Interlune บริษัทด้านทรัพยากรอวกาศสหรัฐฯ ร่วมมือกับ Vermeer ผู้ผลิตอุปกรณ์อุตสาหกรรม เปิดตัวต้นแบบเครื่องขุดเท่าขนาดจริง ซึ่งจะนำส่งไปบนดวงจันทร์เพื่อดูดดินขึ้นมา 100 เมตริกตันภายใน 1 ชั่วโมง แล้วสกัดออกมาเป็นฮีเลียม-3 และคายดินที่เหลือจากการสกัดกลับสู่พื้นผิวของดวงจันทร์ โดยไม่ทำลายสภาพแวดล้อมให้เสียหาย รวมทั้งได้ทำข้อตกลงในการจัดหาฮีเลียม-3 บนดวงจันทร์ให้กับกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ และ Maybell Quantum Industries ภายในปี 2029
ฮีเลียม (Helium) คือธาตุที่มีไอโซโทปหลัก 2 แบบด้วยกัน คือ ฮีเลียม-3 และ ฮีเลียม-4 ซึ่งฮีเลียม-3 จะหายากกว่าฮีเลียม-4 และมีน้อยมากบนโลกประมาณ 0.000137% ของฮีเลียมทั้งหมด ถูกใช้ในงานสำคัญ เช่น การคำนวณแบบควอนตัม การถ่ายภาพด้วยรังสีทางการแพทย์ พลังงานฟิวชันนิวเคลียร์ การตรวจจับอาวุธในด้านความมั่นคง และการวิเคราะห์อายุวัตถุโบราณ
เนื่องจากฮีเลียม-3 พบได้มากบนดวงจันทร์ Interlune จึงมีแผนที่จะขุดและสกัดฮีเลียม-3 บนดวงจันทร์แล้วส่งกลับมาขายบนโลก ซึ่งมีแนวคิดคล้ายกับเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ Moon (2009) ที่นักบินอวกาศคนหนึ่งดูแลการขุดฮีเลียม-3 บนดวงจันทร์ เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานสะอาดสำหรับโลก ส่วนในโลกแห่งความเป็นจริงมี Interlune เป็นบริษัทแรกที่จะสกัดฮีเลียม-3 บนดวงจันทร์ส่งกลับมาขายยังโลก
Interlune ได้ร่วมมือกับ Vermeer เพื่อทดสอบต้นแบบรถขุด และได้ตกลงช่วยจัดหาฮีเลียม-3 หลายพันลิตรให้กับ Maybell Quantum ซึ่งจะส่งมอบตั้งแต่ปี 2029 – 2035 เพื่อใช้ทำความเย็นให้กับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ควอนตัม และมีแผนส่งมอบฮีเลียม-3 จำนวน 3 ลิตร ให้กับกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ภายในเดือนเมษายน 2029 โดยจะขายในราคากิโลกรัมละ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (660 ล้านบาท) ซึ่งแพงกว่าราคาในปีที่แล้วขายกันอยู่ที่ลิตรละ 2,500 เหรียญสหรัฐฯ (82,553 บาท) และเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ สั่งซื้อทรัพยากรธรรมชาติจากนอกโลก หลังจากปีที่แล้ว กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้มอบเงินสนับสนุนให้ Interlune เพื่อศึกษาวิธีใช้อุณหภูมิต่ำแยกฮีเลียม-3
Interlune ได้กำหนดแผนในการทดสอบฮาร์ดแวร์ไว้ 3 ภารกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ เริ่มต้นด้วยภารกิจแรก Crescent Moon ด้วยการส่งกล้องไฮเปอร์สเปกตรัลไปยังดวงจันทร์ (สามารถใช้ถ่ายภาพและวิเคราะห์แร่ธาตุ) ซึ่งจะติดตั้งไว้บนยานของภารกิจอื่น (ไม่ใช่ยานของตัวเอง) ที่อยู่ตรงขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุน, ภารกิจที่ 2 Prospect Moon ส่งยานลงจอดไปยังพื้นที่ที่มีฮีเลียม-3 มากที่สุด และภารกิจที่ 3 Harvest Moon ทดสอบกระบวนการสกัดฮีเลียม-3 และส่งกลับมายังโลก ซึ่งอาจจะส่งมอบให้กับกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ