ฟังดูอาจเหลือเชื่อ ว่านกจะลืมวิธีการร้องเพลงได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วนกก็ส่งเสียงร้องกันไปมาได้เลยหรอ แล้วถ้านกลืมวิธีการร้องเพลงไปจริง ๆ ล่ะ จะเกิดอะไรขึ้นกันนะ 

ความจริงแล้วท่วงทำนองที่เราได้ยินเสียงนกร้อง นกเรียนรู้มาจากพ่อแม่และบรรพบุรุษของมันสืบต่อกันมา ดังนั้นหากมีเหตุให้มันไม่มีโอกาสได้ยินเพลงต้นฉบับมาก่อน เหล่านกน้อยรุ่นใหม่ก็จะไม่สามารถร้องเพลงได้นั่นเอง

งานวิจัยใหม่พบว่า การสูญเสียเมโลดี้และบทเพลงอาจเป็นหายนะสำหรับนกขับขานที่หายากที่สุดชนิดหนึ่งของออสเตรเลียนั่นคือ ‘นกรีเจนต์ฮันนีอีตเตอร์ (Regent Honeyeater)’

หน้าตาของนก‘นกรีเจนต์ฮันนีอีตเตอร์ (Regent Honeyeater)’ ที่ใกล้สูญพันธ์ุ
Credit : Dean Ingwersen

เมื่อก่อนเคยมีฝูงนกสายพันธุ์นี้หลายร้อยตัวทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย และปัจจุบัน คาดว่าอาจเหลืออยู่ในป่าเพียงไม่กี่ร้อยตัวเท่านั้น

นกชนิดนี้เป็นที่รู้กันว่า การเลียนแบบท่วงทำนองการขับขานจากสายพันธุ์อื่น เช่น นกฟริอาร์เบิร์ด นกเคอราวงส์และนกกาเหว่า แต่เรายังไม่มีทฤษฎีที่ชัดเจนที่อธิบายว่าทำไมพวกมันถึงทำเช่นนั้น

ดีน อิงเวนเซน (Dean Ingwersen) หัวหน้าโครงการนกในป่าที่ BirdLife Australia ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูชาติสำหรับนกดังกล่าว และผู้ศึกษาร่วมในงานวิจัยชิ้นล่าสุด อธิบายว่า เดิมเป็นที่เชื่อกันมาโดยตลอดว่า พรสวรรค์ในการเลียนแบบเสียงของนกชนิดนี้เป็นกระทำด้วยความตั้งใจ โดยมีทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อกันมากคือ พวกมันเลียนแบบการผสมผสานเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกนกอื่นทำร้าย

จากการศึกษาพบว่า การเลียนแบบนี้ อาจไม่ใช่แค่การแสดงทักษะของนกตัวผู้เพื่อดึงดูดตัวเมีย แต่อาจเป็นอาการของ “การสูญเสียการเปล่งเสียงที่เป็นอัตลักษณ์” ซึ่งอาจทำให้นกหาคู่ได้ยากขึ้น

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

ดร. รอส คราเต (Dr Ross Crates) นักนิเวศวิทยาจากโรงเรียนสิ่งแวดล้อมและสังคมเฟนเนอร์ (Fenner school of environment and society) ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) และผู้นำงานวิจัย อธิบายว่าปรากฏการณ์นี้อาจเกิดจาก การที่มีประชากรนกจำนวนน้อยมากจนนกรุ่นหนุ่มไม่มีโอกาสเรียนรู้การเรียกหาคู่จากนกรุ่นใหญ่ตัวอื่น ๆ “นกที่น่าสงสารเหล่านี้ไม่มีแม้กระทั่งโอกาสที่จะเรียนรู้ว่าพวกมันควรจะร้องเพลงอะไร”

เมื่อนกเหล่านี้เป็นลูกนก นกตัวผู้จะเก็บเสียงเงียบเพื่อหลีกเลี่ยงความสนใจจากนกเกิดใหม่ นั่นหมายความว่ากว่ามันจะได้เรียนรู้บทเพลงจากนกรุ่นใหญ่ นั่นก็คือยามที่มันเริ่มเติบโตเป็นนกหนุ่มแรกรุ่นแล้ว ซึ่งถ้าหากไม่มีนกรุ่นใหญ่แบบนั้นอยู่รอบ ๆ มันก็จะเลียนแบบเสียงร้องจากนกสายพันธุ์ที่อยู่ใกล้ และนั่นก็จะไม่ได้ช่วยเรียกนกตัวเมียให้มาผสมพันธุ์

จากรายงานการศึกษาของของคราเต ในวารสาร Proceedings of the Royal Society B ก็ชี้ให้เห็นว่า นกที่ไม่เรียนรู้การร้องเพลงตามปกติ มีโอกาสที่จะหาคู่ครองได้น้อยลง

โดยการศึกษางานวิจัยนี้ นักวิจัยได้นำเสียงบันทึกมาวิเคราะห์ย้อนกลับไปถึงปี 1986 อิงเวนเซนกล่าวว่า ยิ่งเวลาผ่านไปความซับซ้อนของท่วงทำนองก็ดูจะลดน้อยถอยลงไปทุกที 

เพื่อพิสูจน์การค้นพบนี้ ทีมวิจัยจึงจัดการทดสอบขึ้น นำไปใช้ในโครงการเพาะพันธุ์นก ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้หน่วยงาน Taronga Conservation Society

หลายปีผ่านไป นกรุ่นเยาว์ได้เรียนการร้องเพลงจากเสียงร้องของนกรุ่นใหญ่ผ่านลำโพงที่ต่อเชื่อมกับกรง และขณะนี้ ทีมวิจัยได้นำนกโตเต็มวัยสองตัวที่จับมาจากป่า มาไว้ที่กรงข้าง ๆ เพื่อให้นกรีเจนต์ฮันนีอีตเตอร์ วัยละอ่อนเรียนรู้บทเพลงที่ถูกต้องก่อนกลับคืนสู่ป่า ซึ่งก็ต้องลุ้นว่าจะช่วยให้นกเหล่านี้เรียนรู้ได้หรือไม่

นกรีเจนต์ฮันนีอีตเตอร์โตเต็มวัยและลูกนกสายพันธุ์เดียวกัน
Credit : Mick Roderick/Australian National University

ไม่เคิล เชลส์ (Michael Shiels) ผู้ดูแลแผนกนกในสมาคมอนุรักษ์ตั้งคำถามว่า นกเหล่านี้จะมีอัตราการอยู่รอด การเพิ่มประชากรสูงขึ้นหรือไม่ ถ้ามันร้องเพลงได้ดีกว่านั้นเรายังไม่รู้แน่ชัด แต่ที่แน่ ๆ ลองไปก็ไม่เสียหาย เราจะดูแลนกเหล่านี้ให้ดีที่สุดก่อนปล่อยกลับคืนสู่ป่า”

อ้างอิง: Theguardian.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส