รีวิว Kingston XS1000 : ขนาดเล็ก, รับ-ส่งเร็ว, เข้าใจง่าย, ใช้ได้ทุกที่
Our score
9.5

รีวิว Kingston XS1000 : ขนาดเล็ก, รับ-ส่งเร็ว, เข้าใจง่าย, ใช้ได้ทุกที่

จุดเด่น

  1. ความเร็วในการอ่าน-เขียนระดับ 1,000 MB/S ในทุกรุ่นที่ใช้ USB 3.2 Gen 2 ขึ้นไป แม้ Thunderbolt ก็เร็ว 1,000 mb/s ได้
  2. ความจุที่เยอะมากเมื่อเทียบกับราคาขาย เหมาะสำหรับซื้อไปเก็บข้อมูล
  3. ขนาดกระทัดรัด พกพาง่าย ใช้ได้ทุกที่

จุดสังเกต

  1. แถมแค่สาย USB-A ไม่แถมสาย USB-C มาให้
  2. พอร์ตที่ใช้ USB-A 3.2 Gen 2 มีน้อย เมื่อเทียบกับพอร์ต USB-C ทำให้การใช้ USB-A อาจจะไม่ได้ความเร็วที่มากพอ (ยกเว้น Gaming Notebook แรง ๆ)
  3. ไม่มีเคสยางแถมมาให้ในรุ่นนี้ (XS2000 มี)

เมื่อช่วงเวลาใกล้ ๆ กันของปีที่ผ่านมา แบไต๋เราได้รีวิว Kingston XS2000 SSD พกพาที่ให้ความเร็วได้สูงสุดถึง 2,000 MB/s ที่ต้องเช็กสเปกต่าง ๆ ของตัว SSD ก่อนจะใช้ให้ได้ความเร็วที่มากถึงระดับ 2,000 mb/s ได้

แต่ในปีนี้ Kingston ได้เปิดตัว SSD พกพารุ่นใหม่ในซีรีส์ ‘SSD พกพาจิ๋ว’ ในรุ่น Kingston XS1000 น้องเล็กของตระกูลที่แม้จะเป็นรุ่นน้อง แต่ก็เร็วสูงสุดที่ 1,000 MB/s ! แถมยังขนาดเล็กเหมือนเดิมอีกด้วย แล้วรุ่นน้องนี้จะมีอะไรน่าสนใจอีกบ้างล่ะ

สเปกของ Kingston XS1000

  • พอร์ตเชื่อมต่อ: USB-C 3.2 Gen 2×1 (10Gbps)
  • ความเร็ว: อ่าน 1,050MB/s เขียน 1,000 MB/s
  • ความจุ: 1TB, 2TB
  • ขนาด: 69.54 x 32.58 x 13.5 มม.
  • น้ำหนัก: 28.7 กรัม
  • วัสดุรอบเคส : โลหะ + พลาสติก
  • การรับประกัน/บริการ: ประกันแบบจำกัดเงื่อนไข 5 ปีพร้อมบริการทางเทคนิคฟรี
  • ระบบปฏิบัติการที่รองรับ: Windows 11, 10, macOS (v.10.15.x +), Linux (v. 4.4.x +), Chrome OS, Android, iOS/iPadOS (v.13+)
  • อุปกรณ์ในกล่อง : SSD Kingston XS1000, สาย USB-A to USB-C

ดีไซน์กะทัดรัดไม่ต่างจากรุ่นพี่

สัมผัสแรกที่ได้รับจากการถือใช้ Kingston XS1000 ตัวนี้ก็คือ มันเล็กและเบามาก ๆ ครับ คือตัว SSD เองมีขนาดที่ ‘สั้นและป้อม’ เหมือนกันกับรุ่นพี่ ไม่ใช่ SSD แบบแบน ๆ ที่เราจะเห็นกันโดยทั่วไป ถ้าดูด้วยสเปกตัวเลขระหว่าง XS1000 กับ XS2000 มาเทียบกันคือเรียกได้ว่าเท่ากันเลยก็ได้ ! ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีครับเพราะว่าขนาดนี้แหละที่เหมาะสมกับการพกพาไปใช้จริง ๆ

วัสดุรอบตัวเคสของ XS1000 จะต่างจากรุ่นพี่เล็กน้อย จากที่เป็นโลหะล้วน ๆ เป็นโลหะ + พลาสติกครับ ซึ่งจากที่ลองสำรวจดูรอบ ๆ ตัวแล้ว จะเห็นว่าส่วนที่เป็นพลาสติกจะอยู่บริเวณขอบเหลี่ยมด้านข้างรอบ ๆ ตัวทั้งหมด รวมถึงบริเวณที่พอร์ต USB-C อยู่ด้วย ส่วนที่เหลือจะเป็นโลหะครับ ดังนั้นเรียกว่าวัสดุส่วนใหญ่เป็นโลหะก็ไม่ได้ผิดมากนัก ส่วนน้ำหนักของ XS1000 นี้จะอยู่ที่ 28.7 กรัมซึ่งอยู่ในระดับที่เบามาก ๆ เรียกว่าพกไว้ คือจำไม่ได้เลยว่าพกอยู่ครับ เบามากจริง ๆ

ที่น่าเสียดายก็คือรุ่นนี้ ไม่แถมเคสยางที่ไว้ใช้กันกระแทกแบบใน XS2000 ด้วย ทำให้เวลาพกพาตัว SSD รุ่นนี้ อาจจะต้องหาซองมาใส่เพิ่ม หรือต้องระวังในการพกพา XS1000 นี้อีกสักเล็กน้อยก็จะแก้ปัญหานี้ไปได้ครับ แต่ระวังเรื่องรอยที่จะเกิดขึ้นถ้าไม่ได้ใส่ซอง หรือกระเป๋าใด ๆ ด้วยนะ

พอร์ตเชื่อมต่อที่เร็วแรง แถมเข้าใจง่าย

ในขณะที่ XS2000 ใช้พอร์ต USB-C 3.2 Gen 2×2 ที่สามารถโอนถ่ายข้อมูลได้สูงสุด 20Gbps หรือ 2,000 MB/s แต่มีปัญหาที่อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อที่พอร์ตที่มีความเร็วในระดับนั้นมีอยู่น้อย ทำให้ความเร็วในการเชื่อมต่อ XS2000 นั้นไม่สามารถเร็วได้ระดับ 2,000 mb/s ตามสเปกของตัว SSD นั้น

แต่ใน XS1000 นี้ใช้พอร์ต USB 3.2 Gen 2×1 (หรือ Gen 2 ธรรมดานี่แหละ) ซึ่งให้ความเร็วสูงสุดที่ 1,000 mb/s ซึ่งแม้จะมีความเร็วที่น้อยกว่า แต่ในทางกลับกัน กลับเป็นพอร์ตที่มีอุปกรณ์รองรับเยอะกว่ามากอีกด้วย เช่น Macbook ยุคใหม่ ที่ตอนนี้ใช้พอร์ต ‘Thunderbolt 4’ ก็สามารถใช้ความเร็วได้เต็มประสิทธิภาพของ USB 3.2 Gen 2 แล้ว ส่วนโน้ตบุ๊กอื่น ๆ ก็เริ่มรองรับพอร์ต USB 3.2 Gen 1 หรือ 2 มากขึ้นแล้วด้วย แต่ในขณะเดียวกัน อุปกรณ์ที่รองรับ USB 3.2 Gen 2 ยังมีไม่มากเท่า Gen 1 ซึ่งรุ่นนั้นจะได้แค่ 5Gbps หรือประมาณ 500mb/s เท่านั้น แม้จะ ‘เข้าใจง่าย’ แต่ก็ใช่ว่าจะ ‘หาง่าย’ เช่นเดียวกัน

แต่อีกส่วนที่ต้องแลกมาด้วยก็คือ ในกล่องจะแถมสายมาให้เป็นสาย USB-A to USB-C ขนาด 30 เซนติเมตรมาให้เท่านั้น ถ้าใครที่อยากใช้ในอุปกรณ์ที่รองรับ USB-C ล้วน ๆ อย่างเช่น Macbook, iPhone 15 Series หรือต่อสมาร์ตโฟน Android รุ่นใหม่ ๆ ก็จะต้องหาสาย USB-C to USB-C ที่รองรับความเร็วระดับ USB 3.2 Gen 2 ด้วยเช่นเดียวกัน (ซึ่งจริง ๆ ก็สามารถหาได้ง่าย ๆ ใน Shopee, Lazada นี่แหละ)

Disclaimer : ซึ่งที่แบไต๋เรารีวิวนั้น จะใช้ผสมกันระหว่างสาย USB-A to USB-C และสาย USB-C to USB-C ที่ให้ความเร็วสูงสุด (เพื่อให้ปัจจัยด้านความเร็วอยู่ที่พอร์ตเท่านั้น)

ประสิทธิภาพการอ่าน-เขียนข้อมูล

หลังจากเคลียร์ความเข้าใจเรื่องพอร์ตการเชื่อมต่อเรียบร้อยแล้ว เราลองจับเอา Kingston XS1000 มา Benchmark กันดูบ้างครับ ซึ่งการทดสอบความเร็วนี้ เราทดสอบจากการใช้คอมพิวเตอร์ที่หลากหลาย ทั้งพอร์ต และประเภทของพอร์ต เพื่อให้เห็นถึงความแตกต่างด้านพอร์ตและความเร็วของการรับส่งข้อมูล และให้เห็นตัวอย่างคร่าว ๆ ของพอร์ตแต่ละพอร์ตกันครับ

อุปกรณ์VersionReadWrite
Macbook Air M1Thunderbolt 4  / USB 4850.4 MB/s 734.7 MB/s 
Macbook Pro M1Thunderbolt 4  / USB 4879.8 MB/s776.9 MB/s
Lenovo YogaBook 9iThunderbolt 4 1,069.31 MB/s 994.77 MB/s 
ASUS Zenbook Pro 14 Duo OLEDThunderbolt 41,072.38 MB/s 1,003.95 MB/s
Lenovo IdeaPad Gaming 3USB-C 3.2 Gen 1419.24 MB/s374.18 MB/s
Lenovo IdeaPad Gaming 3USB-A 3.2 Gen 1 419.32 MB/s374.12 MB/s

ข้อดีของการที่ Kingston XS1000 ใช้พอร์ต USB-C 3.2 Gen 2×1 แล้วก็คือ หาอุปกรณ์ที่รองรับความเร็วสูงสุดได้จำนวนเพิ่มขึ้นมาก ๆ ที่โน้ตบุ๊กทั่ว ๆ ไปสามารถหาได้ในปัจจุบัน หรือง่าย ๆ ก็คือ Macbook Air รุ่นเริ่มต้นที่สุดก็สามารถให้ความเร็วที่มาก (เกือบ) ที่สุดได้ หรืออย่างโน้ตบุ๊กไหนที่รองรับพอร์ต Thunderbolt 4 ก็สามารถรับ-ส่งข้อมูลที่ความเร็วสูงสุดตามสเปกได้นั่นเอง

ที่น่าเสียดายก็คือ พอร์ต Thunderbolt ที่เราจะชอบเจอกันในโน้ตบุ๊กสมัยใหม่ มักจะมาพร้อมพอร์ต ‘USB-C’ และไม่ได้มาในรูปแบบของพอร์ต USB-A แบบที่เจ้า XS1000 แถมกันเนี่ยสิ ! ซึ่งทำให้ ตัวเลขคะแนนเกือบทั้งหมดที่ได้ระดับ 1,000 MB/S จะต้องมาอยู่กับพอร์ต Type-C จนเกือบหมดเลย ซึ่งโน้ตบุ๊กราคาประหยัดมักจะมาพร้อมพอร์ต USB 3.2 Gen 1 แทนที่จะเป็น Gen 2 ทำให้ความเร็วไม่มากเท่าแบบ Gen 2 นั่นเอง แต่อย่างน้อยเราก็ยังหาสาย USB-C to USB-C ที่รองรับความเร็วระดับ Thunderbolt สั้น ๆ ที่ราคาไม่แรงมาใช้แทนได้อยู่นะ แม้เขาจะไม่แถมก็ตาม

ส่วนประสบการณ์ที่ใช้แทน ‘ที่เก็บข้อมูลส่วนตัว’ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า XS1000 นี้เป็น SSD ที่สะดวกมาก ๆ ครับ คือโดยปกติผู้เขียนใช้ Macbook Air M1 ในการทำงานเป็นหลัก ซึ่งทำให้รับส่งข้อมูล ไฟล์ภาพ เอกสารต่าง ๆ ได้เร็วมาก ๆ คือไม่ต้องรอนานเลยในแต่ละครั้ง

ตอนต่อกับ Macbook Air M1 ก็จะประมาณนี้

มี Use-Case ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนคือ ผู้เขียนเดินทางไปร่วมงานทดสอบเกมบน PlayStation 5 มา และได้ต่อ XS1000 เพื่อไปคัดลอกไฟล์ Footage ที่ Screen Capture เกมเป็นวิดีโอออกมา และคัดลอกจาก Playstation ออกมา ตอนแรกทางทีมงานอยากแบ่งเวลาในการเล่นเพื่อให้คัดลอกไฟล์ แต่ปรากฎว่า XS1000 สามารถคัดลอกไฟล์ Footage เหล่านั้นได้เร็วมาก เนื่องจาก PlayStation5 ใช้พอร์ต USB 4 ที่เป็น SuperSpeed USB (10Gbps) คือเร็วจนทีมงานถามว่าทำไมถึงเร็วเลยทีเดียว ผู้เขียนเลยพบว่า XS1000 ใช้คัดลอกไฟล์จาก PlayStation5 ได้ดี (และน่าจะเต็มความเร็ว) เช่นเดียวกัน

สรุปและราคาวางจำหน่าย

โดยสรุปแล้ว Kingston XS1000 เป็น SSD ขนาดพกพาที่นอกจากจะพกพาง่าย ใช้งานง่าย แถมยังเชื่อมต่อได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย เหมาะกับทุก ๆ คนที่อยากจะได้ SSD สักรุ่นเพื่อเก็บข้อมูล ด้วยความจุสูงสุดที่ให้มาถึง 2 Terabyte ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอที่เราจะลืมเรื่อง ‘ความจุเต็ม’ ได้เลย เพราะพื้นที่ที่ได้นั้นมากจริง ๆ แต่น่าเสียดายที่สายที่ให้มาในกล่องยังเป็น USB-A to USB-C ที่จริงสำหรับสมัยนี้แล้ว ใช้ USB-C to USB-C เลยน่าจะดีกว่านะ

เรามาพูดถึงค่าตัวกันบ้างดีกว่า คือ Kingston XS1000 แม้จะทำราคาออกมาได้ประหยัดกว่ารุ่นพี่แบบ XS2000 และราคายังสู้ผู้เล่นอื่น ๆ ในตลาดยังไม่ได้ แต่สิ่งที่ XS1000 เหนือกว่าคือเรื่องของขนาดกระทัดรัด พกพาง่าย และความเร็ว ที่เข้าใจง่าย ต่อได้ความเร็วเต็มหลายเครื่อง โดยราคาวางจำหน่ายของ Kingston XS1000 อยู่ที่ 2,690 บาท สำหรับขนาดความจุ 1TB และ 4,280 บาท สำหรับขนาดความจุ 2TB ซึ่งใครที่สนใจ ยังสามารถรอช่วง Sale ต่าง ๆ ของแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้ได้ราคาที่ถูกลงอีกได้ด้วยนะ ! ซื้อได้ผ่าน Shopee และ Lazada เลย !

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส