพแต่ละช็อต ทำให้ภาพแต่ละช็อตได้รับการเข้ารหัสแบบไดนามิกเพื่อให้ได้คุณภาพดีที่สุด ส่งผลให้เกิดการใช้แบนด์วิดธ์น้อยกว่าร้อยละ 64 เพื่อให้ได้คุณภาพการรับชมที่เหมือนกัน

และหากจะถามว่า ไอ้ภาษาเทคนิคที่พล่ามมาก่อนหน้านี้ส่งผลยังไงกับสมาชิกอย่างเรา ก็เทียบแบบง่ายๆ ว่าก่อนปีพ.ศ. 2558 เราดูคอนเทนต์บน Netflix ได้เพียง 7 ชั่วโมงบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ด้วยดาต้าขนาด 4GB เท่านั้น ต่อมาปีพ.ศ. 2558 ได้มีการเพิ่มขึ้นเป็น 10 ชั่วโมง และตอนนี้ด้วยวิธีการเข้ารหัสต่อช็อตทำให้สมาชิกสามารถเพลิดเพลินไปกับ Netflix ได้ประมาณ 26 ชั่วโมงสำหรับจำนวนดาต้าเท่ากัน ยิ่งไปกว่านั้น ในเร็วๆ นี้ ด้วยมาตรฐานในการบีบอัดข้อมูลแบบ AV1 อาจทำให้รับชมได้ถึง 33 ชั่วโมง!

กล่าวโดยสรุปแล้วงานนี้ Netflix พร้อมประกาศตัวว่าตนเองรับฟังผู้บริโภคเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนอย่างรอบด้านจริงๆ