เราเคยนำเสนอทั้ง “กฎหมาย E-services” และ ประเด็นที่จะมีการ “ควบคุมเกม” ซึ่งตอนนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมเกมยังไม่คืบหน้า แต่กฎหมาย E-services ที่ผ่านร่างอนุมัติแล้ว จะมีการพิจารณาปรับเพิ่ม

จากเดิมที่กำหนดให้ บริการเชิงพาณิชย์จากต่างประเทศในไทย ต้องขึ้นทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมีรายได้เกินปีละ 1,800,000 บาท โดยมีหลายประเทศทำได้สำเร็จแล้ว โดยทุกครั้งที่เราจ่ายหรือได้รับรายได้จากบริการเหล่านี้จะต้องมีการหักภาษี

มีการแก้ให้ครอบคลุมผู้ทำคอนเทนต์ออนไลน์ Streamer Influencer รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ต้องนำรายได้มาเข้าระบบภาษีด้วย

โดยนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากรได้กล่าวว่าปัจจุบันบุคคลธรรมดาในฐานภาษี มีทั้งสิ้น 9,550,000 คน แต่เสียภาษีตามระบบแค่ 3 ล้านคน โดยนับรวมทั้งธุรกิจออนไลน์และออฟไลน์ และในช่วงสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ธุรกิจออนไลน์โตขึ้นมาก จึงทำให้ต้องให้มีความเท่าเทียมกันในด้านการเก็บภาษี ทำให้ตั้งเป้าว่าจะต้องแก้ไขกฎหมายให้รองรับภายในปี 2564 ให้เร็วที่สุด

ซึ่งคนที่ทำรายได้จากส่วนนี้แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท ก็ต้องดำเนินการในฐานะรายได้ส่วนบุคคลเช่นกัน ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรก็พูดถึงในเรื่องนี้ว่า “ทุกวันนี้มีคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์คือ รายได้ประจำต่อเดือนมากกว่า 10,000 บาท หรือรายได้จากการเป็นนายหน้า/ค่าเช่าเกินปีละ 60,000 บาท ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายได้แล้ว และถ้าหากรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องเสียภาษี ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอายุผู้เสียภาษีแล้ว เพราะทุกวันนี้คนสามารถสร้างรายได้ที่อายุน้อยลง ซึ่งกรมสรรพากรก็มีระบบ Big Data ที่นำข้อมูลหลายส่วนมาประเมินการเสียภาษี”

ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล ภงด. 50/51 ก็จะขยายไปถึงกลุ่มธุรกิจออนไลน์ด้วย ซึ่งได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานะการดำเนินธุรกิจ และพิจารณาภาษีต่อไป

อ้างอิง: Thai PBS, ฐานเศรษฐกิจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส