TikTok เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลสำหรับลงคลิปสั้นที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วมาก จนทำให้บริษัทอื่น ๆ อย่าง Facebook หรือ YouTube ยังต้องลอกรูปแบบการนำเสนอคอนเทนต์ไปใช้งานบนแพลตฟอร์มของตัวเอง แต่นับตั้งแต่สหรัฐฯ เริ่มตั้งข้อสงสัยว่า TikTok อาจไม่ปลอดภัยอย่างที่คิดก็ทำให้ปัญหาความเชื่อใจนั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศเช่นเดียวกัน

หน่วยงานของจังหวัดไซตามะในประเทศญี่ปุ่นได้สร้างบัญชี TikTok ขึ้นมาเพื่อโปรโมตจังหวัด ดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมถึงปรับปรุงภาพลักษณ์ของตัวจังหวัดใหม่ ซึ่งการประชาสัมพันธ์ผ่าน TikTok นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจังหวัดไซตามะและแพลตฟอร์ม TikTok แน่นแฟ้นขึ้น โดยในเดือนมิถุนายนเจ้าหน้าที่ของจังหวัดไซตามะได้ลงนามร่วมมือกับทาง ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เคลื่อนไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น

แต่มันก็เป็นเรื่องก่อนที่สหรัฐฯ จะตั้งข้อกล่าวหาว่า TikTok เป็นภัยต่อความมั่นคง หลังจากนั้นประชาชนชาวไซตามะก็เริ่มเกิดความกังวลว่าข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองจะตกไปอยู่ในมือของรัฐบาลจีน ผลที่ตามมาคือในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมความกังวลในเรื่องความปลอดภัยของตัวแอปนั้นทำให้ต้องยุติการแคมเปญระหว่างไซตามะและ TikTok ลง รวมถึงวิดีโอที่เคยอัปโหลดทั้งหมดจะถูกลบออกไป

“เราไม่สามารถดำเนินการต่อได้หากพลเมืองของเรามีความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัว”

เจ้าหน้าที่จังหวัดไซตามะ

ไม่ใช่เพียงจังหวัดไซตามะเท่านั้นที่หยุดแคมเปญดังกล่าว จังหวัดโอซาก้าและคานากาวะและเมืองโกเบทางตะวันตกของญี่ปุ่นก็ได้หยุดการใช้งาน TikTok เช่นเดียวกัน นอกจากนี้พรรคเสรีประชาธิปไตยก็ระบุว่ามีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย TikTok ทำให้รัฐบาลต้องจำกัดการใช้งาน มิชิอากิ ทานากะศาสตราจารย์จาก Rikkyo University Graduate School of Business แห่งโตเกียวกล่าวว่า “ปฏิกิริยาของชาติต่าง ๆ ในเอเชียที่มีต่อ TikTok นั้นเป็นการสะท้อนทัศนคติทางการเมืองที่มีต่อจีน”

ตัวอย่างเช่นรัฐบาลของอินเดียได้แบน TikTok และแอปอื่น ๆ ของจีนอีกนับร้อยในเดือนมิถุนายนเนื่องจากข้อพิพาทด้านพรมแดนระหว่างจีนและอินเดียได้ลุกลามขึ้น ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ มักเลือกที่จะทำตามสหรัฐฯ ในสถานการณ์​ ณ​ ปัจจุบันที่เกิดขึ้นกับจีนด้วยเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นกับจีนจะระมัดระวังในตัว TikTok มากยิ่งขึ้น แต่หลายประเทศในเอเชียก็ยังไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาอะไรมาก

ในฟิลิปปินส์ โฆษกของประธานาธิบดี Harry Roque กล่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่าประเทศจะไม่แบน TikTok เนื่องจากรัฐบาลพบว่า “ไม่มีเหตุผล” ในแบนแอป หรือแม้แต่สิงคโปร์ก็มองว่าตัวแอป TikTok ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรให้ต้องกังวล โดยสภาเยาวชนแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของเยาวชนสิงคโปร์ร่วมมือกับ TikTok ในการสนับสนุนเยาวชนให้แสดงความสามารถของตนบนแพลตฟอร์มของจีนอย่าง TikTok ด้วย

ยอดดาวน์โหลดแอป TikTok

อันที่จริงก็มีผู้คนที่ต่อต้าน TikTok อย่างชาวเน็ตที่ชื่อว่า Liu Yang Feng ได้ล่ารายชื่อบนเว็บไซต์ Change.org ว่า “พรรคคอมมิวนิสต์จีนอยู่เบื้องหลัง ByteDance หรือเจ้าของ TikTok แถม TikTok เองนำเสนอภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่กว่า Huawei เสียอีก” แต่การล่ารายชื่อครั้งนี้มีคนที่เห็นด้วยเพียง 19 คนเท่านั้น ด้านไต้หวันก็ออกคำสั่งห้ามไม่ให้หน่วยงานของรัฐใช้ TikTok รวมถึงแพลตฟอร์มที่น่าสงสัยอื่น ๆ ของจีน

สำหรับแนวทางของอินโดนีเซียมีความพิเศษตรงที่ทางการอนุญาตให้ TikTok ดำเนินการในประเทศได้ตราบเท่าที่ TikTok ยังจ่ายภาษีท้องถิ่น โดยในช่วงต้นเดือนสิงหาคมทางการอินโดนีเซียได้เพิ่มการเก็บภาษีจาก TikTok และบริษัทสหรัฐฯ อย่าง Amazon และ Netflix โดยบริษัทต่างชาติจะต้องจ่ายภาษี 10% จากการขายสินค้าให้กับลูกค้าในอินโดนีเซีย ซึ่งนับเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งของรัฐบาลเอง ส่วนในเวียดนาม TikTok กำลังถูกฟ้องร้องจากบริษัทไอทีท้องถิ่นว่ามีการใช้ไฟล์เสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนประเทศไทยและมาเลเซียมีความเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยต่อ TikTok โดยในไทยจะมีการแสดงออกต่อ Facebook มากกว่า

ทั้งนี้ชื่อ TikTok นั้นก็ทำให้ดูไม่เหมือนว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มาจากประเทศจีน อย่างมีนักเรียนมัธยมปลายอายุ 16 ปีในญี่ปุ่นกล่าวว่า “นี่ไม่รู้เลยว่าแอป TikTok มาจากประเทศจีน” แต่ถึงแม้ว่าจะมีความกังวลด้านความปลอดภัยในตัวแอปพลิเคชัน แต่กว่า 89% ของนักเรียนหญิงซึ่งนับว่าเป็นผู้ใช้งาน TikTok หลัก ๆ ต่างต่อต้านการแบน TikTok ด้วย

TikTok นั้นแตกต่างจาก Douyin หรือก็คือ TikTok ในประเทศจีนตรงที่ Douyin นั้นอยู่ภายใต้กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติของจีนที่ให้อำนาจแก่พรรคคอมมิวนิสต์ในการเข้าถึงข้อมูลได้ ในขณะที่ TikTok นั้นแตกต่างไป บริษัทยืนยันว่าไม่มีการอนุญาตให้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดยในปี 2018, Xi Jinping กล่าวว่า “เราควรปรับปรุงการสื่อสารระหว่างประเทศ และปรับระดับอำนาจของประเทศให้นุ่มนวลขึ้น” ซึ่ง TikTok นับว่าเป็นตัวอย่างของการปรับปรุงภาพลักษณ์ของจีนที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานได้ทั่วโลก

อ้างอิง Nikkei

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส