ณ วันนี้ คงไม่มีเกมเมอร์คนไหนที่ไม่คุ้นหูทีมพัฒนาเกม RPG ระดับตำนานอย่าง “CD Projekt Red” ที่ได้พิสูจน์ฝีมือให้โลกเห็นมาหลายรอบแล้วจากไตรภาคเกม The Witcher ซีรี่ส์ที่ทำให้พวกเรารู้ว่าพวกเขามีของดีซ่อนอยู่มากขนาดไหน แต่จะมีซักกี่คนเชียวที่รู้ว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ พวกเขาต้องผ่านอุปสรรคโหดหินและบอสเลเวล 99 มามากมายนับไม่ถ้วน แถมบอสในชีวิตจริงแต่ละตัวยังตื้บพวกเขาแบบไร้ปราณีจนแทบจะสิ้นชื่อเลยทีเดียว

จากนักขายแผ่นผีสู่ตัวแทนจำหน่ายเกม

หนทางของ CD Projekt Red เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ยุคที่ประเทศโปแลนด์ยังไม่มีกฎหมายลิขสิทธิ์และ Marcin Iwiński ในวัยมัธยมปลายอยากจะหาลำไพ่พิเศษด้วยการปั๊มแผ่นเกมผิดลิขสิทธิ์ขายที่ตลาดเปิดท้ายในกรุง Warsaw ที่นั่นเองที่ทำให้เขาได้รู้จักกับ Michał Kiciński และกลายมาเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจรายแรกของเขา พวกเขาร่วมกันก่อตั้งบริษัท “CD Projekt” ขึ้นมาในปีพ.ศ. 2537 ด้วยเงินทุนเพียง 65,000 บาทเท่านั้นโดยใช้ออฟฟิศฟรีที่ตั้งอยู่ในหอพักของเพื่อน


ทั้งสองคนเริ่มทำธุรกิจจริงจังด้วยการนำเข้าเกมแผ่นลิขสิทธิ์มาจัดจำหน่ายในโปแลนด์ รวมถึงแปลภาษาในเกมให้ด้วย กิจการเริ่มไปได้สวยเมื่อพวกเขาสามารถขายเกม Ace Ventura ได้หลายพันแผ่น หลังจากนั้นพวกเขาจึงขยับขยายกิจการด้วยการติดต่อเข้าไปหาปรมาจารย์เกม RPG นามว่า “Bioware” เพื่อขอนำเกม Baldur’s Gate เข้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งพวกเขายังได้จ้างนักพากย์เสียงชื่อดังมาพากย์เสียงตัวละครเป็นภาษาโปแลนด์ และได้เพิ่มของแถมพิเศษ เข้ามาให้ในกล่องเกมแผ่นแท้อีกด้วย แน่นอนว่ายอดขายประสบความสำเร็จตามคาด ด้วยยอดเปิดตัวกำลังดีที่ 18,000 กล่องเลยทีเดียว

Wiedźmin เบิกทาง

หลังจากงานแปลและจัดจำหน่ายเกม CD Projekt ก็เริ่มมองหาลู่ทางอื่นด้วยการจ้างนักพัฒนาเกมมาพอร์ตเกม Baldur’s Gate: Dark Alliance ลงเครื่องคอนโซลในยุคนั้น แต่เมื่อโปรเจ็คล่ม ทางทีมพัฒนาจึงตัดสินใจขอพัฒนาเกมตัวเองขึ้นมามั่ง โดยอิงตามนิยายแฟนตาซีชื่อดังของโปแลนด์นามว่า “Wiedźmin” (ประมาณเพชรพระอุมาของบ้านเรา) และตั้งทีมพัฒนาเกมเฉพาะกิจชื่อว่า “CD Projekt Red” ขึ้นมา อย่างไรก็ตามพวกเขาประมาทเรื่องการพัฒนาเกมไปหน่อยและลืมไปว่าตัวเองไม่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเกมใด ๆ เลย เดโมเกมแรกที่พวกเขาทำออกมาจึงไม่ค่อยงามซักเท่าไหร่ (ทีมพัฒนาถึงกับเอ่ยปากเองเลยว่า “ห่วยบรม”) ส่งไปให้ใครก็ไม่เอา ทาง CD Projekt Red จึงต้องรื้อทุกอย่างทิ้งแล้วเริ่มใหม่ตั้งแต่ 0 ซึ่งก็กินเวลาถึง 2 ปีกว่าทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทาง ในระหว่างนี้ทีมพัฒนา Bioware ยังเข้ามาช่วยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเกมและยังช่วยโปรโมทเกมให้ด้วย โดยให้ CD Projekt Red ไปออกบู๊ธข้าง ๆ เกม Jade Empire ของพวกเขา

การพัฒนาเกมแรกของพวกเขาสิริเวลารวมทั้งหมดถึง 5 ปี แล้วในที่สุดเกม Wiedźmin ก็ได้เผยโฉมสู่สายตาเกมเมอร์ทั่วโลก โดยมีชื่อฝรั่งว่า “The Witcher” เกมวางตลาดในปีพ.ศ. 2550 และได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีจากนักวิจารณ์ ทั้งยังทำยอดขายได้ดีจากฝั่งเกมเมอร์ด้วย ส่งผลให้ CD Projekt Red ยืนหยัดขึ้นมาในฐานะผู้พัฒนาเกมเต็มรูปแบบเสียที

กระอักเลือดไปกับ Witcher 2

เมื่อประสบความสำเร็จกับภาคแรก ทีม CD Projekt Red จึงเริ่มโปรเจ็คภาคต่อของ The Witcher ทันที นอกจากนี้พวกเขายังได้เริ่มโปรเจ็ค The Witcher: White Wolf สำหรับเครื่องคอนโซลควบคู่ไปด้วย แต่ไม่มีใครในทีมคาดคิดมาก่อนว่าการพัฒนาเกมภาคต่อครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าภาคแรกของมันเสียอีก

ลางร้ายเริ่มส่อแววเมื่อบริษัทพัฒนาเกมสัญชาติฝรั่งเศสชื่อว่า Widescreen Games ซึ่งรับงานพอร์ตเกมลงคอนโซลให้ภาค White Wolf เริ่มบ่นกระปอดกระแปดว่าคนไม่พอมั่ง เงินไม่พอมั่ง เวลาไม่มีมั่ง จนทำให้ต้องเลื่อนเดดไลน์ส่งงานไปหลายรอบ หนักข้อเข้าก็ออกมากล่าวหาว่า CD Projekt ไม่จ่ายเงินให้กับพวกตนทั้ง ๆ ที่ทาง CD Projekt ก็ยืนกรานอย่างเต็มปากเต็มคำว่าพวกเขาจ่ายไปแล้วทุกบาททุกสตางค์ สุดท้าย CD Projekt จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยกเลิกการพัฒนาเกม Witcher สำหรับเครื่องคอนโซลไปเลย

แต่เหมือนหนีเสือปะจระเข้ เมื่อพวกเขาต้องเจอคอมโบความซวยซ้ำสอง เนื่องจากบริษัท Atari ซึ่งได้รับสิทธิ์เป็นผู้จัดจำหน่ายเกมให้ CD Projekt Red ยืนกรานว่าพวกเขาต้องการเงินชดเชยจากการที่ CD Projekt Red เบี้ยวเกมเวอร์ชั่นคอนโซล (เนื่องจากเงินส่วนหนึ่งที่ลงไปก็มาจากกระเป๋า Atari นั่นแหละ) ความขัดแย้งทางธุรกิจครั้งนี้กินเวลาและเงินทุนของบริษัท CD Projekt มากขนาดเกือบทำให้บริษัทล้มละลาย และทำให้ Marcin Iwiński โดนไมเกรนรับประทาน เมื่อหลังชนฝา พวกเขาจึงตัดสินใจยกเลิกโปรเจ็คยิบย่อยทั้งหมดที่มีอยู่ในมือ (รวมถึงโปรเจ็คเกม FPS ของ CD Projekt Red ด้วย) เพื่อหันมาเข็นเกม The Witcher 2 ให้เสร็จเพียงอย่างเดียว เวลาผ่านไปอีก 3 ปีครึ่ง เกม The Witcher 2: Assassins of Kings ก็ออกมาอวดโฉมในปี พ.ศ. 2554 พร้อมกับคำชมจากสื่อมากมาย และยอดขายกว่า 1.7 ล้านแผ่น ช่วยชีวิต CD Projekt เอาไว้ได้พอดี

ประกาศศักดาด้วย The Wild Hunt

เมื่อพวกเขาได้พักหายใจจนหายเหนื่อย พวกเขาก็เริ่มมองไปที่เส้นขอบฟ้าอีกครั้ง ด้วยความหวังจะสร้างเกม RPG สไตล์ Open-World ที่มีมาตรฐานสูงไม่แพ้ซีรี่ส์ GTA และต้องการยกระดับกราฟิกในวงการเกมให้สูงขึ้นไปอีกขั้นด้วยเกมภาคใหม่นี้ พวกเขาจึงฟันธงให้ The Witcher 3: Wild Hunt ลงแค่ในแพลตฟอร์ม PC, Playstation 4 และ Xbox One เท่านั้น ทีม CD Projekt ต้องทุ่มเงินไปกว่า 81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว ๆ 2,400 ล้านบาท) ทุ่มเวลาพัฒนาไปกว่าสามปีครึ่ง แถมยังต้องเลื่อนวันวางตลาดเกมไปอีกหลายรอบจนในที่สุดพวกเขาก็สามารถปล่อยเกมในฝันออกมาได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 ผลตอบรับนั้น พูดสั้น ๆ ได้ว่าดีเกินคาด สื่อแทบทุกสถาบันต่างชมเปราะพร้อมกันเป็นเสียงเดียวและ CD Projekt ทำกำไรในช่วงครึ่งปีแรกของปีนั่นได้มากกว่า 62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้เกมยังได้รับรางวัล Game of the year มากมายจากสื่อหลายสำนัก และกลายเป็นความภูมิใจของชาติถึงขนาดนายกรัฐมนตรีของโปแลนด์นำเกม The Witcher 3 ไปมอบเป็นของขวัญให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลยคิดดู ทำให้ CD Projekt ถูกมองว่าเป็นทีมพัฒนาเกมระดับมาสเตอร์พีซนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความกล้าบ้าบิ่นที่จะเสี่ยงของ Marcin Iwiński และความเข้าใจเกมเมอร์จนเข้ากระดูกดำของสมาชิกในทีมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกเขาได้พบกับความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ แต่ประวัติศาสตร์ของพวกเขายังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ เพราะเขากำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในโลกอนาคต ด้วยโปรเจ็คเกมที่ยิ่งใหญ่อลังการไม่แพ้ทุกผลงานก่อนหน้า เตรียมพิสูจน์ฝีมือของพวกเขาได้อีกครั้งกับเกม Open-World RPG “Cyberpunk 2077” ในอีกไม่นานเกินรอ! (มั้ง…)