ภายในงาน AIS Digital Intelligent Nation 2019 ที่จัดไปในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น นอกจากการแสดงวิสัยทัศน์และเนื้อหาต่างๆ ที่น่าสนใจบนเวทีแล้ว ในส่วนของนิทรรศการเทคโนโลยีที่จัดไปควบคู่กันก็น่าสนใจไม่น้อยครับ และมีเนื้อหามากจนเราไม่สามารถเก็บรายละเอียดทั้งหมดจากในงานมาได้ เราจึงขอคัดเนื้อหาในส่วนที่ทีมงานและหนุ่ย พงศ์สุขได้แวะเวียนระหว่างการไลฟ์ในงานมาเล่าให้ฟังนะครับ

ไลฟ์ทัวร์งาน AIS Digital Intelligent Nation 2019

ว่ากันด้วยเทคโนโลยีที่ AIS นำเสนออย่าง NEXT G และ Wifi 6 กันก่อน

ใครที่ใช้ AIS น่าจะรู้จัก NEXT G เครือข่ายมือถือความเร็ว 1 Gbps ที่ใช้วิธีมัดความเร็วระหว่าง Wifi และ 4G เข้าด้วยกันเพื่อให้ใช้งานความเร็ว 1 Gbps ได้กันดี ซึ่งแต่ก่อนนั้นใช้ได้แต่บน Android แต่วันนี้สามารถใช้บน iPhone ได้แล้วนะครับ แค่มีแพ็กเกจที่รองรับ NEXT G และใช้แอป NEXT G เพื่อเปิดใช้งานก็เท่านั้นเอง ง่ายม้าก

และเทคโนโลยีใหม่จริงๆ ที่นำมาแสดงในงานนี้คือ WiFi 6 หรือ WiFi 802.11ax ที่ IEEE ตั้งชื่อเล่นใหม่ให้เข้าใจขึ้นมาก ว่า WiFi 6 จะต้องดีกว่า WiFi 5 (802.11ac) ที่ใช้ปัจจุบัน และต้องดีกว่า WiFi 4 (802.11n) แน่นอน โดยจุดเด่นของ WiFi 6 คือ

  1. เพิ่มความเร็วในการใช้งานสูงสุดจาก 650 Mbps (Wi-Fi 5) ไปเป็น 4.8 Gbps (Wi-Fi 6)
  2. ช่วยบริหารจัดการความถี่ได้ดีขึ้น ทั้งย่าน 2.4 GHz และ 5 GHz สำหรับอุปกรณ์ปัจจุบัน และ IoT
  3. เพิ่มความเสถียรในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น เช่น ในห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา หรือ คอนเสิร์ตฮอลล์
  4. เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ทำให้ประหยัดแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ

ทั้งนี้ AIS ได้ร่วมกับ KT หรือ Korea Telecom เพื่อจัดแสดงความเร็วระดับหลาย Gbps ให้ดูในงานนี้ ซึ่งตอนนี้โชว์ได้แค่ใช้อุปกรณ์ของ KT มาแสดงความเร็ว เพราะอุปกรณ์ในท้องตลาดยังไม่รองรับ WiFi 6 และจะเปิดให้ลูกค้าสัมผัสประสบการณ์ Wi-Fi 6 ที่ AIS DC ภายในปี 2019 โดยอุปกรณ์ทั่วไปในท้องตลาดจะเริ่มรองรับมาตรฐาน Wi-Fi 6 ในปี 2020 ซึ่งในปีนี้ชิปที่รองรับคือ Snapdragon 855 ก็ต้องรออีกสักปี มือถือก็น่าจะรองรับ WiFi 6 กันถ้วนทั่วครับ

สารพันหุ่นยนต์ในงาน AIS Digital Intelligent Nation 2019

Robot Mini Cargo

ในงานนี้มีหุ่นยนต์มาโชว์เยอะมากครับ เริ่มตั้งแต่ Robot Mini Cargo หุ่นยนต์ช่วยเดินเอกสารที่ทำงานผ่านระบบ 5G ช่วยให้การเดินเอกสาร, ส่งของต่างๆ ในอาคารง่ายขึ้น โดยสามารถเดินไปยังเป้าหมายที่ระบุพร้อมสามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้โดยอัตโนมัติ เมื่อทำงานเสร็จก็เคลื่อนที่กลับมาตำแหน่งชาร์จพลังงานเองได้ โดยจะมีการทดลองใช้หุ่นยนต์ Mini Cargo ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Lisa หุ่นยนต์ไกด์พาชมสถานที่ ที่นำทางไปยังพิกัดต่างๆ ได้ พร้อมความสามารถจดจำใบหน้า ซึ่งในงานนี้ AIS ได้พัฒนาให้หุ่นยนต์ Lisa ทำหน้าที่เสมือนไกด์พาผู้เข้าชมงานเดินเยี่ยมชมบูธ โดยผู้เข้าชมงานสามารถกดเลือกบูธที่สนใจ จาก Directory ที่จัดแสดงบนหน้าจอหุ่นยนต์ได้

หุ่น Alex และ วี-วิโอเล็ต

Alex หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ สามารถจดจำใบหน้า โต้ตอบ สนทนากับลูกค้า พร้อมให้ข้อมูลสินค้าและบริการกับลูกค้าได้ ซึ่งในปัจจุบัน หุ่นยนต์ Alex ได้เข้ามาทำงานร่วมกับพนักงานใน AIS SHOP ในสาขาต่างๆ แล้ว

Lisa และ Huco

Huco หุ่นยนต์แขนกล เพื่อโชว์ความสามารถในการทำงานร่วมกับหุ่น Alex เมื่อ Alex ได้รับคำสั่งจากลูกค้า Huco ก็สามารถตัก Popcorn มาเสิร์ฟได้ โดย Huco เป็นหุนยนต์แบบ Cobot (collaborative Robot) ถูกพัฒนาให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัว มีความสามารถในการรับรู้ สามารถหยิบจับสิ่งของหรือชิ้นงานได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวมถึงถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับมนุษย์ได้ โดยเน้นถึงความปลอดภัยในการทำงานร่วมกัน

IRB-120 หุ่นอุตสาหกรรม

IRB-120 หุ่นอุตสาหกรรม เพื่อโชว์สามารถของหุ่นยนต์แขนกลที่สามารถควบคุมการทำงานระยะไกลผ่านเครือข่าย เพื่อช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง โดยในครั้งนี้เป็นการสาธิตผ่านการเล่นเกมหยิบกล่องนำโชค โดยผู้เล่นจะสวมแว่น VR และใช้แป้นควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์เพื่อหยิบกล่องนำโชคลุ้นรับของรางวัล

หุ่นยนต์กายภาพอัจฉริยะ

หุ่นยนต์กายภาพอัจฉริยะ เป็นโครงการที่ AIS ร่วมพัฒนากับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยทำกายภาพฟื้นฟูบริเวณกล้ามเนื้อในจุดที่อ่อนแรงให้กับผู้ป่วยอัมพฤกษ์ และอัมพาต จุดเด่นของหุ่นยนต์ตัวนี้คือมีเกมที่ช่วยดึงดูดการออกกำลัง ซึ่งทักษะการใช้งานจะแปรผันตามจำนวนครั้งที่ฝึกพร้อมจัดเก็บข้อมูลไว้บนระบบ Cloud ทำให้แพทย์สามารถดึงข้อมูลการทำกายภาพของคนไข้มาวินิจฉัยได้แบบ Real Time เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตจะเข้ามาทดแทนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ตอนนี้หุ่นยนต์นี้มีใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

รถยนต์ไร้คนขับควบคุมผ่าน 5G

รถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) โครงการพัฒนาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (PSU) และเอไอเอส โดยรถยนต์สามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้อย่างแม่นยำและปลอดภัยผ่านการใช้งานบนระบบโครงข่ายของเอไอเอส ซึ่งรถยนต์ไร้คนขับของ PSU x AIS ตอนนี้มีสามารถ

  • เคลื่อนที่
  • สื่อสารกับ Smart pole
  • หยุดเมื่อเจอสิ่งกีดขวาง
  • พาตัวเองไปชาร์จพลังงานไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง

ซึ่งรถยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเองก็เป็นเทรนด์สำคัญในอนาคตที่น่าจะแพร่หลายในอีกไม่นาน และเป็นประโยชน์สำคัญของ 5G ที่ความเร็วสูงและมีความหน่วงต่ำ (Low Latency)

เล่นรถ Kart ของจริงแต่อยู่ในโลก VR! (Cloud VR Go Kart)

หนึ่งในโชว์ที่สนุกที่สุดของงาน AIS Digital Intelligent Nation 2019 คือการยกเอาสนาม Go Kart ของจริงแต่เล่นแบบ VR คือคนขับจะครอบแว่นไว้ตลอด เพื่อเล่นในโลกเสมือน MX (Mixed Virtual Reality) ถือเป็นการแสดงศักยภาพของ 5G ที่ผู้ใช้งานได้ประสบการณ์การขับรถ Go Kart บนโลกเสมือนจริงสามารถจัดแสดงขึ้นจอแสดงผลอย่าง Real Time โดยไม่จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อกับสายเคเบิลใดๆ เนื่องจากศักยภาพของ 5G บนพื้นที่ Cloud ทำให้เล่นเกมสนุกตื่นเต้นมากยิ่งขึ้น

โซลูชั่นสนามบินยุคใหม่ เริ่มใช้ที่สนามบินอู่ตะเภาแล้ว

AIS มีส่วนพัฒนาธุรกิจและซอฟต์แวร์ด้วยนะครับ ซึ่งผลงานการพัฒนาของ AIS คือระบบ VDO Analysis Solution ที่สามารถตรวจสอบใบหน้าบุคคล (Facial Recognition) จากได้วิดีโอของกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ทั่วสนามบิน และแจ้งเตือนทันทีเมื่อตรวจพบบุคคลต้องสงสัย และระบบ Unattended Object Detection ตรวจสอบวัตถุต่างๆ ในสนามบินและแจ้งเตือนเมื่อพบสิ่งผิดปกติ เช่นเมื่อตรวจพบกระเป๋าที่ตั้งไว้ในสนามบินสักพักหนึ่ง ก็จะแจ้งเตือนเข้ามา

นอกจากนี้ยังมี Utapao Mobile App แอปพลิเคชันสำหรับผู้เดินทางผ่านสนามบินอู่ตะเภา โดยจะแสดงข้อมูลด้านการบินและสนามบิน เช่น Flight Info เมนูแสดงข้อมูลตารางการบินทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและเที่ยวบินต่างประเทศ, My Flight เมนูที่แสดงข้อมูลการบินของผู้โดยสาร พร้อมแสดงการแจ้งเตือนเวลาที่เหลือก่อน Boarding และจะเปลี่ยนสีที่แสดงในกรณี Final Call พร้อมสามารถเชื่อมต่อ Wifi ฟรีที่สนามบินได้ด้วย

นวัตกรรม IoT เพิ่มสุขภาพที่ดี

เมื่ออุปกรณ์ IoT เข้าสู่ชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น ก็เริ่มมีการใช้ประโยชน์เพื่อสุขภาพมากขึ้น สมิติเวชจึงสร้างแพลตฟอร์ม Vital Sign โดยร่วมพัฒนากับ AIS เพื่อทำให้ข้อมูลสุขภาพระหว่างผู้ป่วยกับคุณหมอเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น โดยมีแอปแยกระหว่างผู้ป่วยกับคุณหมอ ซึ่งมีนวัตกรรมทางการแพทย์หลายอย่างในงานนี้

  • Vital Sign อุปกรณ์ที่ช่วยตรวจสอบค่าต่างๆ ทางการแพทย์ได้จากที่บ้าน และส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตวจสอบได้ตลอดเวลา เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ค่าความดัน ค่าน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
  • Fall Detection นวัตกรรมการตรวจจับการล้มด้วยกล้องและระบบอัจฉริยะ ที่มาพร้อมด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแลได้แบบเรียลไทม์

Fall Detection

  • Samitivej Mobile Health เปลี่ยนบริการด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมผ่านมือถือ ตอบโจทย์ผู้รับบริการทั้งผู้ป่วยและญาติ เช่น แอปพลิเคชัน Samitivej Plus, OR Tracking System (Samitivej PACE) ระบบติดตามสถานะการผ่าตัดผ่านโทรศัพท์มือถือ, IPD Tracking System รู้ขั้นตอนการรักษาและวางแผนการรับบริการผู้ป่วยในแบบ on demand และ Line@samitivej ที่มี Chat Bot คอยตอบคำถามสุขภาพ
  • Smart Pharmacy นวัตกรรมของการรับ-จ่ายยาผ่านตู้จ่ายยาอัจฉริยะ ซึ่งสามารถระบุตัวตนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว แม่นยำ และปลอดภัย พร้อมระบบแนะนำการใช้ยาโดยเภสัชกรวิชาชีพแบบออนไลน์

Smart Pharmacy

สารพัดแพ็กเกจอินเทอร์เน็ตสำหรับคอเกม

AIS Fibre ก็ออกแพ็กเกจพิเศษเพื่อเกมเมอร์โดยเฉพาะ เพราะเกมเมอร์โดยเฉพาะกลุ่มที่เล่นเกมและแคสไปด้วยนั้นต้องการอินเทอร์เน็ตที่เร็วแรงกว่าปกติ ซึ่งฝั่งอัปโหลดก็ต้องตามให้ทัน โดยมีการแยกท่อพิเศษสำหรับการเล่นเกมออกจากการใช้งานทั่วไป ทำให้ได้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเพื่องานเกมที่เสถียรขึ้น ซึ่งจะเปิดตัวแพ็กเกจเร็วๆ นี้ให้สมัครกัน

ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ เอไอเอส

ในส่วนของอินเทอร์เน็ตมือถือ ก็มีการปรับ AIS ZEED ซิมมือถือพร้อมแพ็กเกจที่เน้นไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นให้เข้าถึงประสบการณ์ด้าน E-Sports สะดวกสบายมากขึ้น ที่จะพร้อมให้เล่นเกมได้ไม่อั้น ไม่เสียค่าเน็ต รวมถึงมอบความบันเทิงต่างๆ ให้วัยรุ่นได้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนัง ฟังเพลง และเล่นโซเชียลฟรีไม่เสียค่าเน็ตอีกด้วย

และในงาน AIS ยังนำมือถือที่รองรับการเล่นเกมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพบนเครือข่ายที่ดีที่สุด เอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะ AIS เท่านั้น อย่าง ASUS ROG PHONE และ Razer Phone 2 มาจัดแสดงให้ได้ทดลองกันอีกด้วย

เบญจพร กำเพ็ชร หัวหน้าส่วนการตลาดกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS