หลังจากเกาะติดสำรวจดูว่าปีนี้จะมีภารกิจอวกาศรอบโลกอะไรน่าตื่นเต้นบ้างในบทความ ปักหมุดไว้ให้ดี กับภารกิจอวกาศที่น่าตามลุ้นตามชมตลอดปี 2021 คราวนี้เราจะมาเผย 10 เรื่องดาราศาสตร์เด่นที่หน่วยงานดาราศาสตร์ของไทยอย่าง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม รวบรวมและแนะนำในติดตามกันบ้าง หลายเรื่องนอกจากจะติดตามทางข่าวแล้วก็สามารถสังเกตด้วยตัวเองได้ และก็ยังมีความคืบหน้าที่น่าสนใจในแวดวงดาราศาสตร์ไทยด้วย จะมีอะไรบ้างนั้นมาติดตามกัน
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แถลงข่าวผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เปิดประเด็น ’10 เรื่องดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2564′ เผยเทรนด์เน้นพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูงสู่สังคม และปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าติดตามต่าง ๆ
สำหรับประเทศไทย ปีนี้มีเรื่องเด่นคืบหน้าชวนจับตา คือ 2 ภาคีความร่วมมือสำคัญคือ ภาคีความร่วมมือวิจัยบรรยากาศแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังแก้ปัญหา PM2.5 และ ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย วางแพลตฟอร์มดันไทยสู่วงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอวกาศ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องหนุนแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์อย่าง ‘เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย’ และเปิดนิทรรศการดาราศาสตร์โซนใหม่และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่อีกด้วย
เอาละ เกริ่นมาเยอะแล้ว เรามาลองดูไปทีละเรื่องดีกว่าว่ามีรายละเอียดอะไรยังไงบ้าง
1- ดวงจันทร์บังดาวอังคาร (Occultation of Mars by the Moon)
17 เมษายน 2564 จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวอังคาร เริ่มปรากฏการณ์เวลาประมาณ 20:12 น. จะสังเกตเห็นดาวอังคารค่อย ๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์ และดาวอังคารจะโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในเวลาประมาณ 21:28 น.
2- ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้ – ไกลโลกที่สุดในรอบปี (Super Full Moon & Micro Full Moon)
ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี หรือ Super Full Moon จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 เมษายน 2564 ส่วนดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ Micro Full Moon จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2564
3- จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse)
26 พฤษภาคม 2564 ในประเทศไทยจะเห็นดวงจันทร์โผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:42 น. จึงมองเห็นจันทรุปราคาบางส่วนตั้งแต่เวลา 17:42 – 18:52 น. รวมเวลาทั้งสิ้น 1 ชั่วโมง 10 นาที โดยสังเกตได้ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
4- ปรากฏการณ์สำคัญเกี่ยวกับดาวเคราะห์
- ดาวเสาร์ใกล้โลก ในวันที่ 8 สิงหาคม 2564
- ดาวพฤหัสบดีใกล้โลก ในวันที่ 20 สิงหาคม 2564
- ดาวศุกร์อยู่ในตำแหน่งสว่างที่สุด ในวันที่ 7 ธันวาคม 2564
5- การพัฒนาเทคโนโลยีดาราศาสตร์สู่สังคม : AstroFab (Astronomy Fabrication Laboratory)
NARIT จะเปิดแล็บดาราศาสตร์ ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงาน ต่อยอดความคิด นำมาประดิษฐ์คิดค้นชิ้นงาน โดยจะสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมืออันทันสมัยทั้ง Hardwares และ Softwares ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง พร้อมผู้เชี่ยวชาญแนะนำการใช้งาน นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีต้นแบบ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง เสริมสร้างศักยภาพกำลังคนของประเทศ ให้สามารถต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจได้
(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)