DXOMARK บริษัททดสอบประสิทธิภาพกล้องสมาร์ตโฟนที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ซึ่งหลัง ๆ ประสบปัญหาบริษัทสมาร์ตโฟนไม่ยอมส่งมือถือมาให้เทสต์ รวมถึงปัญหาความเชื่อมั่นในตัวคะแนนที่ออกมา ได้อัปเดตโปรโตคอลใหม่สำหรับการทดสอบกล้องสมาร์ตโฟนเพื่อให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีสมาร์ตโฟนที่ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้มั่นใจว่าการทดสอบนั้นสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ในปัจจุบัน

การอัปเดตใหม่นี้เป็นการนำองค์ประกอบใหม่ทั้งหมดมาใส่ในการโปรโตคอลทุกอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นไปที่กล้องและเสียง โดยเป็นการใส่ตัววัดใหม่เพื่อให้เท่าทันต่อเทคโนโลยีและการใช้งานของทั้ง 2 ด้าน และอาจส่งผลต่อคะแนนทดสอบโดยรวมของสมาร์ตโฟนบางรุ่นด้วย

การทดสอบกล้องเวอร์ชัน 5

DXOMARK ได้ใช้การให้คะแนนแบบใหม่ในส่วนนี้ เพื่อให้การประเมินมีความเป็นกลาง และช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสมาร์ตโฟนโดยอ้างอิงจากการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งในการถ่ายภาพ, บันทึกวิดีโอ, เอฟเฟกต์ Bokeh และแสดงตัวอย่างภาพ

การทดสอบโดยใช้สถานการณ์ต่าง ๆ

เป็นการทดสอบการใช้งานทั่วไป เพื่อดูรายละเอียดและคุณภาพการถ่ายและบันทึกวิดีโอให้มีความเป็นธรรมชาติอย่างที่นักถ่ายภาพต้องการ มีการทดสอบความเป็นมิตรและคุ้นชินกับผู้ใช้เพิ่มเข้ามา รวมถึงการทดสอบในที่แสงน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้ายทายมาก ๆ แม้แต่กับสมาร์ตโฟนระดับพรีเมียมมาก ๆ ก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีการทดสอบทั้งในร่มและกลางแจ้ง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างกล้องสมาร์ตโฟนรุ่นต่างๆ ให้เห็นกันได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

DxOMark

โปรโตคอลและส่วนเสริมใหม่

  • คะแนนการซูมและส่วนเสริมสำหรับกล้อง Ultra-Wide และ Tele : เป็นสร้างความแตกต่างระหว่างสมาร์ตโฟนระดับพรีเมียม และพรีเมียมที่สุด (ราคา 600 เหรียญ หรือ 22,700 บาทขึ้นไป) โดยโปรโตคอลใหม่นี้จะเน้นไปที่การซูมด้วยกล้อง Tele และ Ultra-Wide ด้วย ซึ่งเป็นการประเมินเชิงลึกในชีวิตจริงมากกว่า 35 รูปแบบ รวมไปถึงภาพภูมิทัศน์, ภาพเมือง, ภาพสถาปัตยกรรม, ภาพการออกแบบตกแต่งภายใน, ภาพบุคคล และภาพนิ่ง เสริมด้วยการซูมบนวิดีโอ, การซูมในสภาวะแสงน้อย, ปุ่มซูมบนหน้าจอ, การจับวัตถุเป้าหมาย, การใช้ AI และความลื่นไหลในการเปลี่ยนระยะการซูม
  • โคลสอัพ หรือการถ่ายภาพ Macro : เป็นคะแนนเสริมให้แก่การทดสอบการถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี ทั้งในด้านสแกนเอกสารทางการ เช่น หนังสือเดินทาง หรือบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น ทั้งการถ่ายภาพแบบเต็มและถ่ายภาพระยะใกล้มาก เพื่อดูว่าเก็บรายละเอียดได้มากเพียงไร
  • การวัดคุณภาพในแบบ HDR และการจับภาพวัตถุที่เคลื่อนไหว : ทั้งการถ่ายภาพบุคคลแบบ HDR เพื่อประเมินการเก็บรายละเอียดพื้นผิวบุคคลในสภาวะแสงต่าง ๆ และเพิ่มการทดสอบการจับภาพในขณะเคลื่อนไหว ในสภาวะแสงต่าง ๆ ถึง 24 แบบ

ผลลัพธ์ของการอัปเดตการทดสอบกล้องเวอร์ชัน 5

โปรโตคอลการทดสอบใหม่ที่เสริมเข้ามานี้ทำให้คะแนนการทดสอบกล้องสมาร์ตโฟนบางรุ่นในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และที่มีคะแนนไต่อันดับขึ้นมาอย่างชัดเจนคือ Apple iPhone 13 Pro Max และ Samsung Galaxy S22 Ultra (รุ่นชิป Snapdragon)

DxOMark

Apple iPhone 13 Pro Max : ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 3 ของโลก

  • ได้คะแนนจากการโคลสอัปเพิ่มขึ้น ซึ่ง iPhone นั้นเป็นหนึ่งสมาร์ตโฟนที่ถ่ายภาพโคลสอัปได้ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ DXOMARK เคยทดสอบมา ภาพที่ได้มีสมดุลและเก็บรายละเอียดได้ดีมาก
  • iPhone 13 Pro Max ได้รับคะแนนในส่วนของความเป็นมิตรและคุ้นเคยกับผู้ใช้เป็นอย่างมาก ส่งผลทำให้ผู้ใช้ถ่ายภาพได้ดียิ่งขึ้น
  • แต่การถ่ายภาพในที่แสงน้อยยังคงเป็นจุดด้อยที่ทำให้ iPhone 13 Pro Max ยังไม่สามารถขึ้นระดับสูงสุดในการทดสอบของ DXOMARK ได้

Samsung Galaxy S22 Ultra (รุ่นชิป Snapdragon) ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 8 ของโลก

  • Samsung Galaxy S22 Ultra สามารถคะแนนจากการถ่ายภาพโคลสอัปได้ดีพอ ๆ กับ iPhone 13 Pro Max แต่เก็บรายละเอียดได้น้อยกว่า
  • การซูมในสภาวะแสงน้อยเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ Samsung รวมถึงในกล้อง Ultra-Wide และ Tele ของ Samsung Galaxy S22 Ultra ด้วย ซึ่งทำให้ได้คะแนนพิเศษในส่วนนี้เพิ่มไป

อื่น ๆ

คุณภาพของภาพที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงภายหลังจาก DXOMARK อัปเดตระบบการการทดสอบกล้องเวอร์ชัน 5 แล้ว ได้แก่

  • คอนทราสต์ : โดยเฉพาะการถ่ายภาพบุคคลและภาพย้อนแสง ซึ่งการวัดค่าใหม่นี้เป็นไปตามความคิดเห็นของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น Xiaomi Mi11 Ultra, Mi12S Ultra หรือ Huawei P50 Pro เป็นต้น ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการเรนเดอร์คอนทราสต์ในระดับต่ำ
  • การเคลื่อนไหวในฉาก : การอัปเดตใหม่นี้แสดงให้เห็นว่าสมาร์ตโฟนหลายรุ่นสามารถเก็บรายละเอียดวัตถุที่กำลังเคลื่อนไหวได้ดีกว่าเดิม เช่น Honor Magic4 Ultimate, Huawei P50 Pro หรือ iPhone 13 Pro Max เป็นต้น
  • สภาวะแสงน้อยและกลางคืน : ได้มีการอัปเดตการวัดค่าซึ่งแสดงให้เห็นว่าสมาร์ตโฟนบางรุ่นสามารถจัดการ Exposure ของภาพในสภาวะแสงน้อยได้ไม่ดีนัก ยกตัวอย่างเช่น Huawei P50 Pro, Xiaomi 12S Ultra และ iPhone 13 Pro Max เป็นต้น ที่ต้องเสียคะแนนในส่วนนี้ไป
DxOMark

การทดสอบเสียงเวอร์ชัน 2

การทดสอบและวัดค่า

โครงสร้างคะแนนของ DXOMARK Audio นั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเสริมคะแนนในส่วนของ Playback และ Recording พร้อมเสริมคะแนนจากอีก 2 ตัวทดสอบใหม่ คือ Wind Noise และ Audio Zoom เพื่อเป็นการวัดคุณภาพและศักยภาพด้านฟีเจอร์เสียงของสมาร์ตโฟนดังกล่าวว่ามีความล้ำหน้ามากเพียงไร

  • Wind Noise หรือเสียงลม : เป็นสิ่งที่สามารถทำลายความสมบูรณ์แบบของการบันทึกวิดีโอได้เป็นอย่างดี และเป็นปัญหาหลักของการบันทึกเสียงบนสมาร์ตโฟนมาโดยตลอด ซึ่งทาง DXOMARK ได้เพิ่มการวัดค่าผลกระทบจากเสียงลมในหลาย ๆ แง่มุมและสถานการณ์
  • Audio Zoom : เป็นฟีเจอร์เสียงบนสมาร์ตโฟนที่ได้รับความนิยมมาก ซึ่งช่วยให้สามารถบันทึกเสียงที่มาจากทิศทางใดทิศทางหนึ่งได้อย่างชัดเจน พร้อมลดเสียงจากทิศทางอื่นลงไปด้วย
  • การปรับแต่งแทร็กเสียงสำหรับสำหรับการประเมินที่แม่นยำ : เป็นการใช้อุปกรณ์เสียงทดสอบฟังเสียงที่มีความจำเพาะเจาะจง ซึ่งชุดเพลงที่ได้รับการปรับแต่งเหล่านี้จะช่วยในการขับเน้นคุณลักษณะของเสียง เช่น ไดนามิก, การบิดเบือน, ความสมดุลของโทนเสียง และความกว้างของเสียง เป็นต้น เมื่อเล่นบนลำโพงหรือหูฟัง
DxOMark

ผลลัพธ์จากการอัปเดตการทดสอบเสียงเวอร์ชัน 2

เช่นเดียวกับโปรโตคอลอื่น ๆ คือ สูตรคำนวณคะแนนด้านเสียงที่ได้รับการอัปเดตใหม่นี้ได้ส่งผลดีต่อสมาร์ตโฟนหลายรุ่น ทำให้ทราบว่าสมาร์ตโฟนเหล่านั้นมีศักยภาพและสมดุลด้านเสียงที่ชัดเจนมากขึ้น

แต่ถึงกระนั้น Black Shark 5 Pro ก็ยังคงครองแชมป์ในส่วนนี้ ในขณะที่สมาร์ตโฟนแบรนด์ ASUS และ Google ก็ได้คะแนนมากขึ้น รวมถึง iPhone 13 Pro Max ที่สามารถคะแนน Audio Zoom เพิมขึ้นมาได้อย่างยอดเยี่ยม ส่วน Samsung Galaxy S22 Ultra ก็มีศักยภาพในการลดเสียงลมได้อย่างยอดเยี่ยม และได้คะแนนกับอันดับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

DxOMark

นอกเหนือจากการอัปเดตการวัคคุณภาพด้านกล้องและเสียงใหม่แล้วนั้น DXOMARK ยังได้อัปเดตโปรโตคอลอีกหลายตัวซึ่งส่งผลกระทบต่อสมาร์ตโฟนหลายรุ่นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเซลฟี, หน้าจอ และแบตเตอรี่ โดยทาง DXOMARK จะยังคงพัฒนาเทคโนโลยีการทดสอบสมาร์ตโฟนในด้านต่าง ๆ ต่อไป

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส