หลายคนถ้าคิดถึงแบรนด์ JBL จะคิดถึงลำโพงสีสันสดใส มีไฟประกอบ เน้นกลุ่มวัยรุ่นหรือผู้ใช้ที่ต้องการลำโพงที่มีบุคลิกสนุกสนาน แต่ถ้าคุณเล่นเครื่องเสียงมานาน คุณจะรู้จักกับ JBL ตั้งแต่เป็นลำโพงบ้าน โดยเฉพาะ JBL L100 ลำโพงบ้านยอดฮิตในยุค 70s ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ JBL Authentics ลำโพงไฮเทคแต่กลิ่นอายคลาสสิกที่เราจะรีวิวกัน พร้อม JBL Spinner BT เครื่องเล่นแผ่นเสียงตัวนี้ด้วย!

ดีไซน์

เริ่มต้นจาก JBL Authentics กันก่อน ออกมาด้วยกัน 3 รุ่น น้องเล็ก JBL Authentics 200, พี่กลาง JBL Authentics 300 และพี่ใหญ่ JBL Authentics 500 ทั้ง 3 รุ่นนี้อิงการออกแบบมาจาก JBL L100 จึงมีหน้ากากลำโพงดีไซน์เป็นปุ่มนูนเอกลักษณ์เหมือนลูกเต๋าซึ่งมีชื่อเรียกว่า Quadrex (ควอเดร็กซ์) ให้คนที่เคยใช้ลำโพง JBL ตั้งแต่ยุค 70s รู้สึกเหมือนเพื่อนเก่าแก่ที่คุ้นเคยกลับมาอีกครั้ง แถมมีการตัดขอบด้วยเฟรมสีทองเหลือง สวยแบบเรโทร แต่งานดีไซน์ถือเป็นเรื่องเดียวที่คลาสสิก อย่างอื่นของลำโพงชุดนี้ไฮเทคหมด! คือทั้ง 3 รุ่นนี้นอกจากจะต่อ Bluetooth ได้แล้ว ยังเป็นลำโพงอินเทอร์เน็ตด้วย ผู้ใช้สามารถต่อเน็ตไม่ว่าจะผ่าน Wi-Fi หรือสาย LAN เข้าที่ด้านหลังของลำโพงได้โดยตรง

ซึ่งการที่ JBL Authentics ต่อเน็ตได้เอง ทำให้คุณภาพเสียงดีกว่าลำโพง Bluetooth มาก เพราะลำโพงไปคุยตรงกับ Server ของผู้ให้บริการอย่าง Spotify หรือ Tidal ให้ส่งไฟล์เพลงมาเล่นที่ตัวลำโพงโดยตรง ไม่เหมือนลำโพง Bluetooth ที่ผู้ให้บริการส่งเพลงมาที่สมาร์ตโฟน แล้วสมาร์ตโฟนก็ใช้ Codec บีบอัดเสียงซ้ำอีกครั้งเพื่อส่งไปที่ลำโพง คุณภาพเสียงจึงลดลง ซึ่งทั้ง 3 รุ่นนี้ก็รองรับทั้ง Spotify Connect, Tidal Connect และ AirPlay 2

และข้อดีของลำโพง Wi-Fi อีกอย่างคือสมาร์ตโฟนคุณทำหน้าที่เป็นเพียงรีโมทเปิดเพลง เสียงโทรศัพท์เข้า หรือเสียงไลน์เตือน จะไม่ไปดังที่ลำโพง ที่สำคัญหลังคุณเปิดเพลงผ่าน Wi-Fi ไปแล้ว คุณจะเอามือถือออกจากบ้านไป ลำโพงก็ยังเล่นเพลงอยู่ ไม่มีเพลงหยุด หรือเสียงกระตุกเหมือนลำโพง Bluetooth เพราะเพลงมาจากอินเทอร์เน็ตโดยตรง ไม่ได้มาจากมือถือ นี่ขนาดปิดมือถือเพลงยังเล่นอยู่
ลำโพงชุดนี้แต่ละรุ่นต่างกันแค่ 2 เรื่องคือลักษณะเสียง กับแบตเตอรี่เท่านั้น ซึ่ง JBL Authentics 300 เป็นรุ่นเดียวที่มีแบตในตัว จึงมี ด้ามจับให้เอาไปใช้นอกบ้านแบบไม่เสียบปลั้กได้สูงสุด 8 ชั่วโมง ส่วน JBL Authentics 200 กับ 500 จะเป็นลำโพงบ้าน ต้องเสียบปลั้กใช้งานเท่านั้น

สเปกด้านเสียง

แล้วลำโพง 3 รุ่นนี้มีสเปกด้านเสียงต่างกันอย่างไร เริ่มจาก JBL Authentics 200 ตัวเล็กหน่อย ก็เลยมีแค่ดอกลำโพงเสียงแหลม 2 ตัว และวูฟเฟอร์ 1 ตัว พร้อม Passive Radiator กำลัง 90 W พอตัวเล็ก ดอกลำโพงเล็ก เสียงเลยไม่หนักแน่นเท่า JBL Authentics 300 ที่แม้มีดอกลำโพง 3 ตัวพร้อม Passive Radiator เหมือนกัน แต่ใส่ดอกลำโพงขนาดใหญ่กว่า จึงให้กำลังเสียง 100 W

ส่วนตัวพี่ JBL Authentics 500 ประกอบด้วยดอกลำโพงเสียงแหลม 3 ตัว เสียงกลาง 3 ตัว เสียงต่ำ 1 ตัว สรุปมีลำโพงถึง 7 ตัวแบบไม่ต้องพึ่ง Passive Radiator ก็จะให้เสียงได้กว้างขวาง หนักแน่นที่สุด ให้กำลังสูงถึง 270 W ห้องใหญ่ ๆ ก็เอาอยู่

  • รีวิวเสียงตัวน้อง JBL Authentics 200 ก่อน เป็นเสียงฟังเพลงเพลิน ๆ แบบไม่ได้มีเบสเยอะมาก เหมาะสำหรับห้องขนาดไม่กว้างนัก
  • ส่วนตัวกลาง JBL Authentics 300 จะให้เสียงที่หนาหนักแน่นขึ้น ว่าลองเร่งเบสสักนิดเพลงจะกลมกล่อมขึ้น
  • และตัวพี่ JBL Authentics 500 อันนี้ต้องเล่ายาวหน่อย เสียงของลำโพงตัวนี้จะให้เสียงกว้างขวางที่สุด เบสหนักแน่นที่สุดเพราะมีดอกลำโพงเบสแยกออกมา และมันเป็นลำโพงรุ่นเดียวที่รองรับเสียงในระบบ Dolby Atmos มันถึงมีดอกลำโพงมากถึง 7 ดอกเพื่อจำลองมิติเสียงที่กว้างขึ้น ถ้าคุณเปิดเพลงที่บันทึกแบบ Dolby Atmos ผ่านบริการอย่าง Tidal ก็จะรู้สึกว่าเสียงกว้างขวางขึ้นมาก เหมือนเพลงมาอยู่โอบล้อมรอบตัว ก็เป็นลำโพงที่ให้ประสบการณ์การฟังแตกต่างจากลำโพงทั่วไป ต้องลองฟังดูว่าคุณชอบมิติของ Dolby Atmos ไหม

โดยรวมเสียงจาก JBL Authentics ทั้ง 3 รุ่นจะมีความเรโทรอยู่นะ คือเสียงไม่ได้คม รายละเอียดไม่ได้แพรวพราว แต่เสียงร้องหวานเด่น ฟังแล้วสร้างความอบอุ่นในบ้านเหมือนเครื่องเสียงสมัยก่อน และแนะนำว่าพื้นผิวที่วางลำโพงก็สำคัญเพราะลำโพงทั้ง 3 รุ่น จะมีการอัดเบสกระแทกพื้นด้วย ถ้าที่วางไม่มั่นคงมันจะสั่น จนอาจเกิดเสียงที่ไม่พึงประสงค์ออกมา

จบเรื่องเสียง มาดูเรื่องที่ลำโพง 3 ตัวนี้เหมือนกันต่อคือส่วนควบคุมลำโพงด้านบน เป็นแป้นหมุนแบบดิจิทัล เวลาหมุนก็จะมีไฟขึ้นตามแบบนี้ ถ้าเราเร่งเสียงจากมือถือ ไฟแสดงระดับเสียงก็จะเปลี่ยนตามเช่นกัน เราจึงไม่ต้องเดินไปหมุนที่หน้าเครื่องตลอด นอกจากนี้ยังปรับ EQ เร่งเสียงเบสหรือแหลมได้จากแป้นหมุนอีก 2 ตัวนี้ได้เลย ซึ่งก็จะขึ้นในแอป JBL One ด้วย หรือกลับกันเราก็ปรับ EQ 3 band จากแอป แล้วก็มาขึ้นที่หน้าเครื่องได้เช่นกัน

ส่วนปุ่ม Bluetooth อันนี้ก็ตรงตัว กดเพื่อเชื่อม Bluetooth แต่ถ้าเป็นไปได้ แนะนำเชื่อมผ่าน Wi-Fi เสียงจะดีที่สุด ส่วนที่ไม่เหมือนใครคือปุ่มรูปหัวใจที่เรียกว่าปุ่ม Moment ซึ่งเราต้องเข้าไปเซ็ตการทำงานของปุ่มนี้จากแอป JBL One ก่อน เพื่อระบุว่าเมื่อกดปุ่มนี้จะเล่นเพลงอะไรจาก playlist ไหน เล่นยาว ๆ ไปจนจบ playlist หรือเล่นกี่นาที แล้วก็เล่นดังแค่ไหน เพื่อทำให้ปุ่มนี้เป็นจุดเริ่มต้นเพลงโปรดในโมเมนต์โปรดของคุณ กดปุ่มเดียวสร้างบรรยากาศที่เซ็ตไว้ขึ้นมาได้ทันที

แต่ปุ่ม Moment นี้ไม่รองรับ Spotify สามารถใช้ได้กับ playlist ของ Tidal, Qobuz, Amazon Music, Calm Radio, Napster, TuneIn และ iHeartRadio ซึ่งเราก็สามารถเซ็ตบริการเหล่านี้ให้เล่นตรงจากแอป JBL One ไปที่ลำโพงได้ด้วย ไม่ต้องเปิดแอปแยกก็ได้

แล้วลำโพงทั้ง 3 รุ่นมีอะไรที่ไฮเทคอีก มันมีระบบ Automatic Self Tuning ด้วย คือลำโพงจะใช้ไมโครโฟนในตัวฟังเสียงที่สะท้อนกลับมาเพื่อจูนลักษณะเสียงให้เหมาะกับพื้นที่ที่วางที่สุด เราจึงไม่ต้องปรับ EQ เองเสมอไป เพราะลำโพงก็ช่วยจูนเสียงอัตโนมัติด้วย

เมื่อลำโพงมีไมโครโฟนแล้ว ต่อ Wifi ก็แล้ว มันก็เรียกผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Google Assistant หรือ Amazon Alexa ได้ด้วย ซึ่งเปิดใช้งานได้พร้อมกันทั้งคู่ สลับเรียกกันจาก 2 ค่ายได้เลย แต่ในไทยเราคงเน้นใช้ Google Assistant มากกว่า ซึ่งถ้าบ้านคุณเซ็ตระบบ IoT ไว้ ก็สามารถสั่งงานด้วยเสียงกับ JBL Authentics ได้เลย เปิด-ปิดไฟ พัดลม แอร์ ก็ได้ทั้งนั้น เพราะมันคือสั่งตรงกับ Google หรือ Amazon เลย

แต่ถ้าคุณห่วงความเป็นส่วนตัวว่ามันจะดักฟังเสียงตลอด ด้านหลังเครื่องก็มีสวิทซ์ปิดไมค์อยู่ แต่ถ้าคุณปิดไมค์ ก็จะพูดเรียกผู้ช่วยไม่ได้ และฟังก์ชัน Automatic Self Tuning ก็จะไม่ทำงานด้วย เพราะลำโพงมันไม่ได้ยินอะไร สุดท้ายฟังก์ชันที่คนเล่นเครื่องเสียงอยากได้อย่าง Multiroom ก็มีใน JBL Authentics ทุกรุ่นเช่นกัน คือเราสามารถเปิดเพลงเดียวกันออกหลายลำโพงในหลายห้องพร้อมกันผ่าน Wi-Fi

สาธิตให้ดู อย่างใช้ iPhone แล้วต้องการใช้ AirPlay 2 เพื่อทำ Multiroom ก็แค่แคสเพลงผ่านระบบ AirPlay แล้วกดเลือกลำโพงหลาย ๆ ตัวที่จะให้เสียงออกพร้อมกัน เท่านี้ลำโพงทั้งบ้านก็พร้อมเล่นเพลงเดียวกันแล้ว สร้างบรรยากาศเดียวกันไปทั่วบ้านได้เลย หรือถ้าเป็นผู้ใช้ Android ก็เข้าไปเซ็ตผ่านแอป Google Home เพื่อใช้งานผ่าน Chromecast ได้ ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเป็นลำโพงของ JBL นะ แต่เชื่อมทุกลำโพงที่รองรับ AirPlay 2, Chromecast หรือ Alexa Multi-Room Music ได้เลย

พูดถึงเครื่องเล่นแผ่นเสียง JBL SPINNER BT กันบ้าง หน้าตาดูดีเลย มี 2 สีให้เลือก ถ้าอยากได้ลุคคลาสสิกก็เลือกเป็นสีดำ-ทองตัวนี้ ถ้าเป็นลุกสนุกหน่อย ก็เลือกเป็นสีดำ-ส้ม

โดย JBL SPINNER BT เป็นเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบครบจบในตัว มี phono pre-amp มาแล้ว สามารถเสียบสายต่อออกลำโพงแอคทีฟอย่าง JBL Authentics ได้เลย หรือถ้าจะต่อแบบไร้สายก็รองรับ Bluetooth 5.2 พร้อม aptX HD Codec ทำให้ถ้าเชื่อมกับลำโพงที่รองรับ aptX HD ก็ให้เสียงได้ดีขึ้นกว่าการเชื่อมต่อปกติ

ส่วนตัวหัวเข็มของเครื่องเล่นก็ให้เป็นหัวจาก Audio Technica รุ่น ATN3600L มา ทำให้เราสามารถเปลี่ยนหรืออัปเกรดหัวเข็มให้เทพกว่านี้ได้อีก

ข้อสังเกต

ข้อสังเกตของเรากับ JBL Authentics คือมันรองรับ Bluetooth Codec แค่ SBC ตัวมาตรฐาน แม้ว่าการใช้งานปกติเราจะไม่ค่อยได้ใช้ Bluetooth เพราะลำโพงทั้ง 3 ตัวนี้ออกแบบเป็นลำโพงบ้าน ที่จะเชื่อมต่อ Wi-Fi ในบ้านตลอด แต่สำหรับรุ่น 300 ที่มีแบตยกออกไปใช้นอกบ้านได้ เราเลยมีโอกาสได้ใช้ Bluetooth มากกว่ารุ่นอื่น จึงน่าเสียดายที่ไม่ได้รองรับอย่างน้อยเป็น AAC Codec ซึ่งจะให้เสียงดีขึ้นอีกระดับ

รีวิวที่ดีต้องมีราคา

  • JBL Authentics 200 14,900 บาท
  • JBL Authentics 300 19,900 บาท
  • JBL Authentics 500 27,900 บาท

ส่วนเครื่องเล่นแผ่นเสียง JBL Spinner BT อยู่ที่ 19,900 บาท สามารถหาซื้อได้แล้วที่โชว์รูมมหาจักร ทุกสาขา ร้าน SoundCity ทุกสาขา ร้าน Dream Theater และร้านตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งก็มีจัดโปรโมชันอยู่เรื่อย ๆ ลองสอบถามตัวแทนจำหน่ายดูนะ

และตอนนี้มีจัดโปรโมชั่นลด 5% จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 นี้ รีบจัดนะ ฟินกันแน่นอน