คณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ (FCC) หรือ กสทช. ของสหรัฐฯ ได้ลงคะแนนเสียง 5 – 0 ในการพิจารณาจัดทำรายการอุปกรณ์ที่ห้ามใช้ในเครือข่ายเพราะเป็นภัยต่อความมั่นคง เพื่อเดินหน้าสู่การวางกฎบังคับให้บริษัทโทรคมนาคมในสหรัฐฯ เปลี่ยนอุปกรณ์ของ Huawei และ ZTE ออกจากเครือข่าย

ที่ทราบกันดีคือ อุปกรณ์ของจีนมีราคาถูกและมีประสิทธิภาพจึงเป็นที่นิยมใช้ในตลาดโทรคมนาคม ดังนั้นการสั่งถอดเปลี่ยนอุปกรณ์จะทำให้บริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งค่าอุปกรณ์และค่าแรงของพนักงาน

ดังนั้น FCC ยังได้จัดตั้งโครงการคืนเงินให้กับผู้ให้บริการขนาดเล็ก (มีลูกค้า 2 ล้านคนหรือน้อยกว่า)  ที่ทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติออกไปจากเครือข่ายแล้วแทนที่ด้วยอุปกรณ์การสื่อสารที่ปลอดภัย โดยจะขอให้สภาผ่านงบอย่างน้อย 1,600 ล้านดอลลาร์เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ให้บริการที่รับผลกระทบตามกฎหมายการสื่อสารที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ 2019 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ปีที่แล้วร่างกฎหมายนี้ได้ห้ามมิให้ใช้เงินของรัฐบาลกลางอุดหนุนแก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ใช้อุปกรณ์การสื่อสารหรือบริการที่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติในเครือข่ายการสื่อสารของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ มีกองทุนบริการสากล (Universal service fund : USF) เพื่อให้เงินอุดหนุนบริษัทโทรคมนาคมใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุปกรณ์ในเครือข่ายและปี 2019 ได้ขยายการให้บริการไปสู่โรงเรียน พื้นที่ในชนบทและผู้ใช้ปลายทางในต่างประเทศ

สรุปง่าย ๆ ว่าบริษัทใดที่เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มีความเสี่ยงตามบัญชีรายชื่อที่ FCC กำหนดไว้ คือ Huawei และ ZTE ก็จะได้เงินชดเชยจากองทุนบริการสากลนั่นเอง

วันพฤหัสบดีที่ผ่านมา FCC ได้ปฏิเสธคำร้องขอจาก Huawei เพื่อให้พิจารณาการกำหนดบริษัทอยู่ในรายการเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติใหม่อีกครั้ง

นอกจากนี้ FCC ยังได้ลงมติเริ่มกระบวนการเพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตของ China Telecom ในการให้บริการโทรคมนาคมในประเทศและระหว่างประเทศภายในสหรัฐอเมริกาหรือไม่ เนื่องจากกังวลว่าเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติ

หลังจากนี้เดือนมกราคม สหรัฐฯ จะบริหารโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งจะต้องติดตามดูกันต่อไปว่านโยบายความมั่นคงทางไซเบอร์จะเข้มข้นและดุเดือดเหมือนประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์หรือไม่

ที่มา : engadget

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส