ปัจจุบัน เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ อุปกรณ์แบบแข็ง (Rigid devices) ที่เน้นความแรงและความทนทานแต่ไม่ยืดหยุ่น อย่างสมาร์ตโฟนหรือโน้ตบุ๊ก และอุปกรณ์แบบอ่อนนุ่ม (Soft devices) ที่เน้นความสบายในการสวมใส่เหมือนอย่างสมาร์ตวอตช์
แต่ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากเกาหลีใต้ได้คิดค้น “หมึกอิเล็กทรอนิกส์” ที่สามารถเปลี่ยนสถานะจากแข็งเป็นอ่อนได้เมื่อได้รับความร้อน เทคโนโลยีนี้อาจนำไปสู่การสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบยืดหยุ่นรุ่นใหม่ อย่างแกดเจ็ต รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ฝังในร่างกายและหุ่นยนต์ที่ปรับเปลี่ยนรูปทรงได้

นวัตกรรมหมึกอิเล็กทรอนิกส์นี้ สร้างขึ้นจากการผสมโลหะแกลเลียม (Gallium) ที่หลอมเหลวได้ในอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกายเล็กน้อย (37 องศาเซลเซียส) เข้ากับตัวทำละลาย และโพลิเมอร์ (Polymer) ทำให้ได้หมึกที่นำไฟฟ้า สามารถพิมพ์เป็นวงจรอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ หากได้รับความร้อนก็จะสามารถปรับเปลี่ยนความแข็งได้
หมึกนี้สามารถใช้กับการพิมพ์ที่ละเอียดถึง 50 ไมโครเมตร (0.005 เซนติเมตร) ซึ่งบางกว่าเส้นผมมนุษย์อีก และสามารถสลับความแข็งแบบพลาสติกกับความนุ่มแบบยางได้ตามต้องการ เมื่อถูกความร้อนจะยืดหยุ่นได้มากกว่า 1,400 เท่า
ทางทีมนักวิจัยได้เผยให้เห็นความสามารถของหมึกตัวนี้ด้วยการสร้างอุปกรณ์สุขภาพแบบสวมใส่ได้และอุปกรณ์ฝังสมองแบบยืดหยุ่น ปรับเข้ากับเทคนิคการผลิตทั่วไป เช่น การพิมพ์สกรีนและการเคลือบแบบจุ่ม เพื่อการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่หรือการพิมพ์ 3 มิติในอนาคต