เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา ตัวเลข 41,062 ล้านบาท จากการประมูลคลื่นความถี่ 4 ย่านสำคัญ ได้แก่ 850, 1500, 2100, และ 2300 MHz โดยกสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) กลายมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในหลายมิติ โดยเฉพาะประเด็นมูลค่าการประมูลที่ต่ำกว่าครั้งก่อนหน้า แต่ในขณะเดียวกัน ท่ามกลางความสงสัยของสังคม สิ่งนี้อาจนำไปสู่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่รวดเร็วและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
“คลื่นสัญญาณ” และ “โอกาส” ของคนไทย
ในโลกยุคปัจจุบัน สัญญาณโทรคมนาคม โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตไม่ต่างจากน้ำและไฟฟ้า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลด้วยการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลไม่ว่าจะอยู่ที่พื้นที่ไหนในประเทศไทย
ยิ่งในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่ทัดเทียม สามารถเพิ่มช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในทุกมิติอย่างเท่าทวีคูณ หัวใจของการประมูลครั้งนี้จึงเป็นการรับประกันอนาคตทางดิจิทัลของคนไทยในการเข้าถึงสัญญาณโทรคมนาคม
การประมูลครั้งนี้ได้สร้างประโยชน์ที่จับต้องได้ใน 4 มิติสำคัญ ดังนี้
1. เสริมความแข็งแกร่งให้คลังของประเทศ
เม็ดเงินกว่า 4.1 หมื่นล้านบาท ที่หลายคนอาจมองว่าน้อยกว่าครั้งที่แล้ว แต่ในความเป็นจริงมูลค่านี้สูงกว่าราคาประเมินขั้นต่ำถึง 15% ข้อมูลจากสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยชี้ว่า รายได้ส่วนนี้ไม่เพียงช่วยลดภาระการกู้ยืมของรัฐบาลได้มหาศาล แต่ยังจะถูกนำไปต่อยอดผ่าน กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE Fund) เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น อย่างระบบอินเทอร์เน็ตในโรงพยาบาลรัฐ อุปกรณ์การเรียนทางไกลในโรงเรียนชนบท และศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัลในชุมชน ซึ่งหมายถึงราคาที่เหมาะสมไม่จำเป็นต้องเป็นราคาที่สูงที่สุดเสมอไป
2. สร้างความต่อเนื่อง ไร้รอยต่อของการสื่อสาร
การตัดสินใจของ กสทช. ในการจัดประมูลล่วงหน้าก่อนที่คลื่นความถี่เดิมจะหมดอายุสัมปทาน ถือเป็นรับมือปัญหาสัญญาณการสื่อสารล่วงหน้า โดยนักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัลระบุว่า นี่คือการป้องกันปัญหา “ซิมดับ” ที่อาจสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกับผู้ใช้งานหลายแสนรายในพื้นที่ห่างไกลที่พึ่งพาการสื่อสารขั้นพื้นฐาน
นอกจากนี้ การประมูลคลื่นสัญญาณล่วงหน้า ยังเป็นการเตรียมความพร้อมของแบนด์วิธให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานข้อมูลที่เติบโตที่มากขึ้นในยุคดิจิทัล
3. ปิดช่องว่างดิจิทัลด้วย 5G ทั่วทุกตำบล
หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่ผู้ชนะการประมูลต้องดำเนินการ คือการขยายเครือข่าย 5G ให้ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศภายใน 24 เดือน นโยบายนี้ไม่ใช่แค่การขยายสัญญาณ แต่คือการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ให้กับชุมชนท้องถิ่น
นอกจากความสะดวกสบายในการสื่อสารหรือการเข้าถึงข้อมูล ที่ช่วยให้คนทุกพื้นที่เข้าถึงระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพได้ง่ายขึ้น หรือ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาของเยาวชนในทุกพื้นที่ ยังสามารถช่วยส่งเสริมการเติบโตของอาชีพในท้องถิ่นในหลายมิติ อย่างเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ที่นำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นได้ด้วย
4. วางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืน
ประโยชน์ที่ไกลที่สุดคือผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ข้อมูลจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ชี้ชัดว่า การกระจายเครือข่าย 5G สู่พื้นที่ชนบทอย่างทั่วถึง มีศักยภาพในการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองและชนบทได้มากกว่า 20% ภายใน 5 ปี ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัป และส่งเสริมงานวิจัยด้านนวัตกรรมดิจิทัลของประเทศ
การเคลื่อนไหวของ กสทช. ในการจัดประมูลคลื่นสัญญาณล่วงหน้าจึงไม่ได้ทำให้เกิดการขาดทุนหรือเสียผลประโยชน์ แต่ในทางตรงกันข้ามคนไทยจะสามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น