จบกันไปเรียบร้อยแล้วกับการประมูลคลื่น 1800 MHz หรือเรียกกันติดปากว่าการประมูลคลื่น 4G ที่ใช้เวลาประมูลลากยาวร่วม 30 ชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 11 พฤศจิกายน ถึงช่วงค่ำของวันที่ 12 พฤศจิกายน เรียกได้ว่าเป็นการประมูลครั้งแรกๆ ที่ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมลุ้นยาวนานถึงขนาดนี้ (นี่ยังเบาะๆ นะ ในเยอรมันประมูลคลื่น 4G กันไปเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เคาะกันไป 181 รอบ ใช้เวลาประมูล 16 วัน! ได้เงิน 5,000 ล้านยูโร)

โดยผลการประมูลจบลงที่รอบ 86 ได้ผู้ชนะการประมูลชุดคลื่นความถี่ที่ 1 คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในราคาสุดท้าย 39,792 ล้านบาท และชุดคลื่นความถี่ที่ 2 ผู้ชนะคือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด ราคาสุดท้าย 40,986 ล้านบาท

และผู้แพ้ทั้ง 2 เจ้า คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ได้ให้ราคาสุดท้าย ที่คลื่นความถี่ที่ 1 ในราคา 38,996 ล้านบาท บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้ประมูลคลื่นความถี่ที่ 1 ในราคาสุดท้าย 17,504 ล้านบาท การประมูลครั้งนี้ได้มูลค่ารวมทั้งสิ้น 80,778 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าการประมูลทีวีดิจิทัลที่เราเคยตื่นเต้นกับตัวเลข 50,862 ล้านบาท

ทำไมค่ายมือถือถึงต้องแย่งชิงคลื่นความถี่กันถึงขนาดนี้

คลื่นความถี่นั้นเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดของชาติ และผู้ให้บริการมือถือทุกค่ายมีตัวเลขในมือว่าที่ผ่านมาการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของคนไทยนั้นเติบโตมากขึ้นขนาดไหน การจะเติบโตต่อไปได้จึงเป็นการแข่งขันในแง่ของคุณภาพบริการ ซึ่งสัมผัสกับจำนวนคลื่นความถี่ที่ถืออยู่มาก

เมื่อผู้ใช้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นตลอด ค่ายมือถือก็ต้องแสวงหาทรัพยากรที่สำคัญอย่างคลื่นความถี่มาไว้ในมือ ซึ่งการประมูลคลื่นในไทยก็จัดกันไม่ใช่ง่าย โดนล้มประมูลมาก็บ่อย บริษัทต่างๆ ย่อมไม่อยากนำธุรกิจไปแขวนอยู่บนเส้นด้ายที่ต้องลุ้นกันลมจับว่าจะได้ประมูลกันเมื่อไหร่ ผลที่เห็นคือการทุ่มทุนมหาศาลเพื่อซื้ออนาคตให้บริษัทจนอุ่นใจไว้ก่อน เพราะถ้าวันดีคืนดีสัมปทานเดิมหมด แล้วไม่มีการจัดประมูล บริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ก็อาจล้มได้ในพริบตา

นอกจากนี้การที่ค่ายมือถือยิ่งถือคลื่นความถี่ไว้ในมือมาก ก็สามารถนำไปใช้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้กว้างเช่นกัน อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ออสเตรเลียเพิ่งทดสอบ 4G ความเร็ว 1 Gbps ได้ เพราะสามารถรวมคลื่นความถี่ 4 ย่าน ได้ความกว้างของสัญญาณ 100 MHz จึงสามารถทำความเร็วขนาดได้นี้ ซึ่งค่ายมือถือไทยก็สามารถนำหลายๆ ย่านความถี่มารวมกันเพื่อสร้างความได้เปรียบของผลิตภัณฑ์เช่นกัน

แล้วมูลค่าการประมูลที่สูงขนาดนี้ จะทำให้ค่าบริการสูงขึ้นหรือไม่

ก่อนอื่นคงต้องบอกว่าการจัดประมูลที่ไม่มีการฮั้วกันแบบนี้ ทำให้เราทราบราคาที่แท้จริงของคลื่นความถี่ เพราะคลื่นที่มองไม่เห็นนี้จัดเป็นสินทรัพย์ที่ประเมินราคาได้ยาก เมื่อมีผู้สนใจให้บริการ และแข่งราคากันไปจนจบก็ทำให้เราเห็นราคาที่เป็นไปได้ของคลื่น 1800 MHz

แล้วมูลค่าการประมูลเทียบกับเงินสัมปทานที่เคยจ่ายก็ถือว่ายังน้อย โดย AIS เคยเปิดเผยว่าให้ส่วนแบ่งรายได้กับ TOT ตลอดสัมปทาน 25 ปีมากกว่า 240,000 ล้านบาท (ปีละ 9,600 ล้านบาท) และยกทรัพย์สินให้อีกมากกว่า 186,000 ล้านบาท ส่วนการประมูลครั้งนี้ AIS ได้สิทธิ์ 18 ปี จ่ายเงิน 40,986 ล้านบาท หรือคิดคร่าวๆ ก็ปีละ 2,275 ล้านบาท ค่าใบอนุญาตจึงถูกกว่าค่าส่วนแบ่งที่เคยจ่ายถึง 4 เท่า

นอกจากนี้ราคาค่าบริการนั้นเป็นการแข่งขันระหว่าง 3 ค่าย และความสมัครใจของผู้ใช้บริการ ในโลกของการแข่งขันนี้ เมื่อผู้ใช้ไม่พอใจบริการหรือค่าบริการค่ายหนึ่ง ก็พร้อมย้ายค่ายไปซบอีกฝั่งหนึ่งได้ตลอดเวลา ราคาจึงถูกกำหนดด้วยกลไกตลาดเป็นหลัก

และหากใครกังวลว่าอัตราค่าบริการจะสูงขึ้นอีก กสทช. ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการเสนออัตราค่าบริการที่ต่ำกว่าค่าบริการเฉลี่ยของการให้บริการบนคลื่น 2100 MHz ซึ่งผู้ให้บริการก็ต้องทำตามกฎข้อนี้ของการประมูลด้วยเช่นกัน