เมื่อพูดถึงเจ้าแมวไร้หูตัวสีฟ้าที่มาจากโลกอนาคต เชื่อว่าหลายคนคงต้องรู้ทันทีว่าสิ่งนั้นหมายถึง โดราเอมอน (Doraemon) หุ่นยนต์แมวที่ถูกส่งมาจากโลกอนาคตคริสต์ศตวรรษที่ 22 เพื่อมาฆ่า โนบิ โนบิตะ (Nobi Nobita) เด็กชายผู้ไม่เอาไหนที่ในอนาคตเขาจะเป็นผู้นำของมนุษย์ปกป้องโลก ทางหุ่นยนต์เลยส่งโดราเอม่อนมาจัดการเขา(ผิดเรื่องขออภัย) ความจริงแล้วโดราเอม่อนถูกส่งมาจากเหลนของโนบิตะที่ชื่อ เซวาชิ โนบิ (Sewashi Nobi) ด้วยเหตุผลที่เจ้าตัวบอกเพียงว่าต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต ให้คุณทวดได้แต่งงานกับ มินาโมโต้ ชิซุกะ (Shizuka Minamoto) แทน ไจโกะ โกดะ (Jaiko Gouda) เพื่อเปลี่ยนอนาคต ทั้งที่โนบิตะเองก็คัดค้านว่าการเปลี่ยนอนาคตคือสิ่งที่ผิดแต่เซวาชิก็ยืนยันในเรื่องนี้จนเกิดเป็นเรื่องราวต่าง ๆ มาจนถึงตอนนี้ และนี่คือ 20 เรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับโดราเอมอนที่คุณอาจไม่เคยรู้

Doraemon

Fujiko Fujio ผู้ให้กำเนิดเจ้าแมวสีฟ้า

Fujiko Fujio

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวของโดราเอมอน เรามาทำความรู้จักผู้ให้กำเนิดเจ้าแมวสีฟ้ากันก่อนว่า ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujiko Fujio) คือใครและมีผลงานอะไรที่เป็นตำนานนอกจากการ์ตูนเรื่อง ‘Doraemon’ เริ่มจากชื่อจริงของ ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ นั้นก็คือ ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ (Hiroshi Fujimoto) เกิดวันที่ 1 ธันวาคมปี 1933 เสียชีวิตวันที่ 23 กันยายนปี 1996 อายุ 62 ปี ตั้งแต่เด็กฮิโรชิมีความฝันอยากจะเป็นนักเขียนการ์ตูน แต่ด้วยความที่เป็นลูกชายคนโตของบ้านจึงต้องสืบทอดกิจการ แต่นั่นก็ไม่มีทางหยุดความฝันที่อยากวาดรูปได้ ด้วยความพยายามหลังจากล้มมาหลายครั้งก็มีผลงานแรกในชื่อ ‘Utopia saigo no sekai taisen’ ที่เป็นเรื่องราวของสงครามอวกาศ ที่วาดร่วมกับนักเขียนหน้าใหม่ในยุคนั้นอย่าง เทซูกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ก่อนจะมีการ์ตูนเป็นของตัวเองที่ทั้งคิดเรื่องและวาดทั้งหมดในชื่อ ‘Obake no Q-Tarō’ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “ผีน้อยคิวทาโร่” นั่นเอง ส่วนผลงานสุดท้ายของอาจารย์ก็คือเรื่อง ‘Ijin Andoro-shi’ เรื่องสั้นที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1995 หนึ่งปีก่อนอาจารย์เสียชีวิต ที่แม้จะจากไปแต่ผลงานของอาจารย์ก็ยังอยู่ในใจเด็ก ๆ ตลอดไป

Fujiko Fujio

กำเนิด Doraemon

Doraemon

คราวนี้มาดูต้นกำเนิดที่แท้จริงของโดราเอมอนกันบ้าง โดยต้องเวลากลับไปในช่วงปี  1969 ในนิตยสารโชงะกุอิชิเน็นเซ ที่เป็นนิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 1 แต่ตัวอาจารย์ฟูจิโกะยังไม่รู้เลยว่าจะวาดเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร แต่ใบปิดโฆษณากลับถูกปล่อยออกไปแล้ว(รูปประกอบด้านล่าง) อาจารย์จึงต้องรีบคิดว่าจะวาดเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ที่แม้จะคิดเท่าใดก็คิดไม่ออก(ข้อมูลจากหนังสือ ‘Doraemon Vol.0’) ที่แม้อาจารย์จะกลับไปที่บ้านพบครอบครัวเขาก็ยังคิดไม่ออก ทางสำนักพิมพ์ก็คอยตามเรื่องกำหนดส่งต้นฉบับ ในระหว่างที่อาจารย์กำลังนอนคิดเขาก็พบแมวจรที่คุ้นเคยมาหา และคืนนั้นก็หมดไปกับการหาหมัดให้แมว จนรุ่งเช้าอาจารย์ที่รนรานก็ไปเห็นตุ๊กตาล้มลุกของลูกสาว จนได้ไอเดียแมวตัวอ้วนกลมที่มาจากอนาคตที่มาช่วยนักเขียนการ์ตูนผู้ไม่ได้ความ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเด็กชายผู้ไม่เอาไหนเพื่อให้เข้ากับเนื้อหานิตยสาร จนกำเนิดเป็น ‘Doraemon’ ที่ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคมปี 1969 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจซึ่งหลายคนอาจจะไม่ทราบ

Doraemon

วันที่ Doraemon มาหา Nobita

Doraemon

ต่อเนื่องจากหัวข้อที่แล้วหลังจากที่ได้ตัวละครต่าง ๆ มาแล้ว ก็ถึงเวลาที่เจ้าแมวสีฟ้าต้องมามีบทบาทในการ์ตูน ซึ่งหลายคนที่ได้อ่านการ์ตูน ‘Doraemon’ ตั้งแต่เล่มแรกมาจะทราบดีว่าครั้งแรกที่โดราเอมอนปรากฏตัวออกมาให้โนบิตะเห็นคือวันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันปีใหม่ที่จู่ ๆ โดราเอมอนก็ปรากฏตัวมาจากลิ้นชักของโนบิตะ และหยิบเอาขนมโมจิมากินก่อนจะจากไปและกลับมาอีกครั้งพร้อมเซวาชิ ที่บอกถึงอนาคตที่โนบิตะต้องแต่งงานกับไจโกะ ซึ่งฉากเปิดตัวที่เรารับทราบนี้เป็นหนึ่งใน 6 ฉากเปิดตัวของโดราเอม่อนที่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่ เพื่อรวบรวมลงในฉบับรวมเล่ม ขณะที่ฉากเปิดตัวอีก 5 ครั้งที่ผ่านมานั้นคือการเปิดตัวในนิตยสารโชงะกุอิชิเน็นเซ ที่เป็นนิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงปีที่ 4 ที่เมื่อเด็กขึ้นชั้นเรียนใหม่ก็จะได้อ่านเรื่องราวของโดราเอม่อนและเพื่อน ๆ ใหม่นั่นเอง ซึ่งใครที่อยากอ่านเรื่องราวการเปิดตัวทั้ง 6 ครั้งที่กล่าวมาก็ไปหา ‘Doraemon Vol.0’ ที่บอกเลยว่าการเปิดตัวทั้ง 6 ครั้งไม่ซ้ำกันเลย

Doraemon

ตอนจบที่ไม่จบของ Doraemon

Doraemon

เมื่อมีตอนเริ่มก็ต้องมีตอนจบซึ่งสำหรับคนที่ไม่ทราบ ก็อาจจะพูดว่าการ์ตูนเรื่อง ‘Doraemon’ นั้นไม่มีวันจบนั่นไม่เป็นความจริงเลย เพราะจากข้อมูลบอกว่าอาจารย์ฟูจิโกะพยายามจะจบเรื่องราวของโดราเอมอนมาแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงฉลองครบรอบ 1 ปีที่การ์ตูน ‘Doraemon’ ตีพิมพ์ในช่วงปี 1971 อาจารย์ฟูจิโกะได้เขียนตอนจบเอาไว้ว่ามีคนจากโลกอนาคตมาวุ่นวายในโลกอดีตมากไป จนทำให้ตำรวจกาลเวลามาปิดการเดินทางข้ามเวลาโดราเอม่อนจึงต้องกลับไปด้วย ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี 1972 ที่โดราเอมอนเกิดเสียจนต้องกลับไปอยู่ที่โลกอนาคต ทางฝั่งโนบิตะที่ไม่มีโดราเอมอนก็พยายามเข้มแข็งด้วยตัวเอง กับตอนจบที่ 3 ที่เรารู้จักกันกับการเดินทางกลับไปโลกอนาคตเมื่อถึงเวลากำหนดในชื่อตอนว่า “ลาก่อนโดราเอมอน” ในปี 1974 ก่อนโดราเอมอนไปโนบิตะได้ไปท้าชกกับไจแอนท์เพื่อให้โดราเอมอนรู้ว่าตนเองนั้นเก่งพอจะอยู่คนเดียวได้ และก่อนไปโดราเอมอนได้ให้น้ำยาโกหกเอาไว้ พอดื่มโนบิตะก็พูดว่าโดราเอมอนไม่มีทางกลับมาหรอก แต่สุดท้ายโดราเอมอนก็กลับมานับเป็นตอนจบที่หลายคนชื่นชอบที่สุด ซึ่งเราสามารถดูตอนจบนั้นได้ใน ‘Stand by Me Doraemon’ ที่เอาตอนจบในหนังสือมาทำได้อย่างลงตัวเลยทีเดียว

Doraemon

สิ่งต่าง ๆ ในตัว Doraemon ที่คุณอาจไม่เคยรู้

Doraemon

คราวนี้มาดูสิ่งต่าง ๆ ในตัวโดราเอมอนกันบ้าง ว่าเขาเป็นถึงหุ่นยนต์แมวจากอนาคตจะมีอะไรที่ดูเป็นหุ่นยนต์บ้าง เริ่มจากดวงตาที่สามารถมองเห็นในที่มืดได้ แต่ระบบนี้เสียจึงทำให้มองได้ปกติเท่านั้น จมูกที่ดมกลิ่นได้ดีกว่ามนุษย์ถึง  20 เท่าแต่ตอนนี้เสียทำได้เพียงดมกลิ่นปกติเท่ามนุษย์ หมวดเรดาร์ค้นหาวัตถุที่ต้องการได้แต่ก็เสีย กระพรวนเรียกแมวมาชุมนุมที่ก็เสีย มือที่มีพลังลมในการจับสิ่งของอันนี้ใช้งานได้ปกติ และที่หลายคนไม่ทราบในอุ้วมือโดราเอมอนจะมีนิ้วอยู่หนึ่งนิ้วไว้จิ้มสิ่งต่าง ๆ กระเป๋ามิติที่ 4 ใบเก่าที่มาพร้อมโรงงานชำรุดจนได้ใบใหม่มา เราจึงได้เห็นโดราเอมอนมีกระเป๋า 2 ใบ และที่สงสัยว่าทำไมโดราเอมอนต้องกินอาหารเพราะภายในมีระบบพลังงานนิวเคลียร์ ที่เปลี่ยนอาหารเป็นพลังงานได้ ส่วนหางก่อนหน้านี้จะเป็นเหมือนปุ่มเปิดปิดการใช้งานของโดราเอมอน แต่ภายหลังเปลี่ยนไปเป็นแค่หางธรรมดา ส่วนหูที่ถูกกัดไปนั้นเป็นเพียงเครื่องประดับไม่ใช่การใช้งาน เพราะหูจริง ๆ จะอยู่ด้านข้างเหมือนหูมนุษย์(รูปประกอบด้านบน)

Doraemon

สาเหตุที่หนูไปกัดหู Doraemon

Doraemon

ย้อนกลับไปในอดีตหลังจากที่โดราเอมอนเกิดขึ้นมาพร้อมกับความผิดพลาด เพราะโดราเอมอนถูกลูกหลงจากปืนที่ตำรวจกับโจรไล่กันมาจนถึงโรงงานผลิตหุ่น จนทำให้โดราเอมอนกลายเป็นหุ่นที่ไม่ผ่านมาตรฐาน จึงต้องไปอยู่ในโรงเรียนสอนหุ่นเพื่อให้กลับมาเป็นหุ่นที่ดี ถ้ายังไม่ผ่านก็จะถูกทำลายทิ้ง ซึ่งสุดท้ายโดราเอม่อนก็ไม่ผ่านมาตรฐานโรงงานแม้จะถูกขายเลหลังเป็นของมือสอง จนสุดท้ายก็ได้เซวาชิในตอนเด็กทารกมากดปุ่มประมูลในวินาทีสุดท้าย นับจากนั้นโดราเอมอนก็เลี้ยงดูเซวาชิเรื่อยมา ตอนนั้นโดราเอมอนก็ยังเป็นแมวทั่วไปที่ไล่หนู จนวันหนึ่งเซวาชิที่กำลังนั่งปั้นตุ๊กตาโดราเอมอนก็บ่นออกมาว่า “หูโดราเอมอนไม่สวยเลยเอาออกไปดีไหมนะ” หุ่นยนต์หนูที่ได้ยินก็รับคำสั่งไปกัดหูโดราเอมอนที่กำลังหลับจนพัง และด้วยความผิดพลาดทางการรักษาจึงไม่สามารถสร้างหรือใส่หูใหม่มาได้ นับตั้งแต่นั้นมาโดราเอมอนก็กลัวหนูเรื่อยมา

Doraemon

สาเหตุที่ Doraemon เป็นสีฟ้า

Doraemon

เชื่อว่าหลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมโดราเอมอนถึงต้องมีสีฟ้ากับสีขาว ซึ่งเรื่องนี้มีที่มา 2 แบบ อย่างแรกก็คือข้อจำกัดในการการตีพิมพ์หน้าสีในยุคนั้นที่ค่อนข้างจำกัด จึงทำให้มีแค่สีแดงสีฟ้าสีดำและสีขาวเท่านั้นที่ใส่หน้าปกได้ ขณะที่อาจารย์ฟูจิโกะต้องการให้โดราเอมอนมีสีเหลืองแต่เมื่อทำไม่ได้จึงใช้สีฟ้าแทน ก่อนจะมาสร้างเรื่องราวให้ว่าความจริงแล้วโดราเอมอนนั้นมีสีเหลือง แต่ภายหลังจากที่หูถูกหนูกัดไปแล้วโดราเอมอนก็เสียใจมาก จนพยายามจะรักษาตัวเองด้วยการดื่มน้ำยาเพิ่มพลังใจ แต่ด้วยความผิดพลาดของกระเป๋าที่มาจากโรงงาน(หนึ่งในสาเหตุที่โดราเอมอนไม่ผ่านมาตรฐานเพราะหยิบของวิเศษมั่ว) กลับหยิบผิดทำให้หยิบน้ำยาซึมเศร้าที่ทำให้อาการหนักกว่าเดิม และการเศร้าเสียใจนั้นก็ทำให้สีเหลืองบนตัวลอกจนกลายเป็นสีฟ้าที่เป็นสีรองพื้นนั่นเอง

Doraemon

สิ่งที่ Sewashi ทำคือเรื่องโกหกหรือมันคือสิ่งที่ควรเกิดขึ้น

Doraemon

หนึ่งในความสนุกของการ์ตูน ‘Doraemon’ ที่นอกจากของวิเศษที่โดราเอมอนเอาออกมาในแต่ละตอนแล้ว อาจารย์ฟูจิโกะยังชอบแต่งเรื่องราวที่เกี่ยวกับกาลเวลาอยู่หลายครั้ง จนทำให้แฟน ๆ ต่างคิดไปว่าสิ่งที่เซวาชิบอกกับโนบิตะในตอนต้นเรื่อง เกี่ยวกับการแต่งงานกับไจโกะนั้นคือเรื่องโกหก แต่การมาของโดราเอมอนมันคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น หรือจะพูดว่ายังไงโดราเอมอนก็ต้องมาหาโนบิตะไม่ว่าจะมาแบบไหนก็ต้องมา เพราะมันคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือยังไงโดราเอมอนก็ต้องมาอยู่กับโนบิตะ และโนบิตะก็ต้องแต่งงานกับชิซูกะมันคือสิ่งที่ต้องเป็นแน่นอน ซึ่งถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็อย่างตอนหนึ่งที่คุณพ่อของโนบิตะเล่าว่าสมัยเด็ก ๆ มีเด็กผู้หญิงน่ารักคนหนึ่งเอาช็อกโกแลตมาให้พ่อ โนบิตะกับโดราเอมอนที่ได้ฟังก็อยากจะไปถ่ายรูปสาวคนนั้นให้พ่อ แต่พอไปถึงกลับไม่เจอสาวคนนั้นแถมโนบิตะยังถูกหาว่าเป็นพ่อและถูกโกนหัว จนต้องใช้น้ำยาปลูกผมที่ก็ดันใช้มากไปจนผมยาว โดราเอมอนเลยรู้ว่าผู้หญิงที่พ่อเจอต้องเป็นโนบิตะ และเพื่อให้ห้วงเวลาครบโนบิตะต้องปลอมตัวเป็นเด็กผู้หญิงคนนั้นเพื่อเอาช็อกโกแลตไปให้พ่อ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าการกระทำของคนในอนาคตไปส่งผลในปัจจุบัน แบบเดียวกับที่เซวาชิทำก็เป็นแบบเดียวกัน ดังนั้นอนาคตที่โนบิตะแต่งงานกับไจโกะก็ไม่ใช่เรื่องจริง และยิ่งเราได้อ่าน ‘Doraemon’ จะทราบว่าไจโกะจะได้เป็นนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง เรื่องนี้จึงยิ่งย้อนแย้งมากขึ้นไปอีก จนหลายคนสรุปได้ว่าเซวาชินั้นโกหกโนบิตะแน่นอน

Doraemon

ทำไม Sewashi ถึงส่ง Doraemon มาอยู่กับ Nobita

Doraemon

ต่อเนื่องจากหัวข้อที่แล้วซึ่งถ้าเราคิดไปเองว่าสิ่งที่เซวาชิเหลนของโนบิตะโกหก แล้วเขาจะส่งโดราเอมอนมาหาโนบิตะทำไม คำตอบของคำถามนี้ก็จะวนกลับไปเรื่องเดิม คือการครบรอบของเวลาหรือที่เราพูดว่า “มันคือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงไม่ได้” ที่ไม่ว่ายังไงโดราเอมอนก็ต้องมาหาโนบิตะ โดราเอมอนต้องถูกหนูกัดหูมันคือลิขิตที่ไม่อาจเลี่ยง ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นแล้วเหตุผลอะไรทำไมเซวาชิถึงส่งโดราเอมอนมาหาโนบิตะแทนคนอื่น ก็เพราะเขาอาจจะได้ยินคุณปู่(ลูกของโนบิตะ) เล่าว่าคุณทวดนั้นไม่เอาไหนเลยเลือกโนบิตะ ส่วนเหตุผลที่ส่งโดราเอมอนมานั้นก็เพราะอยากให้โดราเอมอนไปอยู่ที่อื่น เพราะหลังจากเสียหูไปโดราเอมอนก็คงเศร้าแถมยังถูกแฟนทิ้งการอยู่สถานที่เดิม ๆ เห็นที่นอนที่เราโดนหนูกัดหู แถมหุ่นหนูตัวนั้นก็น่าจะยังอยู่ การให้โดราเอมอนอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ ก็คงจะยิ่งเศร้า เซวาชิเลยส่งโดราเอมอนมาในอดีตเพื่อเจออะไรใหม่ ๆ แต่การจะมาบอกว่าคุณปู่ทวดครับพอดีโดราเอมอนโดนหนูกัดหูมา เลยอยากให้เขามาเจอสถานที่ใหม่ ๆ จะได้ไม่เศร้า คุณปู่ทวดช่วยดูแลโดราเอมอนให้หน่อยได้ไหม พูดแบบนี้ในภาษาการ์ตูนก็คงไม่เหมาะ การหลอกคุณปู่ทวดเรื่องอนาคตจะดีที่สุด เพราะถ้าเป็นคุณถ้ามีลูกเหลนจากอนาคตมาบอกแบบนี้เป็นใครก็รับหุ่นแมวมาเปลี่ยนอนาคตแน่นอน  ซึ่งต้องบอกก่อนว่าทฤษฎีนี้แฟน ๆ คิดกันเองไม่ใช่สิ่งที่อาจารย์ฟูจิโกะบอกซึ่งมันก็ใกล้เคียงความน่าจะเป็นที่สุด

Doraemon

ความรักของ Doraemon

Doraemon

ด้วยความที่โดราเอมอนเราก็เป็นแมวหนุ่มสุดหล่อ ย่อมต้องมีความรักมาแล้วมากมาย ซึ่งถ้านับกันจริง ๆ ตั้งแต่เล่มที่หนึ่งจนถึงเล่มจบไม่นับในฉบับการ์ตูนที่ฉายทางทีวี โดราเอมอนมีความรักมาแล้วถึง 8 ครั้ง โดยครั้งแรกนั้นคือหุ่นยนต์แมวสาวที่ชื่อ โนรามีโกะ (Noramyako) ส่วนสาเหตุที่เลิกกันเพราะทางฝ่ายหญิงหัวเราะและรับไม่ได้ที่โดราเอมอนเป็นหุ่นยนต์แมวแต่ไม่มีหู หลังจากนั้นก็ไปชอบแมวสาวอีกหลายตัว ที่มีทั้งแบบจบลงด้วยมิตรภาพ ชอบเขาแต่เขาไปชอบคนอื่น เล่นของสูงเอาใจเท่าใดสาวก็ไม่สนใจ เคยมีขนาดที่ว่าไปชอบของเล่นแมว จนโนบิตะต้องไปขอร้องจากเด็กเจ้าของของเล่น ให้ยอมให้ของเล่นแมวนั้นกับโดราเอมอน จนโดราเอมอนเอาของเล่นนั้นไปดัดแปลงเป็นหุ่นยนต์เพื่อจะได้มารักกัน แต่เมื่อเป็นหุ่นยนต์แล้วแมวตัวนั้นกลับบอกว่าผมเป็นตัวผู้ โดราเอมอนเราเลยอกหักอีกครั้ง  เรียกว่าเยอะมากกับความรักของโดราเอมอน ส่วนแมวสาวที่เราจะเห็นบ่อยที่สุดในการ์ตูนก็คือมี่จังแมวสาวที่คบ ๆ เลิก ๆ ที่อยู่ในช่วงดูใจกันอยู่(รูปด้านบน)

Doraemon

Dorami น้องสาวผู้น่ารัก

Doraemon

คราวนี้มาดูน้องสาวสุดน่ารักของโดราเอมอนกันบ้าง กับ โดเรมี (Dorami) ที่หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมทั้งสองตนนี้ที่เป็นหุ่นยนต์ทำไมถึงเรียกว่าพี่น้อง นั่นก็เพราะโดเรมีนั้นเป็นหุ่นรุ่นที่ 2 ในสายการผลิตที่เปลี่ยนมาเป็นเพศหญิง และเมื่อครอบครัวโนบิซื้อโดเรมีมาทางนั้นก็ใช้น้ำมันขวดเดียวกันกับที่ใส่ให้โดราเอมอนใส่ในตัวโดเรมี นั่นจึงเท่ากับว่าทั้งคู่นั้นมีสายเลือดเดียวกัน และด้วยความรักพี่ชายโดเรมีก็ได้ขอให้ครอบครัวโนบิเอาหูตนเองออก เพื่อไม่ให้พี่ชายเกิดปมด้อยเวลาเห็นเธอ เราจึงเห็นโบว์ติดแทนหูนั่นเอง ด้วยความเสียสละนี้จึงทำให้โดราเอมอนรักน้องสาวคนนี้มาก ๆ และสิ่งที่หลายคนไม่ทราบว่าตัวของโดเรมีนั้นก็ถูกส่งไปยังบ้านลูกพี่ลูกน้องของโนบิตะเช่นกัน ที่ชื่อ โนบิ ทาโร่ (Nobi Taro) และมีหนังสือเป็นของตนเองด้วย ใครที่ไม่รู้อาจจะคิดว่าคนแปลในตอนนั้นแปลผิด เพราะหน้าตัวละครทุกคนคือชุดเดิมแต่เปลี่ยนแค่ชื่อเท่านั้น โดยตัวของโดเรมีนั้นปรากฏตัวครั้งแรกในเดือนมีนาคมปี 1973 ส่วนสิ่งที่โดเรมีชอบคือขนมปังไส้เมล่อนและกลัวแมลงสาบมาก ๆ

Doraemon

Gachako ตัวละครที่ถูกลืม

Doraemon

เชื่อว่าหลายคนที่ได้อ่าน ‘Doraemon’ มาตั้งแต่เล่มแรกคงจะสงสัยว่าในเรื่องนี้มีตัวละครที่ชื่อ กาชาโกะ (Gachako) ด้วยหรือ เพราะตอนที่ตัวละครตัวนี้ออกมาในหนังสือนั้นก็เป็นช่วงปี 1970 ที่อาจารย์ฟูจิโกะยังจับทิศทางของการ์ตูนตนเองไม่ได้ว่าจะไปทางไหนดี ในตอนนั้นเรื่องราวส่วนมากจะเกิดจากตัวของโดราเอมอนกับกาชาโกะ ที่เป็นตัวสร้างความวุ่นวายให้โนบิตะที่มีความรับผิดชอบต้องมาแก้ไขในทุกตอน ก่อนที่อาจารย์จะจับทิศทางของการ์ตูนได้ บทของโดราเอมอนและโนบิตะจึงสลับกันจนเป็นอย่างที่เราเห็น และตัวของกาชาโกะก็ดูเหมือนค่อย ๆ ถูกลดบทจนหายไปในที่สุด ซึ่งเนื้อหาตรงนี้จะไม่ได้อยู่ในฉบับรวมเล่มแต่จะอยู่ในนิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาเท่านั้น

Doraemon

ความสามารถพิเศษของ Nobita

Doraemon

มาที่พระเอกของเรื่องกันบ้างกับเด็กชาย โนบิ โนบิตะ เด็กชายที่ไม่เอาไหนที่สุดในวงการการ์ตูน แต่เขาก็เป็นตัวละครที่เด็ก ๆ ทั่วโลกอิจฉาเพราะเขามีโดราเอมอนมาเป็นเพื่อน ซึ่งในตอนแรกนั้นบทบาทของโนบิตะคือเด็กที่เรียนดีมีความรับผิดชอบ แถมต้องมาดูแลแก้ไขสิ่งที่โดราเอมอนทำวุ่นวายเอาไว้ ก่อนที่อาจารย์ฟูจิโกะจะเปลี่ยนเนื้อหาเพื่อให้คนอ่านสนุกกับของวิเศษที่โดราเอมอนมี บทบาทของทั้งคู่จึงสลับกันเราจึงเห็นโนบิตะเป็นเด็กไม่เอาไหน แต่เห็นแบบนี้โนบิตะก็มีความสามารถพิเศษเช่นการนอนหลับสนิทได้ในเวลาเพียง 0.93 วินาที แถมยังทำลายสถิติ 0 คะแนนได้ทุกครั้งที่สอบ แต่เห็นแบบนี้เขาก็มีความสามารถในการยิงปืนที่แม่นกว่าคาวบอยในยุคอดีตเสียอีก และยังเป็นคนรักสัตว์เป็นเพื่อนแท้ให้กับทุกคนอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้ชิซูกะก็มองเห็นเธอจึงมอบให้ใจให้ชายผู้ไม่เอาไหนคนนี้

Doraemon

ฉากอาบน้ำในตำนานของ Shizuka

Doraemon

เมื่อพูดถึงโนบิตะไปแล้วคราวนี้มาพูดถึงเจ้าสาวในอนาคตของโนบิตะกันบ้าง ที่เมื่อเราพูดถึงชิซูกะเราก็ต้องคิดถึงฉาก Fan Service ประจำเรื่อง ‘Dorsemon’ กับฉากอาบน้ำของชิซุกะ ที่มีบ่อยมาก ๆ จนหลายคนอาจจะสงสัยว่าฉากนี้มันมีเยอะขนาดไหน ที่เมื่อเราไปหาข้อมูลก็พบว่าตัวของเธอนั้นชอบการอาบน้ำมาก ๆ มากจนขนาดที่ว่าวันหนึ่งเธออาบน้ำถึงวันละ 4 ครั้งเลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่พอมีเรื่องราวของวิเศษที่ใช้ผิดพลาดก็มักจะไปที่ห้องน้ำบ้านชิซุกะเสมอ และถ้าเรานับฉากอาบน้ำของชิซุกะในหนังสือตั้งแต่เล่มที่ 1 จนถึงเล่มสุดท้าย เราจะเห็นฉากอาบน้ำของเธอถึง 25 ครั้งกับ 43 ช่องการ์ตูนเลยทีเดียว เรียกว่ามีเกือบทุกเล่มเลยก็ว่าได้ ดังนั้นถ้าใครจะหา ‘Doraemon’ ให้ลูกหลานอ่านก็คิดดี ๆ ก่อนเพราะบางฉากอาบน้ำนั้นเห็นค่อนข้างเยอะ ทางที่ดีให้ดูในฉบับการ์ตูนดีกว่าจะปลอดภัยที่สุด

Doraemon

เกมแรกของ Doraemon ที่ถูกวางจำหน่าย

Doraemon

มาที่เรื่องราวของเกมที่สร้างจากการ์ตูนโดราเอมอนกันบ้าง โดยเกมแรกนี้วางจำหน่ายในปี 1983 ลงบนเครื่อง ‘Arcadia 2001’ (รูปด้านบน) ในชื่อเกมว่า ‘Doraemon’ ที่เราจะได้รับบทเป็นโดราเอมอนในการหนีหนูในเขาวงกต เพื่อตามเก็บโดรายากิให้หมดก็จะจบด่าน ตัวเกมมีรูปแบบการเล่นคล้ายเกม ‘Pac-Man’ ที่ไม่มีจุด ตัวเกมเน้นความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ตอนนี้ใครอยากหามาสะสมก็คงยากหน่อยเพราะผลิตออกมาน้อย

Doraemon

รวมเกม Doraemon น่าสนใจที่คุณควรหามาเล่น

Doraemon

เมื่อมีเกมแรกไปแล้วก็ต้องมีเกมอื่น ๆ ที่น่าสนใจที่เราอยากเอามาแนะนำ เริ่มจากเกมแนวปลูกผักทำไร่ทำสวนอย่าง ‘Doraemon Story Of Seasons’ ที่ตัวเกมมีภาษาไทยให้เล่นด้วย ใครอยากใช้ของวิเศษในการทำสวนต้องไม่พลาด หรือจะเป็นเกมแอ็กชันน่ารัก ๆ อย่าง ‘Doraemon Nobita to Midori no Kyojinden’ ที่วางจำหน่ายบนเครื่อง ‘Nintendo DS’ ก็น่าสนใจ ไปจนถึงเกมบนเครื่อง ‘Playstation 1’ อย่าง ‘Doraemon 2 SOS! Otogi no kuni’ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคย หรือถ้าใครเป็นสายเกมเก่าที่อยากหาเกม ‘Doraemon’ มาสะสมเราก็มีเกม ‘Doraemon Giga Zombie no Gyakushuu’ ที่มารูปแบบเกมภาษาคล้าย ๆ เกม ‘Dragon Quest’ มาให้สะสม ไปจนถึงเกม ‘Doraemon 1986’ ที่เป็นเกมแอ็กชันที่เด็กหนวดในยุคนั้นน่าจะเคยเล่นกัน ทั้งสองเกมนั้นอยู่บนเครื่อง ‘Famicom’ ใครสนใจก็พอมีตลับขายอยู่ใครสนใจไปหามาเก็บกันได้ เพราะเกมโดราเอมอนนั้นมีอยู่ในทุกเครื่องเกมจริง ๆ

Doraemon

Doraemon ตอนที่ไม่มีของวิเศษ

Doraemon

เมื่อพูดถึง ‘Doraemon’ เราต้องคิดถึงของวิเศษแบบต่าง ๆ ที่มาสร้างความสนุกให้กับคนอ่าน แต่เชื่อหรือไม่ว่ามีอยู่ 4 ตอนในการ์ตูน ‘Doraemon’ ที่จะไม่มีของวิเศษอยู่ในนั้น เริ่มจากตอนแรกที่ชื่อ “ฝันที่เป็นจริง” กับหมอนที่สามารถทำให้ฝันนั้นเป็นจริงได้ แต่เมื่อตอนจบทั้งหมดนั้นกลับเป็นแค่ความฝัน หรือมันจะเป็นความจริงแต่สร้างมาจากหมอนที่สร้างฝันกัน ตอนที่ 2 มีชื่อว่า “เสื้อเกราะอัลตรา” ที่โดราเอมอนหลอกโนบิตะว่ามีเสื้อคลุมเพิ่มพลังแต่มันจะมองไม่เห็น เพื่อหลอกให้โนบิตะมีพลังใจสู้ขึ้นมา ตอนที่ 3 “คำทำนายวันสิ้นโลก” ที่ตอนนี้จะไม่ใช่ของวิเศษแต่เป็นหนังสือธรรมดาของโดราเอมอน ที่ซูเนโอะไปอ่านจนเข้าใจผิดคิดว่าจะเป็นวันโลกแตกที่จบลงด้วยความเฮฮา และตอน “ชอบจนอดใจเอาไว้ไม่ได้” นั่นคือตอนที่โดราเอมอนมีความรักกับแมวสาว โนบิตะจึงไปช่วยจีบแต่สุดท้ายก็อกหักไปตามระเบียบ  เรียกว่าเป็น 4 ตอนที่ไม่ต้องมีของวิเศษก็สนุกกับเรื่องราวสมเป็นอาจารย์ฟูจิโกะจริง ๆ

Doraemon

น้องชายของ Suneo ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

Doraemon

อีกหนึ่งเรื่องราวที่หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าตัวของ โฮเนะคาวา ซูเนโอะ (Honekawa Suneo) นั้นมีน้องชายแท้ ๆ อยู่ด้วย ชื่อ โฮเนะคาวา ซุเนะสึงุ (Honekawa Sunetsugu) ซึ่งการที่เราไม่เห็นตัวน้องชายของซุเนโอะ ก็เพราะตัวของซุเนะสึงุนั้นได้ถูกลุงกับป้าของซูเนโอะรับไปเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมที่อเมริกา จึงนาน ๆ จะมาที่ญี่ปุ่นที ซึ่งตัวของซุเนะสุงุนั้นก็รับเคารพพี่ชายมาก ๆ จนมองว่าพี่ชายของตนเองเป็นคนเก่งและเป็นที่รักของทุกคน(ซึ่งความจริงแล้วมันช่างตรงข้าม) จนซูเนโอะไปขอร้องให้โดราเอมอนกับโนบิตะช่วยเพื่อไม่ให้น้องชายผิดหวัง ซึ่งใครที่ดูกับอ่านการ์ตูนคงจะทราบเรื่องนี้ดี แต่เพราะบทบาทที่น้อยจึงทำให้หลายคนลืมตัวละครนี้ไป

Doraemon

ตอนสุดท้ายที่ Fujiko Fujio เขียน

Fujiko Fujio

ปิดท้ายกับเรื่องราวสุดท้ายของอาจารย์ฟูจิโกะ ที่ก่อนหน้านี้เราได้ทราบไปแล้วว่าการ์ตูนเรื่องสุดท้ายที่อาจารย์ฟูจิโกะเขียนนั้นมีชื่อว่า ‘Ijin Andoro-shi’ แต่เรื่องสุดท้ายจริง ๆ ที่อาจารย์วาดเอาไว้ก่อนเสียชีวิตนั่นก็คือเรื่อง ‘Doraemon’ ในตอนที่ชื่อว่า ‘Screwed City Adventures’ หรือในบ้านเราเรียกว่า “โดราเอม่อนตอนตะลุยเมืองตุ๊กตาไขลาน” ที่จากข้อมูลบอกว่าอาจารย์ฟูจิโกะได้ร่างแบบและเขียนโครงเรื่องเอาไว้แล้ว แต่ยังไม่ทันที่จะเขียนจนจบท่านก็เสียชีวิตไปก่อน จนเหล่าผู้ช่วยและลูกศิษย์ต้องมาร่วมมือกันสานต่อจนจบ  นับเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายเพื่อเด็ก ๆ ทั่วโลกจริง ๆ และจนถึงตอนนี้ที่เรายังเห็นการ์ตูนโดราเอมอนตอนใหม่อยู่ก็เพราะอาจารย์ได้ฝากฝังผลงานเอาไว้กับลูกศิษย์ที่ชื่อ มูกิวาระ ชินทาโร่ (Mugiwara Shintaro) วาดต่อจนถึงตอนนี้ ดังนั้นก็สบายใจได้เลยว่าเราจะยังได้อ่าน ‘Doraemon’ ตอนใหม่ ๆ ได้ไปอีกนาน

Doraemon

เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการ์ตูน ‘Doraemon’ ที่เราหยิบยกมานำเสนอหวังว่าจะถูกใจกัน โดยเป้าหมายของบทความนี้ต้องการให้หลายคนที่รู้จักเจ้าแมวสีฟ้าอยู่แล้ว ได้รู้จักและเห็นมุมมองต่าง ๆ ของเจ้าแมวสีฟ้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะมุมมองของผู้เขียนเรื่องอย่างอาจารย์ ฟูจิโกะที่ได้ทุ่มเทเวลาทั้งชีวิตเขียนเรื่องราวของโดราเอมอนขึ้นมาจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจารย์ต้องการจบเรื่องราวของ ‘Doraemon’ เพื่อจะไปเขียนเรื่องอื่น แต่สุดท้ายเขาก็ทอดทิ้งเรื่องนี้ไม่ลงและกลับมาเขียนอีกครั้งจนถึงลมหายใจสุดท้าย ที่ถ้าไม่รักกันจริงคงไม่ทำถึงขนาดนี้ และถ้าบทความนี้ขาดตกตรงส่วนไหนไปก็ขออภัยมาด้วย ส่วนคราวหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไรก็ติดตามกันได้ที่นี่ที่เดียว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส