แม้ว่าค่ายนินเทนโด จะมีชื่อเสียงมายาวนานหลายสิบปีในวงการเกม และมีทั้งเครื่องคอนโซลทำยอดขายถล่มทลายหลายเครื่อง และมีซีรีส์เกมดัง หลายสิบเกมออกวางขาย และถือว่าขายดีสุด ๆ ด้วย แต่ไม่น่าเชื่อว่าบางซีรีส์เกมที่ได้หายสาบสูญ ไม่ได้ถูกสานต่อความสำเร็จ ทั้ง ๆ ที่บางเกมถือว่าประสบความสำเร็จมากในอดีต แม้ว่าหลายเกมจะมีแฟน ๆ เรียกร้องให้ปู่นินสานต่อทำภาคใหม่แต่ผ่านมาเป็นสิบปีแล้วก็ไม่ได้สร้างภาคใหม่ออกมาเสียที

และวันนี้ทีมงาน Beartai ได้รวมเอารายชื่อเกมที่หายจากวงการไปนาน ที่ออกบนคอนโซล Nintendo ที่มีทั้งเกมจากค่ายปู่นินเอง และผลงานของค่ายอื่นที่ออกบนเครื่องเกมของนินเทนโดด้วย แต่บอกไว้ก่อนว่าบางซีรีส์แม้จะไม่ได้สร้างภาคต่อ หรือภาคใหม่แต่รูปแบบการเล่นมาอยู่ในเกมอื่นก็มี ไปดูกันว่ามีเกมอะไรบ้าง ซึ่งหากใครคิดถึงก็ลองไปค้นหามาเล่นได้รับประกันว่าสนุกทุกเกมจนอยากให้ทำภาคต่อออกมาอีก

Fatal Frame

เกมถ่ายรูปผีในตำนาน ที่ Fatal Frame ภาคแรกมีกำเนิดบน PlayStation 2 (และ Xbox) โดยวางขายในปี 2001 ที่ประสบความสำเร็จมหาศาลมีแฟนประจำมากมาย โดยเฉพาะในไทยก็มีแฟนตัวยงอยู่ และมีการออกภาคต่อมาอีก 2 ภาค แต่หลังจากการวางขายของ Fatal Frame: Mask of the Lunar Eclipse ที่นับเป็นภาคที่ 4 ของซีรีส์ ที่วางขายบน Wii รุ่นแรกแล้วเกมถ่ายผีก็ออกบนคอนโซลของนินเทนโดมาตลอดเพราะปู่นินให้ทุนและร่วมสร้างเกมด้วย และยังมีการออกภาค Fatal Frame 2 รีเมกบน Wii และภาคพิเศษอย่าง Spirit Camera บน 3DS ที่ใช้ลูกเล่นกล้องแบบ AR เพื่อเล่นเกมด้วย

ส่วนภาคสุดท้ายของเกมถ่ายรูปผีที่ออกวางขายคือ Fatal Frame: Maiden of Black Water ที่ออกในปี 2014 ภาคหลักที่ออกบน WiiU ทำให้มันเป็นภาคแรกที่มีกราฟิกระดับ HD แต่ด้วยยอดขายที่ต่ำอย่างไม่น่าเชื่อ แถมการวางขายในนอกประเทศญี่ปุ่นมีแบบดาวน์โหลดเท่านั้น ทำให้อาจจะส่งผลให้อาจจะไม่มีการสร้างภาคต่อจนถึงตอนนี้ และอีกประเด็นที่ทำให้มันหายสาบสูญคือในตอนที่ภาค 5 วางขายนั้นเกมผีไม่ค่อยได้รับความนิยมด้วย อย่างไรก็ตามส่วนตัวแล้วเชื่อว่า Fatal Frame มีโอกาสกลับมาเกิดใหม่ เพราะในยุคนี้เกมผีหรือสยองขวัญ กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะค่ายอินดี้ที่สร้างเกมสยองออกมาต่อเนื่องและขายดีอย่างมาก แม้กระทั้งทีมสร้างชาวไทยเองก็ประสบความสำเร็จกับเกม Home Sweet Home ทำให้เกมถ่ายรูปผีก็มีโอกาสกลับมาอีกครั้ง แต่คงต้องยกเครื่องใหม่หมดให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

Wario Land , Wario Ware

Wario หนึ่งในตัวร้ายของซีรีส์ มาริโอ ที่กลายมาเป็นตัวเอกมีเกมเป็นของตัวเองแถมยังขายดิบขายดีจนมีภาคต่อมาหลายเกม โดยภาคแรกคือ Wario Land: Super Mario Land 3 บนเกมบอย ที่มาแนว แอ็กชัน 2D แบบมาริโอที่เพิ่มลูกเล่นใหม่เข้าไปที่ผู้เล่นต้องออกตามหาสมบัติ และมีการออกภาคต่อบนคอนโซลที่ล้มเหลวอย่าง Virtual Boy กับเกม Wario Land แม้จะขายไม่ดีตามเครื่องเกมแต่ปู่นินก็เข็นภาคต่อมาอีกหลายภาคแต่ส่วนใหญ่จะอยู่บนเครื่องเกมพกพาอย่าง Game Boy และ Game Boy Advance ส่วนภาคล่าสุดก่อนจะหายตัวไปคือ Wario Land: Shake It! บน Wii ในปี 2008 ที่เป็นเกม แอ็กชันสองมิติเหมือนเดิม หลังจากนั้น Wario ก็หายตัวยาว แต่ก็เชื่อว่าด้วยกระแสเกมย้อนยุคมาแรงสักวันปู่นินอาจจะหยิบตัวร้ายระดับตำนานกลับมาสร้างอีกครั้ง

และนอกจากภาคหลักที่เป็นแอ็กชันแล้วปู่นินยังสร้างเกม Wario Ware ที่มาแนวมินิเกมสั้น ๆ มาเรียงร้อยเป็นเกมเต็ม ๆ ให้เราเล่นและความสั้นต่อ 1 มินิเกมมีเวลาให้เล่นหลักวินาทีทำให้ผู้เล่นต้องคิดให้เร็วที่สุด เรียกว่าเป็นเกมที่ใช้ไหวพริบในการเล่นอย่างมาก และมันประสบความสำเร็จมากขายดีกว่าภาคหลักเลยด้วยซ้ำ ทำให้ปู่นินเข็นเอาภาคต่อมาหลายเกมอย่างต่อเนื่อง โดยภาคแรกของซีรีส์คือ WarioWare Inc ที่วางขายในปี 2003 บน Game Boy Advance และมีการออกภาคต่อมาอีก 9 ภาคทั้งบนเครื่องเกมพกพาและโฮมคอนโซล โดยภาคสุดท้ายคือ WarioWare Gold ภาครวมฮิตมินิเกมออกในปี 2018 บน 3DS แม้จะเหมือนว่าห่างหายไปไม่นานแต่เชื่อว่ามีแฟน ๆ วาริโอทั่วโลกอยากเล่นมินิเกมบน Nintendo Switch เพราะมันเข้ากับลูกเล่นของคอนโซลลูกผสมไม่แตกต่างจาก Mario Party แน่

Super Mario Strikers

เป็นเรื่องปกติที่มาริโอจะมาเป็นเกมกีฬา และหนึ่งในกีฬายอดนิยมของคนเกือบทั้งโลกคือ “ฟุตบอล” ที่ลุงหนวดของเราก็เคยลงสนามเตะบอลกับเขาด้วย ในชื่อเกม Super Mario Strikers บน Game Cube ในปี 2005 และแน่นอนว่ามันไม่ใช่เกมเตะบอลธรรมดาแน่ มันต้องโอเวอร์หลุดโลกแบบซีรีส์กีฬาของมาริโอ เพราะมีทั้งท่าไม้ตายเทพ ๆ และตัวละครดัง ๆ จากเกม Mario มาให้เราเล่นกัน และมีกฎกติกาที่ไม่ได้จริงจังเพราะมันไม่ใช่ FIFA หรือวินนิ่ง Super Mario Strikers ได้คะแนนรีวิวระดับกลาง ๆ ไม่ได้โดดเด่นและก็ไม่ได้ขายดีแบบถล่มทลายเท่ากับเกมอื่นในซีรีส์กีฬาของมาริโอ

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะไม่ได้ขายดีมาก แต่ก็มากพอที่ปู่นินจะเข็นภาคต่ออย่าง Mario Strikers Charged บน Wii ในปี 2007 รุ่นแรกทำให้กราฟิกแทบไม่ต่างจากภาคแรก รูปแบบการเล่นก็แทบจะเหมือนเดิมเพราะมันออกวางขายห่างจากภาคบน Game Cube แค่สองปีเท่านั้น ส่วนระบบไอเทมช่วยผู้เล่นจากเกมลุงหนวดก็มาครบ เช่นการใช้กระดองเต่า โดยรวมบอกตรง ๆ เหตุที่มันหายไปยาวนานหลายปีนอกจากยอดขายไม่เข้าเป้า และในอเมริกากีฬาฟุตบอลไม่ค่อยได้รับความนิยม ส่วนคอเกมฟุตบอลขนานแท้ชอบเล่นของที่ดูจริงจังอย่าง FIFA มากกว่าทำให้เราอาจจะไม่ได้เห็นภาคต่อของ Super Mario Strikers ในเร็ว ๆ นี้ แต่ก็พอมีโอกาสเพราะปู่นินเพิ่งซื้อค่ายเกม Next Level Games ผู้สร้าง Mario Strikers ไปหมาด ๆ ทำให้อาจพอมีความหวังเล็ก ๆ ในการเห็นภาคต่อบน Switch

F-Zero

ซีรีส์เกมแข่งรถในตำนานของนินเทนโด ที่มีประวัติยาวนานกว่า 30 ปีโดยภาคแรก F-Zero ออกบน Super Famicom ในปี 1990 และเป็นหนึ่งในเกมเปิดตัวพร้อมเครื่อง มาพร้อมกับโชว์รูปแบบกราฟิกในโหมด 7 ที่มีการเล่นที่รวดเร็วมาก มาพร้อมกับการเข้าโค้งที่ใช้เร็วมากกว่าเกมแข่งรถอื่น พร้อมกับฉากหลังที่เป็นโลกอนาคตรถยนต์ในเกมจะไม่มีล้อจะลอยอยู่กลางอากาศเหมือนหนังอวกาศ และมีกำหนดค่าพลังที่หากเราชนกับรถคันอื่นหรือชนขอบทางพลังจะลดลงเรื่อย ๆ หากพลังหมดรถจะระเบิดตาย แต่ในฉากจะมีตัวเติมพลัง และด้วยความแตกต่างและความสนุกทำให้มีการสานต่อมาอีกหลายภาค

โดยหลังจากนั้นมีการออกภาคต่อ F-Zero X บน Nintendo 64 ในปี 1998 ที่มีกราฟิกที่ยกระดับ และมีฉากที่กว้างกว่าเดิม รวมทั้งมีฉากผาดโผนโจนทะยานเหมือนได้ขึ้นรถไฟเหาะ และมีการสานต่อกับภาค F-Zero GX บน Game Cube ในปี 2003 ที่เป็นอีกภาคที่สนุก และหลังจากนั้นได้ออกบนเครื่องพกพาในภาค F-Zero: GP Legend บน Game Boy Advance ปี 2003 ก่อนปิดท้ายกับ F-Zero Climax บน Game Boy Advance ปี 2004 ที่ออกเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้นหลังจากนั้นซีรีส์รถแข่งแห่งอนาคตก็หายเงียบไปแม้จะมีข่าวลือมาตลอดว่าปู่นินเตรียมเปิดตัวภาคใหม่ แต่เวลาผ่านไป 17 ปีก็ยังไม่มีการออกภาคใหม่เสียที ก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งปู่นินจะปลุกมันขึ้นมาลงสนามแข่งรถอีกครั้ง

Punch-Out!!

อีกหนึ่งเกมชกมวยที่ประสำความสำเร็จมากทั้งรูปแบบการเล่นและการตลาด เพราะในตอนแรกที่เกม Punch-Out!! ย้ายจากเกมตู้อาเขตมาลงแฟมิคอม มีการลงทุนจ้าง ไมค์ ไทสัน มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และมีการใช้ชื่อเกม Mike Tyson Punch-Out ผ่านรูปแบบเกมต่อยมวยที่เรียบง่าย แต่บังคับทิศทางตัวละครขยับไปทางซ้ายและขวาเพื่อหลบหลีกแล้วต่อย แต่ก็มีการกำหนดทิศทางโจมตีเช่นต่อยลำตัวหรือต่อยหน้า และทีการใช้ท่าไม้ตายพิเศษด้วย โดยในยุคนั้นถือว่าขายดิบขายดีอย่างมาก บวกกับความดังของ ไมค์ ไทสัน ทำให้มันเป็นหนึ่งในตำนานของนินเทนโดในยุคนั้น

แต่หลังจากข่าวฉาวของ ไมค์ ไทสัน ทำให้ภาคต่อไม่มีเขามายุ่งเกี่ยวกับเกมอีก และนินเทนโดได้ออกภาคต่อกับ Super Punch-Out!! ในปี 1994 บน Super Famicom แต่เปิดตัวในโซนอเมริกาก่อน ที่รูปแบบการเล่นยังคงเหมือนเดิม แต่กราฟิกพัฒนาให้ดูดีในแบบการ์ตูน แม้จะไม่ได้ดังเท่าภาคแรกแต่ก็ถือว่าไม่ได้เลวร้าย และหลังจากนั้นสิบกว่าปีผ่านไปจนคนแทบลืมไปแล้วว่าปู่นินมีเกมต่อยมวยสนุก ๆ นินเทนโดได้คืนชีพออกเกม Punch-Out!! บน Wii รุ่นแรกในปี 2009 ที่มีการนำลูกเล่นจอยเกมแบบจับการเคลื่อนไหวของ Wiimote เพื่อบังคับให้ตัวละครในเกมต่อยคู่แข่ง แต่จะใช้จอยธรรมดาเล่นก็ได้ อย่างไรก็ตามมันคือภาคสุดท้ายของซีรีส์ Punch-Out!! ที่ออกวางขายเพราะจนถึงตอนนี้เกมต่อยมวยที่เรียบง่ายและสนุกได้หายไปยาวนานกว่าสิบปีแล้ว แต่ DNA ของมันยังคงอยู่ในเกมต่อยมวย ARMS ที่ออกบน Nintendo Switch ซึ่งใครคิดถึง Punch-Out!! ก็ไปหามาเล่นได้

Mother (EarthBound)

เกมแนว RPG ที่ได้รับฉายา Dragon Quest ของ นินเทนโด โดย Mother (ชื่อภาษาอังกฤษ EarthBound) ออกวางขายครั้งแรกบน Famicom ในปี 1989 รูปแบบการเล่นเป็น RPG แบบใส่คำสั่งแล้วโจมตีศัตรู มีฉากแผนที่แบบ 2D มุมมองด้านบน โดย Mother มีความโดดเด่นที่เกมไม่ได้เกิดในโลกแฟนตาซีแบบ Dragon Quest แต่จะมีฉากหลังเหมือนโลกปัจจุบันที่ตัวเอกเป็นเด็กที่มีพลังจิต อย่างไรก็ตามแม้เกมจะมีชื่อเสียงพอสมควรในญี่ปุ่น แต่ Mother ไม่ได้วางขายในอเมริกาตอนที่เปิดตัว แต่ภายหลังมีการนำไปขายโซนอเมริกาและยุโรปในชื่อ EarthBound Beginnings บน Wii Ware บน Wii รุ่นแรก และมีการเอามาขายใหม่บน Game Boy Advance เฉพาะโซนญี่ปุ่นในเกมรวมฮิต Mother 1+2

โดยเกมมีภาคต่อในชื่อ Mother 2 วางขายบน Super Famicom ในปี 1994 และมีการแปลภาษาอังกฤษในชื่อเกม EarthBound วางขายบน SNES ปี 1995 ด้วย ซึ่งรูปแบบเกมยังเป็น RPG เหมือนเดิมเพิ่มเติมคือภาพสวยขึ้น และถือว่าสร้างชื่อให้ซีรีส์พอสมควรเพราะตัวละครในเกมได้ไปอยู่ในสังเวียนต่อสู้ Super Smash Bros. ด้วย หลังจากนั้นปู่นินประกาศว่าภาคต่อ Mother 3 วางขายบน Nintendo 64 บน 64DD อุปกรณ์เสริม ในรูปแบบกราฟิกที่ยกระดับเป็น 3D เต็มตัวตามกระแสเกมยุคนั้น แต่แล้วมันก็ถูกยกเลิกไป

แต่หลังจากนั้นนินเทนโดก็หยิบมันมาสานต่อแบบสร้างใหม่จน Mother 3 ได้ออกบน Game Boy Advance ในปี 2006 ในญี่ปุ่น ซึ่งมันกลับมาเป็น RPG แบบ 2 มิติเหมือนกับสองภาคแรก แต่ใครจะเชื่อว่าภาค 3 ของซีรีส์ RPG ของปู่นินไม่เคยถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการ แฟนเกมทำได้เพียงเล่น Mother 3 จากรอมที่แฟน ๆ แปลกันเองเท่านั้น คาดกันว่าเหตุที่ปู่นินไม่ยอมแปล และไม่ยอมสร้างภาคต่อออกมาเสียทีเพราะด้วยยอดขายที่ไม่เข้าเป้า รวมทั้งกระแสความนิยมเกมแนว RPG แบบใส่คำสั่งไม่ได้รับความนิยมเท่าสมัยก่อนทำให้มันเป็นเรื่องยากที่จะได้เห็น Mother (EarthBound) ภาคใหม่ออกมาในเร็ว ๆ นี้

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส