สัปดาห์ที่ผ่านมา CASC บริษัทขนส่งอวกาศของรัฐบาลจีนได้ปล่อยภารกิจการส่งดาวเทียม 12 ดวง ซึ่งเป็นดาวเทียมชุดแรกของเครือข่ายดาวเทียมซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในอวกาศของจีน จากดาวเทียมทั้งหมดที่วางแผนไว้ 2,800 ดวง ออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียน ที่ขับดันด้วยจรวด Long March 2D ไปสู่วงโคจรได้สำเร็จ
ดาวเทียวเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดย ADA Space, Zhijiang Laboratory และ Neijang High-Tech Zone เพื่อประมวลผลข้อมูลด้วยเอไอจากอวกาศได้เลย เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลสภาพอากาศ หรือการจัดการภัยภิบัติ โดยไม่ต้องส่งลงมาประมวลผลบนสถานีภาคพื้นดินให้เสียเวลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวเทียม Three-Body Computing Constellation ในโครงการ Star Compute ของ ADA Space
ดาวเทียมทั้งหมด 12 ดวง มาพร้อมด้วยโมเดลเอไอที่มี 8 พันล้านพารามิเตอร์ และสามารถประมวลผลได้ถึง 5 POPS หรือ 744 TOPS นอกจากนี้ดาวเทียมแต่ละตัวสามารถสื่อสารถึงกันด้วยความเร็วสูงสุด 100Gbps โดยใช้เลเซอร์ มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลบนดาวเทียม 30 เทราไบต์ และใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์จึงไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ดาวเทียมทั้ง 12 ดวง ได้ถูกส่งไปยังอวกาศพร้อมด้วยอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ เครื่องตรวจจับโพลาไรเซชันรังสีเอกซ์สำหรับใช้ตรวจจับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจักรวาล เช่น การระเบิดของรังสีแกมมา นอกจากนี้ยังสามารถสร้างแบบจำลองสถานที่ 3 มิติ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น การรับมือกับเหตุฉุกเฉิน เกม และท่องเที่ยว
การรวบรวมข้อมูลในอวกาศแล้วประมวลผลในอวกาศซะเลย จะช่วยประหยัดเวลาได้มาก นอกจากนี้ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในอวกาศด้วยเครือข่ายดาวเทียม 2,800 ดวง ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ จะสามารถประมวลผลรวมได้สูงสุด 1,000 POPS ซึ่งมีความสามารถเหนือกว่าซูเปอร์คอมพิวเตอร์ El Capitan ของสหรัฐฯ ที่สามารถประมวลผลได้ 1.72 POP สรุปง่าย ๆ ว่าเหนือกว่าถึง 600 เท่า
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และยุโรปก็ได้เคยทดสอบ Edge computing ในอวกาศ และมีการศึกษาเกี่ยวกับดาตาเซนเตอร์บนวงโคจร เพื่อลดปัญหาคอขวดในการส่งข้อมูลจากอวกาศลงมาประมวลผลบนโลก แต่อย่างไรก็ตาม จีนเป็นรายแรกที่นำเครือข่ายดาวเทียมเอไอมาสร้างเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในอวกาศ