[รีวิว] FAR CRY 6  เรื่องราวการปฏิวัติสุดเข้มข้น… ในซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
Our score
8.0

Far Cry 6

จุดเด่น

  1. เนื้อเรื่องของเส้นทางการปฏิวัติในยาราที่เข้มข้นน่าติดตาม
  2. เกมเปิดกว้างให้อิสระผู้เล่นทำอะไรก็ได้
  3. ฉากสวย ใหญ่เบ้อเริ่ม และมีกิจกรรมให้ทำเยอะแยะ
  4. งานออกแบบเลเวลส่วนใหญ่ช่วยให้ผู้เล่นเลือกลุยได้หลายสไตล์

จุดสังเกต

  1. เกมเพลย์ที่ก๊อปแปะของเก่าจากภาคก่อนๆ มาทั้งดุ้น (อีกแล้ว)
  2. AI ก็ยังทึ่มไม่เปลี่ยน
  3. ภารกิจส่วนใหญ่ซ้ำซากจำเจ

เมื่อเกมเมอร์ได้ยินชื่อซีรีส์ “FAR CRY” แล้วมักจะนึกถึงอะไร? แว่บแรกก็คงจะหนีไม่พ้นแผนที่แบบเปิดกว้าง (open-world) ใหญ่ๆ ที่มีวิวธรรมชาติสวย ๆ ใช่มั้ย? นอกจากนี้ก็ต้องมีกิจกรรมยุ่บยั่บให้ทำทั่วแผนที่ มีฐานทหารมากมายให้ไล่ยึด และที่สำคัญคือต้องมีวายร้ายตัวหลักสุดเหี้ยมที่โดดเด่นน่าจดจำ สาเหตุที่ภาพจำของเกมไกลตะโกนมันออกมาประมาณนี้ก็เพราะเกมขยันเข็นสูตรเดิม ๆ ที่ว่ามาตั้งแต่ FAR CRY ภาค 3 แล้ว อย่างไรก็ตาม เห็นทีมพัฒนา Ubisoft เขาบอกว่าเกม FAR CRY ภาค 6 จะมาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ ๆ สนุก ๆ มากมาย ประมาณว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” ซีรีส์ ที่เข้ากับธีมเรื่อง “ปฏิวัติ” ล้มล้างรัฐบาลทรราชในภาคนี้เป็นอย่างดี งานนี้คงต้องพิสูจน์ด้วยสายตาเกมเมอร์ชาวไทยอย่างพวกเราที่คุ้นเคยกับคำว่าปฏิวัติเอย รัฐประหารเอย เป็นอย่างดีกันซะหน่อยแล้วว่า “นี่คือเกม FAR CRY ที่จะมาปฏิวัติซีรีส์นี้จริงหรือเปล่า?”

เนื้อเรื่องแห่งการปฏิวัติที่สนุกสุดทางกว่าทุกภาค

จุดที่น่าเซอร์ไพรส์มาก ๆ และเรียกได้ว่าเป็นจุดที่ได้รับการพัฒนาอย่างโดดเด่นที่สุดในเกมภาคนี้ก็คือบทสนทนาระหว่างตัวละครต่าง ๆ ในเกมนี่แหละ ทุกบทพูดต่างเขียนออกมาได้ดีเกินมาตรฐานวงการ FPS ไปหลายขุม ไม่ว่าจะเป็นตัวละครฝั่งตัวดีหรือตัวร้ายต่างก็มีโมเมนท์ที่น่าจดจำ การพูดจาแดกดันกันไปมาก็มีสีสัน และจังหวะการตบมุกใส่กันก็ฮามาก ซึ่งจุดที่อดชมไม่ได้ก็คือคำบรรยาย (subtitle)​ ภาษาไทยในเกมนี้ยังแปลออกมาดีมาก รู้จักใช้คำแสลงและเลี่ยงคำหยาบอย่างมีชั้นเชิง ส่วนมุกตลกร้ายในเกมก็ยังแสบสันได้ใจ ทั้งการเกณฑ์ไก่ชนบ้าเลือดเข้ามาเป็นนักรบปลดแอก บทสนทนากับมือระเบิดผู้ชอบเรียกระเบิดในฐานะหญิงที่รัก หรือปืนยิงแผ่นเสียงที่เปิดเพลง Macarena เรียกแขกตลอดเวลา ฯลฯ ทั้งหมดนี้ต่างมีบทสนทนาสนุก ๆ เป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น

แน่นอนว่าบทพูดของตัวละครก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเนื้อเรื่อง และเรื่องราวของเส้นทางการปฏิวัติใน FAR CRY 6 ก็เข้มข้นและโหดสัสถึงใจกว่าทุกภาค ทั้งในแง่ของเส้นเรื่องที่มีโทนซีเรียสมากกว่าเดิม และในแง่ของฉากโหดที่โหดเลือดสาดแบบไม่มีเหนียม เข้ากับเส้นเรื่องของการปฏิวัตินองเลือดแบบตาต่อตาฟันต่อฟันในยาราเป็นอย่างดี โดยผู้เล่นจะต้องเข้าช่วยเหลือกองกำลังปฏิวัติ 3 ฝ่าย ในเนื้อเรื่อง 3 สไตล์ ได้แก่ ตระกูลดังเจ้าของที่ซึ่งเป็นกลุ่มอิทธิพลเก่าปะทะกับรัฐบาลทหาร วงดนตรีแรปที่แต่งเพลงแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อต้านทรราช และกลุ่มนักศึกษาหน้าใหม่ไฟแรงที่ต้องร่วมมือกับกลุ่มปฏิวัติรุ่นอาวุโส เพื่อโค่นรัฐบาลกับนายทุนที่หนุนหลัง (ทำไมมันฟังดูคุ้น ๆ จังนะ)​ ที่น่าสนใจคือเกมไม่เคยบอกเลยว่าฝ่ายกบฏ Libertad ที่ตัวเอก Danny Rohas เข้าร่วมเป็นกองกำลังบริสุทธิ์ผุดผ่อง มีแต่แสดงให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหาก็รังแต่จะทำให้ไฟปฏิวัติเผาทั้งสองฝ่ายจนมอดไหม้ไปด้วยกัน

สำหรับวายร้ายหลักในเกมอย่าง Antón Castillo ที่คุณ Giancarlo Esposito (จากซีรีส์ Breaking Bad และ The Mandalorian) ​เข้ามาสวมบทบาทให้ก็ร้ายอย่างมีเอกลักษณ์ แม้จะไม่ได้ร้ายบ้าคลั่งขนาด Vaas, Pagan หรือหลวงพ่อ Joseph แต่ก็เป็นตัวละครที่มีมิติและมีแรงจูงใจที่สมเหตุสมผล ทั้งยังมีบทในเส้นเรื่องมากกว่าวายร้ายของทุกภาค เรียกได้ว่าถึงจะไม่ได้ติดตาตรึงใจตั้งแต่แวบแรกระดับ Vaas แต่ฝีไม้ลายมือการแสดงและบทที่เขียนมาอย่างตั้งใจจะทำให้คุณอดคิดตามไม่ได้ว่าจุดยืนของ Castillo มีเศษเสี้ยวของความถูกต้องเหลืออยู่หรือไม่

นอกจากนี้ ภารกิจเนื้อเรื่องของ FAR CRY 6 ยังค่อนข้างยาวกว่าทุกภาค กินเวลาชีวิตแตะหลัก 20 ชั่วโมงได้สบาย ๆ ซึ่งการที่เกมยาวขึ้นก็ช่วยให้ทีมพัฒนามีเวลาเล่าเรื่องได้อย่างละเมียดมากขึ้น ไม่ได้รู้สึกว่ามีตัวละครไหนที่ถูกตัดจบลงดื้อ ๆ และเมื่อเคลียร์เกมจนจบก็รู้สึกได้ว่ามันจบอย่างบริบูรณ์แล้ว อ้อ! แล้วก็เกมยังหนีบฉากจบลับตั้งแต่ช่วงต้นเกมมาอีกแล้ว ลองสังเกตดูดี ๆ แล้วคุณจะรู้เองว่าอยู่ตรงไหน

ทัศนียภาพกว้างใหญ่เล่นเพลิน ท่ามกลางการปฏิวัติในประเทศสไตล์คิวบา

ข่าวดีสำหรับคอเกมสาย open-world ก็คือประเทศยาราน่าจะเป็นสถานที่พักร้อนในฝันของคุณได้เลย แผนที่ในเกมมีขนาดใหญ่มาก ทั้งยังสวยน่ามอง และทัศนียภาพก็ค่อนข้างหลากหลาย มีครบหมดทั้งแนวป่ากล้วยเขตร้อน ชายหาดและทะเลสีฟ้าสด และตึกรามบ้านช่องสไตล์โคโลเนียลแบบประเทศคิวบา ซึ่งงานออกแบบฉาก open-world ในเกมนี้ก็ยังทำได้ดีตามมาตรฐานเกม Ubisoft ทำให้เกมเมอร์สามารถเล่นไหลจนลืมเวลาไปได้เรื่อย ๆ จากสารพัดภารกิจและกิจกรรมสันทนาการที่มีอยู่อย่างกลาดเกลื่อน ทั้งแข่งรถ แข่งเรือ เล่นโดมิโน หรือเอาไก่ชนที่เก็บสะสมมาลงสนามต่อสู้แบบสตรีทไฟเตอร์ โดยระหว่างการขับรถไปหาเรื่องทำบนเกาะ คุณก็จะได้ฟังเพลงละตินเพราะ ๆ จังหวะโจ๊ะ ๆ คลอไปด้วย (มีเพลงฮิตอย่าง Havana หรือ Livin La’ Vida Loca ด้วยนะ) แถมบางครั้งตัวเอกยังร้องเพลงคลอตามไปด้วยนะ ช่วยเติมสีสันให้บรรยากาศระหว่างเล่นได้ดีทีเดียวเชียว

แผนที่ในเกม FAR CRY 6 ยังเปิดอิสระให้ผู้เล่นเลือกได้เต็มที่ว่าจะเล่นแบบไหน โดยในส่วนของภารกิจเนื้อเรื่อง ผู้เล่นจะต้องโค่นลูกสมุนทรราชทั้งหมด 3 คน ใน 3 ภูมิภาคของยารา จะเด็ดหัวคนไหนก่อนก็เอาที่คุณสบายใจได้เลย โดยผู้เล่นสามารถสลับทำภารกิจเนื้อเรื่องการปลดแอกข้ามภูมิภาคไปมาก็ได้ ซึ่งเกมก็จะปรับระดับความยากของศัตรูในภารกิจต่าง ๆ ให้อิงตามระดับเลเวลของผู้เล่นไปด้วย เพื่อไม่ให้ภารกิจเนื้อเรื่องที่สามารถเลือกเล่นได้ตั้งแต่ต้นง่ายเกินไปในช่วงหลัง นอกจากนี้ ในแผนที่ก็จะมีด่านตรวจ ฐานทัพ และสถานีต่อต้านอากาศยานกระจายอยู่ทั่วทุกระแหง ยิ่งคุณใช้เวลาทำลายสิ่งก่อสร้างของศัตรูมากเท่าไหร่ เกมก็จะเปิดให้คุณนำอาวุธหนัก สัตว์คู่หู หรือทหารกบฏมาเล่นงานศัตรูได้มากขึ้น ช่วยให้เกมเล่นง่ายขึ้นมากเท่านั้น

ส่วนฐานทัพศัตรูที่กระจายอยู่ทั่วแผนที่ก็เปิดให้คุณถล่มได้ตามใจชอบเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นการลอบเร้นเก็บศัตรูจากเงามืดจนเกลี้ยงฐาน หรือจะโดดร่มลงมาจี้รถถังกลางฐานแล้วยิงทุกอย่างที่ขวางหน้าก็เอาเลย ทั้งนี้ ฐานทหารเกือบทั้งหมดในเกมก็ได้รับการออกแบบให้มีทางเข้าออกได้หลายทาง ตอบโจทย์การเล่นของเกมเมอร์ได้ครบทุกสไตล์ ทั้งคอเกม FPS ทั่วไปและสาย open-world เล่นได้คุ้มแน่นอน

เกมเพลย์ฉบับสำเร็จรูปที่ไม่เห็นจะเฉียดคำว่าปฏิวัติ

FAR CRY 6 อาจจะพยายามปฏิวัติตัวเองในแง่การถ่ายทอดเรื่องราว แต่ในแง่เกมเพลย์นี่อย่าหวังว่าจะได้เจออะไรใหม่ที่เฉียดกับคำว่าปฏิวัติวงการเลยครับท่าน รูปแบบการเล่นในภาคนี้นี่เรียกได้ว่าพิมพ์ออกมาตามสูตรเดิมที่ใช้มาตลอดตั้งแต่ FAR CRY ภาค 3 อีกแล้วจ้า ทั้งการปลดแอกป้อมปราการ (Outpost) จากศัตรู​ เข้าป่าล่าสัตว์ หรือซิ่งรถติดป้อมปืนกลชมวิว แม้แต่ Asset ในเกมก็ยังขนมาจากภาคเก่าๆ เพียบเลย ทั้งเถาวัลย์สำหรับใช้ปีนเขา เชือก Grapple Hook ร่มชูชีพที่เอามาทาสีใหม่ จนบางทีอาจทำให้เกมเมอร์รู้สึกว่าเรากำลังเล่น “ภาคเสริม” ไซส์ใหญ่มากกว่า “ภาคใหม่” ด้วยซ้ำ แต่ข้อดีก็คือคนที่เป็นแฟนซีรีส์นี้อยู่แล้ว ก็จะสามารถเปิดเกมปุ๊บเล่นเป็นปั๊บได้เลยอะนะ

จุดเปลี่ยนหลักในเกมเพลย์ของภาคนี้ก็คือมันตัดระบบอัปเกรดสกิลตัวละครที่เคยใช้ในภาค 3, 4, 5 และ New Dawn ออกไปทั้งดุ้นเลย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ศัตรูเลเวลสูง ๆ มักจะอึดเกินมนุษย์ รวมทั้งทำให้ FAR CRY 6 มีดีเอ็นเอของความเป็นเกม FPS ของแท้และดั้งเดิมมากกว่าการเป็นเกมลูกผสมกับแนว RPG โดยเกมยังคงระบบเลเวลเอาไว้ แต่หน้าที่หลักของมันคือเป็นตัวบอกใบ้ว่าคุณพร้อมจะเข้าไปลุยในพื้นที่โซนไหนแล้วบ้าง โดยเลเวลของตัวละครคุณจะขึ้นอยู่กับระดับความแกร่งของกลุ่มกบฏ Libertad เสื้อผ้า อาวุธที่คุณปลดล็อกออกมาได้ และของอัปเกรดสำหรับปืนและแบ็กแพ็ก Supremo ที่คุณสามารถสามารถสลับสับเปลี่ยนไปใช้อาวุธหรืออุปกรณ์อะไรก็ได้ในระหว่างเล่น

ในส่วนของ Supremo และอาวุธประหลาด Resolver Weapon ที่มีให้เลือกใช้หลายอย่างก็เป็นเหมือนน้ำจิ้มสนุกๆ ไม่ว่าจะเป็นแบ็กแพ็กยิงจรวด ยิงยาพิษ หรือยิงระเบิด EMP ทำลายยานพาหนะ มันทำหน้าที่เหมือนกับท่าไม้ตายเอาไว้ให้คุณใช้ยามจนตรอก นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้คุณใช้อัพเกรดความสามารถพิเศษนิด ๆ หน่อย ๆ ให้กับตัวละครของคุณไปด้วย อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้ส่งผลกับประสบการณ์ในการเล่นมากมายแบบที่ทีมเขาโม้ ส่วนปืนและยานพาหนะทั่วไปก็สามารถอัพเกรดติดอุปกรณ์เสริมได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นเปลี่ยนสไตล์การเล่นไปเลยแบบเกม Escape from Tarkov

สำหรับ AI ศัตรูในเกมนี่บอกเลยว่ายังทึ่มไม่เปลี่ยน และไม่ได้มีพัฒนาการทาง IQ จากเกมภาคที่ 3 เท่าไหร่เลย ปฏิกิริยาตอบสนองเวลาจ๊ะเอ๋กับเราก็ช้าเหลือเกิน กว่าจะชักปืนขึ้นมาโวยวายก็มักจะโดนเด็ดหัวทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว ยังดีที่พวกมันใช้จำนวน ความหลากหลายของอาวุธยุทโธปกรณ์ และรูปแบบกำลังเสริมที่หลากหลายมาชดเชย จัดเต็มทั้งหน่วยศัตรูสวมเกราะหนัก เฮลิคอปเตอร์จู่โจม หรือแม้แต่รถถัง ทำให้ผู้เล่นต้องปรับวิธีการต่อสู้ไปตามสถานการณ์ถ้าไม่อยากตายง่าย ๆ

แต่จุดที่น่าเสียดายมากก็คือรูปแบบภารกิจในภาคนี้ค่อนข้างจำเจ ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่คุณเคยผ่านตามาหมดแล้วทั้งนั้น เช่น ช่วยไปลอบสังหารคนนั้นที่ฐานนู้นที ลอบเร้นเข้าไปเก็บของในฐานนี้ให้หน่อย เสร็จแล้วก็เดินไปคุ้มกันตรงนั้นให้ด้วย อะไรเทือกนี้วนไปเรื่อยๆ ยังดีที่เกมมีองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยแก้เบื่อจากความซ้ำซากของภารกิจอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือฐานศัตรูได้รับการออกแบบให้สามารถเข้าตีได้หลายทาง ทำให้ผู้เล่นมีอิสระในการเปิดศึกกองโจรของตัวเอง ส่วนเรื่องที่ 2 คือเกมเน้นให้ผู้เล่นรู้จักสู้อย่างฉลาดมากกว่าแค่การเดินเข้าไปยิงแหลกท่าเดียว เพราะตัวเอก Danny Rohas ไม่ได้อึดเป็นคนเหล็ก อย่างไรก็ตาม หากใครอยากมองหาเกม FAR CRY ที่ให้ประสบการณ์เกมเพลย์ที่ฉีกออกจากขนบของ FAR CRY ขอเตือนไว้เลยว่าไปหาเกมอื่นเล่นเถอะครับ 

แม้นี่จะไม่ได้เป็นการปฏิวัติอันจริงแท้ แต่มันคือพัฒนาการของซีรี่ส์

นอกจากฟีเจอร์ทั้งเก่าทั้งใหม่ทั้งหมดที่กล่าวมา (ส่วนใหญ่จะเก่า)​ เกมยังมีโหมดมัลติเพลเยอร์มาให้เล่นกับเพื่อนได้ 2 โหมด แบบแรกคือเล่น Co-op ด้วยกันตามเนื้อเรื่องไปเลย และแบบที่ 2 คือทำทำภารกิจพิเศษร่วมกับเพื่อนในแผนที่ SPEC OPS ที่ตอนนี้มีให้เล่น 2 ด่านและจะมีมาเพิ่มอีก 4 ด่านในอนาคต น่าเสียดายที่เรายังไม่มีโอกาสได้ลองโหมดเหล่านี้ตอนรีวิว แต่ถ้าวัดจากแผนที่ในเกมที่ค่อนข้างเปิดกว้างมาก ก็คงจะพอบอกได้ว่าการร่วมกันถล่มข้าวของพร้อมกัน 2 ย่อมให้ประสบการณ์ที่มั่วมันส์มากกว่านั่งเล่นคนเดียว นอกจากนี้เกมยังมีตัวเลือกให้ปรับแต่งกราฟิกได้มากมายบนเวอร์ชัน PC แต่หากคุณอยากดันงานภาพในเกมนี้ให้ไปถึงขั้นสุด คุณคงต้องพึ่งเครื่อง PC สเปกแรงพอสมควรเลยทีเดียว ขนาดการ์ดจอ RTX 3070 ของกระผม เจอเปิด Ultra ที่ความละเอียด 1080p เข้าไปยังรีดเฟรมเรตได้แค่ประมาณ 30 fps เท่านั้น ส่วนเรื่องบั๊กในเกมก็ยังมีให้เห็นบ้างประปราย เช่น texture HD ที่โหลดใช้แล้วภาพจางกว่าเดิม กดลงจากรถแล้วตายคาที่เลยก็มี บางทีก็เห็นตัวละครในเกมวาร์ปไปวาร์ปมาบ้าง แต่โดยรวมถือว่าน้อยแล้วสำหรับเกม AAA ในยุคนี้

สุดท้าย คำถามสำคัญเรื่องคำว่า “ปฏิวัติ” ใน FAR CRY 6 นั้นจริงแท้แค่ไหนสำหรับตัวเกมภาคนี้ ก็คงตอบได้ง่าย ๆ อย่างตรงไปตรงมาว่ามันอยู่ในธีมเรื่องของเกมนี้เท่านั้นครับ เกมเพลย์ทั้งหมดคือสิ่งที่คุณเคยเห็นหรือเคยทำมาแล้วตั้งแต่เกมภาค 3 วางตลาดในปี 2012 ทีมพัฒนาเขาแค่เอาของที่พวกเขาสั่งสมมานาน 9 ปีมาเขย่าให้ลงตัวมากขึ้น และหันไปใส่ใจกับการเล่าเรื่องมากกว่าเดิม FAR CRY 6 อาจจะยังปฏิวัติตัวเองไม่สำเร็จ แต่ก็ถือว่ามันได้ก้าวไปอีกหนึ่งก้าวได้อย่างถูกที่ถูกทาง สักวันหนึ่งมันอาจจะก้าวไปถึงเส้นชัยแห่งการปฏิวัติวงการ FPS ก็ได้ ใครจะรู้ เพียงแต่มันยังไม่ใช่วันนี้ก็เท่านั้น

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส