ณ ตอนนี้ หากจะนึกถึงพิธีกรรุ่นใหม่ไฟแรงที่ได้รับการยอมรับในฝีไม้ลายมือ น่าจะมีชื่อของ ‘แบม – ปีติภัทร คูตระกูล’ ติดโผอยู่ด้วยอย่างไม่น่ากังขา ทั้งในฐานะพิธีกรรายการทีวีในหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งในฐานะพิธีกรงานอีเวนต์เบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทย ที่เคยผ่านงานอีเวนต์หลากหลายสเกลมาแล้วนับไม่ถ้วน หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตาเขาจากการเป็นพิธีกรตามงานอีเวนต์ไม่ว่าจะงานเล็กหรืองานใหญ่

จากเด็กพูดมาก แต่พูดไม่รู้เรื่องในวัยเด็ก กลายมาเป็นเขาในทุกวันนี้ ล้วนเกิดจากสิ่งที่เขาเรียกว่า Practice make perfect. ในฐานะทาเลนต์รุ่นใหม่ของ beartai เขาก็กำลังจะ Practice เพื่อนำพาคลิปไปสู่ความ Perfect อย่างที่เขาตั้งใจไว้ ไม่ว่าโลกเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหน้าไปแค่ไหน หรือแม้แต่หากพิธีกรอีเวนต์ On-Ground แบบเขา อาจต้องก้าวขาเข้าไปเป็นพิธีกรอีเวนต์บน Metaverse ในวันใดวันหนึ่ง


อัปเดตชีวิตคุณช่วงนี้ให้ฟังหน่อยว่ากำลังทำอะไรอยู่บ้างตอนนี้

งานหลัก ๆ ที่แบมทำตอนนี้ก็มีตั้งแต่เป็นดีเจครับ จัดรายการวิทยุอยู่ที่คลื่น Flex104.5 FM ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ช่วงเช้า 08.00 – 11.00 น. ส่วนตอนบ่ายก็จะเป็นช่วงเวลาสำหรับรับงานอีเวนต์ต่าง ๆ โน่นนั่นนี่ได้ แล้วก็เป็นพิธีกรรายการข่าวกับทางช่อง 3 ครับ ชื่อรายการ ‘ข่าวสามสี’ ออกอากาศสดทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลาประมาณ 4 โมงเย็น ซึ่งก็จะมีพิธีกร 6 คน หมุนเวียนกันไป แล้วก็จะมีช่วงข่าวไอทีของพี่ซี (ฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์) ปิดท้ายรายการด้วย แล้วก็มีรายการของช่อง 3 อีกรายการก็คือ ‘The Red Ribbon ไฮโซโบเยอะ ภารกิจติดโบ’ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ 5 โมงเย็นด้วยครับ

ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างจะดีครับ เพราะว่างานหลัก ๆ ของแบมในตอนนี้ก็คือพิธีกรงานอีเวนต์นั่นแหละครับ คนส่วนใหญ่ก็น่าจะได้เจอแบมตามงานอีเวนต์ต่าง ๆ หลากหลายงาน เพราะว่าตัวแบมเองรับงานทุกแบบเลย ทั้งงานเปิดตัวสินค้า ตั้งแต่สกินแคร์ โทรศัพท์ ไอที ธุรกิจ ไลฟ์สไตล์ อะไรประมาณนี้ อ้อ แล้วก็เป็นทาเลนต์ของ #beartai ด้วยครับ (หัวเราะ).

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

คุณมีความชื่นชอบหรืออยากเป็นพิธีกรมาก่อนบ้างไหม

ไม่ได้เป็นความฝันเลยครับ เรียกว่าไม่มีอยู่ในหัวเลยดีกว่า อาจจะเพราะความเป็นเด็กด้วยแหละครับ ไม่ได้รู้อะไรมาก ดูอะไรก็อยากเป็นอย่างนั้นแหละ ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่าดูหนัง ‘Back to the Future’ (1985) แล้วก็อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ (หัวเราะ) เพราะนักวิทยาศาสตร์ในหนังสามารถประดิษฐ์รถข้ามเวลาได้ ซึ่งมันก็เป็นความคิดแบบเด็กมาก ๆ หรือถ้าเอาตอนช่วง ม.ปลาย ก็มีความคิดแวบ ๆ เข้ามาในหัวว่าอยากเป็นนักบินครับ แต่ก็สุดท้ายมันก็ค่อนข้างเลือนรางมาก ๆ เรียกว่าแทบจะไม่มีคำว่าพิธีกรในหัวเลย

จนสุดท้ายถึงได้มีโอกาสไปแคสต์เป็นพิธีกร แคสต์งานโฆษณา ตอนนั้นคุณพ่อก็กึ่ง ๆ บังคับให้ไปด้วยแหละ เพราะเขามองว่ามันน่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้กับเรา ประกอบกับว่าพ่อแม่ก็ค่อนข้างสนับสนุนด้วย ส่งแบมเข้าไปเรียนในโรงเรียนนานาชาติ เพื่อให้ได้ฝึกภาษาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วในโรงเรียนก็จะมีการประกวด Talent Show ทุก ๆ ปี ให้คนที่มีความสามารถอะไรก็ได้เข้ามาประกวดกัน ซึ่งมันก็เป็นการปูทางให้เราได้ทั้งเรื่องของภาษา โดยเฉพาะภาษาที่ 2 และเรื่องของความกล้าแสดงออก

ตอนนั้นก็เลยเป็นเหมือนเด็กที่อยากเข้าวงการเลยครับ ไปตะลุยแคสต์งานโน้นงานนี้ ได้มีโอกาสนิดหน่อย แต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้ซะเยอะ (หัวเราะ) พอยิ่งเริ่มทำเยอะ ๆ เข้า ก็เลยรู้ว่ามันก็เป็นงานที่สนุกดีเหมือนกันนี่หว่า เพราะว่าเป็นงานที่ได้เจอคน ได้พูดคุย เพราะเราเองก็เป็นคนชอบพูดชอบคุย ชอบอยู่ในแสง ชอบการถูกชื่นชม อะไรแบบนี้ครับ

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

ตอนเด็ก ๆ คุณก็เป็นคนช่างพูดอะไรแบบนั้นไหม

น่าจะเรียกว่าเป็นเด็กทะเล้นครับ เคยดูคลิปที่พ่อแม่ถ่ายไว้ ก็จะซน ๆ ลิง ๆ (ทำหน้าตาแบบเด็กกวน ๆ ) ประมาณนั้นครับ เป็นคนทะเล้น รักสนุก ชอบพูดคุย ชอบเจอกับคน ซึ่งพ่อแม่เขาก็จะปล่อยให้เราเป็นแบบนี้ครับ ไม่ได้พยายามจะทำให้เราต้องเรียบร้อยอะไรขนาดนั้น แต่ว่าก็เป็นคนพูดเก่งไปเรื่อยเหมือนกัน เพราะว่าแบมเองก็ไม่ใช่คนที่อธิบายหรือเล่าอะไรได้เก่งกาจขนาดนั้น

เล่าบรรยากาศตอนที่คุณได้เป็นพิธีกรอาชีพงานแรกให้ฟังได้ไหมว่าเป็นอย่างไร

ตอนนั้นแบมอยู่ช่วงประมาณปี 2 ครับ แล้วพี่ที่รู้จักชวนไปแคสต์พิธีกรของช่อง ‘ทราเวล แชนแนล ไทยแลนด์’ (Travel Channel Thailand) ครับ เป็นช่องรายการท่องเที่ยว ออกอากาศทาง TrueVisions ครับ ซึ่งตอนนั้เพิ่งเริ่มเปิดตัวใหม่ ๆ ก็เลยกำลังหาคนที่เป็นเหมือนวีเจของช่อง แต่ว่าช่องจะเรียกว่าเป็น ‘TC’ หรือ Travel Companion (เพื่อนร่วมเดินทาง) ล้อไปกับชื่อช่อง ซึ่งพอแบมไปแคสต์ ก็ได้มาเป็น TC ของช่องครับ

ตอนนั้นเอาจริง ๆ ก็ถือว่ายังไม่ได้เป็นอาชีพอะไรขนาดนั้นครับ เพราะว่าสุดท้ายเราก็ต้องเอาการเรียนเป็นหลักก่อน ก็เลยคิดว่าเป็นการทำงาน Part time ที่ทำให้เราได้ Pocket Money ไว้ใช้บ้างอะไรแบบนี้ เพราะว่าตอนนั้นก็เริ่มได้ทำสกู๊ปบ้างแล้ว ได้มีโอกาสไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ แต่พอตอนใกล้จะเรียนจบนี่แหละที่ต้องมานั่งคิดว่าจะทำอะไรต่อไปดี ซึ่งเราก็พบว่า แม้ว่าตัวของแบมเองจะเรียนด้านการเงินเป็นวิชาหลัก แต่ว่ามันก็ค่อนข้างหนัก แล้วก็ค้นพบว่าไม่ใช่ตัวเราสักเท่าไหร่ ก็เลยเริ่มคิดว่า หรืองานพิธีกรจะเป็นงานที่ใช่ เพราะแม้ว่ามันจะเป็นงาน Part time แต่สุดท้ายมันก็ทำให้เราได้ออกไปเจอโลก ได้ไปที่นั่นที่นี่ เพราะความที่ทำช่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวด้วย

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

ในฐานะที่คุณได้มีโอกาสทำงานพิธีกรเป็นครั้งแรก ๆ ในชีวิต ตอนนั้นคุณทำอะไรบ้าง

ตอนนั้นเป็นพิธีกรรายการสกู๊ปสั้น ๆ ครับ ชื่อว่า ‘Lucky Travel’ เพราะว่าตอนนั้นด้วยความที่ช่องเพิ่งเปิดใหม่มาก ๆ แล้วผังรายการยังมีรายการไม่เยอะ ก็เลยได้เป็นพิธีกรรายการสกู๊ปสั้น ๆ คั่นรายการคู่กับพี่แพรว (หัสสยา อิสริยะเสรีกุล) เป็นรายการแจกของรางวัล แจกเวาเชอร์ที่พักโรงแรม อะไรแบบนี้ ตอนที่ทำตอนนั้น แบมจำได้เลยว่า พูดไม่รู้เรื่องเลยครับ คือแบมเป็นคนพูดเก่งนะครับ แต่ว่าการเรียบเรียงเรื่อง ต้น-กลาง-จบอะไรนี่ไม่มีเลย แบมจำได้ว่าพี่ที่ตัดต่อเขาซอยช็อตของแบมถี่มาก เพราะพูดไม่รู้เรื่อง วนไปวนมา แล้วก็ Dead Air ด้วย

คือถ้าเอามาดูก็คงจะขำ ๆ นั่นแหละครับ แต่ว่ามันก็เตือนใจเราด้วยว่า นี่คือการเริ่มต้นทำในสิ่งที่เรามี Passion ยิ่งพอเราโตขึ้น แม้ว่าเราจะเก็บเกี่ยว เรียนรู้ได้เยอะ แต่ว่าสุดท้ายก็มักจะไม่กล้าทำอะไร แต่ว่า ณ ตอนนั้นที่ยังไม่รู้อะไรเลย เราก็ได้ใช้การลองทำ ลองผิดลองถูก นี่แหละครับ เป็นการเรียนรู้แบบครูพักลักจำไป แม้ว่ามันจะผิดพลาด เราก็จะเรียนรู้ แต่ว่าก็จะไม่ซีเรียสอะไรกับมัน เป็นเหมือนกับคำที่แบมจะชอบพูดเวลาให้สัมภาษณ์บ่อย ๆ ว่า “Practice make perfect.” ซึ่งแบมว่ามันเป็นอะไรที่จริงมาก ๆ ยิ่งกว่าการเรียนในชั้นเรียนซะอีก

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

เห็นคุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า คุณเองเกือบไปเป็นนักบินด้วย

ใช่ครับ ตอนนั้นเริ่มมีความคิดในหัวขึ้นมาแล้วแหละว่า หรือเราจะไปเป็นนักบินดี เพราะว่าเราเป็นคนชอบการท่องเที่ยว ประกอบกับการที่ทำรายการท่องเที่ยวด้วย จริง ๆ ถึงขั้นคิดว่าอยากเป็นพิธีกรรายการท่องเที่ยวเลยนะครับ แบบว่าได้ไปเที่ยวแล้วก็มีสปอนเซอร์เข้า ได้เงินด้วย เที่ยวแล้วยังได้เงินอีกต่างหาก (หัวเราะ) ก็เลยคิดแบบตื้น ๆ ว่า งั้นเป็นนักบินดีกว่า เที่ยวแล้วยังได้เงินด้วย ก็เลยไปสอบชิงทุนนักบินของการบินไทย แล้วปรากฏว่าสอบผ่าน ได้ทุนนักบินด้วย

แต่เอาเข้าจริง ๆ นักบินเขาไม่ได้ไปเที่ยวเป็นหลักครับ อาชีพของเขาคือขับเครื่องบิน ส่วนเที่ยวเป็นแค่ผลพลอยได้ ได้ค้างเต็มที่ก็แค่ 1-2 คืน ทำได้แค่แวะไปโน่นไปนี่ แถมช่วงโควิดก็ทำให้มีโอกาสได้นอนค้างน้อยลงกว่าเดิมอีก ไหนจะ Jet lag อีก พอเราคิดให้ลึกขึ้น ประกอบกับว่า เราอยากเป็นพิธีกรมากกว่า สุดท้ายก็เลยปฏิเสธทุนไป คือตอนนั้นชีวิตมันก็มาถึงทางแยกด้วยแหละครับ ความรู้สึกมันบอกเราว่า งานพิธีกรคืองานที่ใช่ อยากทำมากกว่า

ก็เลยพยายามเริ่มค้นหาว่าเราจะเป็นพิธีกรแบบไหน หรือเราจะยึดพิธีกรคนไหนที่เป็นแบบอย่างได้บ้าง ก็เลยได้รู้จักพี่พีเค (ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร) ซึ่งพี่พีเคเขาเป็นพิธีกรอีเวนต์ แต่ว่าเป็นพิธีกรแบบ 2 ภาษา ซึ่งเราเองก็มีพื้นฐานด้านภาษาอยู่แล้ว ก็เลยเริ่มศึกษาว่าพี่พีเคเขามีจุดเด่นอะไรบ้าง แล้วเรายังขาดอะไรไป รวมถึงพี่ดู๋ (สัญญา คุณากร) ที่เป็นพิธีกรมายาวนานมาก ขนาดอายุเข้าเลข 40-50 แล้วก็ยังคงเป็นพิธีกรได้ ก็เลยสะท้อนกลับไปที่ตัวเราว่า ถ้างั้นเราเองก็ยึดงานพิธีกรเป็นอาชีพได้สินะ

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

เมื่อครู่คุณพูดคำว่า “Practice make perfect.” เลยอยากรู้ว่า คุณคิดว่าพรสวรรค์ก็มีผลทำให้ Practice ออกมา perfect ด้วยได้ไหม

แบมคิดว่ามีผลในช่วงเริ่มต้นครับ แบมเชื่อว่าแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะถนัดฟัง ถนัดพูด ความถนัดใน Sense ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งมันก็จะส่งผลต่อต้นทุนที่แต่ละคนมี ยกตัวอย่างแบมเองค่อนข้างถนัด ไวเรื่องของภาษา แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามันเป็นพรสวรรค์ตั้งแต่เกิด หรือเป็นเพราะว่าเราเรียนอินเตอร์ตั้งแต่เด็ก ๆ คือถ้าจะถามว่าเชื่อในพรสวรรค์ไหม แบมก็ยังแอบรู้สึกนะครับว่า ที่แบมได้มาอยู่ตรงนี้ ได้รับโอกาสหลาย ๆ ครั้ง เป็นพิธีกรอีเวนต์ระดับประเทศ มีคนรู้จักอยู่พอสมควร มันก็คงได้มาจากหลาย ๆ ปัจจัยที่มาจากตัวตนของแบมเอง ซึ่งแบมก็ไม่ค่อยแน่ใจว่ามันเป็นพรสวรรค์หรือเปล่า แน่นอนว่าพอมันไม่มีอะไร 100% แบมก็เลยเชื่อว่า สุดท้ายพรแสวงในการลองทำไปเรื่อย ๆ มันก็ยังสำคัญกว่า

ปกติแล้วถ้าเป็นรายการทีวี ความสำเร็จก็จะวัดจากเรตติ้ง แต่ความสำเร็จของพิธีกรอีเวนต์เขาวัดกันที่ตรงไหน

เป็นคำถามที่ดีมากเลยครับ เล่าแบบนี้ก่อน ปกติเวลาแบมทำงานพิธีกรงานอีเวนต์เสร็จใช่มั้ยครับ ก็จะมีการถามเจ้าของงาน หรือเจ้าของสินค้าว่าเป็นยังไงบ้าง ตัวงานโอเคมั้ยครับ เขาก็จะตอบกลับมาว่า โอเค เราก็จะคิดในใจว่า ทำไมตอบแค่โอเควะ ทำไมไม่ตอบว่าดีไปเลย (หัวเราะ) มันก็เลยทำให้แบมลองมานั่งหานิยามของคำตอบนี้ ว่าจริง ๆ แล้วเราต้องการอะไรกันแน่ คือแน่นอนว่า แบมเองก็ยังรู้สึกดีที่จะได้รับคำชมจากลูกค้าหรือคนดูว่าเก่งมากเลย งานสนุกมาก งานลื่นไหลมาก คำตอบของนิยามนี้มันก็คงเป็นเพราะว่า แบมทำมันได้เต็มที่ไหม ใส่เต็มร้อยไหม ถ้าประเมินตัวเองแล้วว่าเป็นแบบนั้น แบมก็ถือว่ามันประสบความสำเร็จแล้วล่ะครับ

ซึ่งมันก็ปรับใช้ได้กับทุกอย่างเลยแหละ แน่นอนว่า ความสำเร็จของแต่ละอย่างมันอาจจะต่างกัน เช่นถ้าเป็นคลิปในยูทูบ มันก็อาจจะหมายถึงยอดวิว แต่มันก็เป็นแค่ระบบของสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา แต่โดยเนื้อแท้ของมนุษย์ แบมว่ามันก็คือการที่เรารู้สึกว่าพัฒนา และรู้สึกพอใจกับงานที่เราทำ เรารู้สึกว่าเราได้ทำงานอย่างเต็มที่ และเราเห็นว่าตัวเราในวันนี้ดีกว่าตัวเราจากเมื่อวาน ฟังดูเป็นคำพูดสวยหรูที่นักสร้างแรงบันดาลใจพูดเหมือนกันนะครับ แต่แบมเชื่อแบบนั้นจริง ๆ นะครับ ถ้าเราทำเต็มที่ที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แบมว่าตรงนั้นแหละคือความสำเร็จจริง ๆ

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

รายการ ‘Top Chef Thailand’ ก็ถือว่าเป็นรายการที่ทำให้คนรู้จักคุณมากขึ้น อยากให้เล่าเบื้องหลังหน่อยว่ามันยากง่ายแค่ไหน

เอาจริง ๆ รายการนี้ถือว่าเป็นการอัปเกรดฝีมือการเป็นพิธีกรขึ้นมาอีกขั้นเลยครับ ด้วยความที่แบมเองเคยทำแต่รายการท่องเที่ยว ซึ่งก็มักจะเป็นรายการสบาย ๆ ผ่อนคลาย ชวนคนดูดูโน่นชิมนี่ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ซีเรียสอะไรเท่าไหร่ แต่พอเป็นรายการนี้ ที่เป็นรายการเรียลลิตีโชว์ทำอาหาร มันก็เลยจะต้องมีการชักจูงและนำพาให้ผู้ชมรู้สึก และนำพาให้เชฟที่เป็นผู้เข้าแข่งขันรู้สึกถึงความกดดัน ซึ่งแบมไม่เคยต้องทำสิ่งนี้มาก่อนเลยครับ พอแบมได้มาทำ มันก็เลยเป็นความท้าทายมาก ๆ หรือแม้แต่โปรดักชันก็ท้าทายนะครับ

ต้องลองนึกภาพนะครับ อย่างเช่นช่วงจังหวะขยี้ในช่วงประกาศผล แล้วแบมจะต้องพูดว่า “และคนที่ได้ไปต่อคือ…” แล้วกล้องก็จะซูมเข้าแคบ ซึ่งแบมก็ต้องเรียนรู้ใหม่หมดว่า ต้องรอจังหวะกล้องซูม ต้องรอให้ทีมงานฟันมือเพื่อส่งสัญญาณให้พูด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้เวลาแบมเป็นพิธีกร ก็จะพูด ๆๆๆ ไปเรื่อยได้เลย รวมถึงจังหวะและความกดดัน ซึ่งแบมก็ไม่เคยที่จะต้องวางตัวซีเรียส ไม่ยิ้มตลอดทั้งรายการมาก่อน พี่รุ่ง (รุ่งธรรม พุ่มสีนิล CEO บริษัท มีมิติ จำกัด) นี่แหละครับที่เป็นคนสอนแบมกับมือ แล้วรวมถึงกระแสโดนด่าเต็มไปหมด โดยเฉพาะเรื่องจังหวะที่อาจจะเร็วไป ทีมงานรายการนี้ละเอียดและซีเรียสมาก ๆ กว่าจะปรับจูนกันได้ก็หลายอีพีอยู่ครับ

ซีเรียสถึงขนาดที่ว่า ช็อตการนำเสนออาหารของเชฟที่ยืนอยู่หน้าสเตชัน สมมติว่า นำเสนออาหารของเชฟคนแรกเสร็จแล้ว ก็จะต้องรอให้กรรมการเคลื่อนตัวไปที่อาหารของเชฟคนถัดไปที่อยู่อีกโต๊ะหนึ่งใช่มั้ยครับ เขาซีเรียสถึงขั้นที่ว่า ระหว่างที่เคลื่อนตัวไป ทีมงานอยากให้เงียบก่อน อย่าเพิ่งไปพูดว่า “เอาละครับ และจานต่อไปนะครับ…” เพราะว่าอารมณ์ของเชฟคนก่อนหน้าที่เพิ่งโดนด่าไป เขากำลังอยู่กับตัวเอง กำลังดาวน์ ซึ่งกล้องกำลังเก็บสีหน้าของเชฟคนนั้นอยู่ แต่ถ้าแบมไปพูด มันเหมือนเป็นการตัดบทให้เขาหลุดจากความรู้สึกนั้นไป อะไรแบบนั้นน่ะครับ ซึ่งพอมาทำรายการนี้ เจอพี่รุ่งที่เขี้ยวมาก คอยถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ ให้ ก็ทำให้เรารู้สึกโตขึ้นเยอะพอสมควรครับ

ด้วยความที่เป็นรายการทำอาหาร จำเป็นไหมที่คุณต้องมีความรู้ด้านอาหารไปด้วย

เชื่อไหมครับ ในรายการมีผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเชฟมืออาชีพ 12 คน มีกรรมการที่เป็นเชฟระดับประเทศอีก 4 คนที่ รวมแบมด้วย ทั้งหมด 17 คน แต่คนที่ไม่รู้เรื่องอาหารเลยคือแบมคนเดียว (หัวเราะ) แต่ทีมงานบอกว่า ไม่จำเป็นหรอก เพราะแบมคือคนที่ทำหน้าที่เหมือนสะพานคอยเชื่อมกับคนดูมากกว่า แบมเป็นเหมือนตัวแทนของคนที่ชื่นชอบเรื่องอาหาร และรู้เรื่องอาหารเท่า ๆ กับคนดู ถ้าเกิดว่ามันมีคำศัพท์หรือมีอะไรซับซ้อน เราก็ต้องมีหน้าที่ถามแทนคนดู เช่นคำว่า ‘Confit’ (กงฟี) คืออะไร เป็นคนที่ถามแทนคนดูได้ ก็เลยกลายเป็นแง่บวกที่ไม่จำเป็นจะต้องรู้เยอะกว่าคนดู อะไรแบบนี้ครับ

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

ถ้าจะให้คุณมีโอกาสเทกโอเวอร์ เป็นพิธีกรรายการนั้นเสียเอง คุณอยากเป็นพิธีกรรายการไหน

แบมอยากทำรายการฟีลประมาณ ‘The Tonight Show Starring Jimmy Fallon’ ซึ่งเป็นรายการของช่อง NBC ครับ เป็นรายการทอล์กโชว์ (Late Night Show) ผสมกับเล่นเกมง่าย ๆ สบาย ๆ แล้วก็ได้เจอกับดาราระดับฮอลลีวูดเยอะเลย หรือถ้าจะเทียบกับของไทย ก็น่าจะประมาณรายการ ‘Woody Show’ ของพี่วู้ดดี้ (วุฒิธร มิลินทจินดา) ที่ซื้อฟอร์แมตรายการ ‘The Ellen Show’ มาทำ ที่เป็นแนวนี้ก็เพราะว่า มันก็คงจะดีถ้าแบมจะได้มีโอกาสเจอกับคนดังระดับประเทศ หรือแม้แต่ระดับโลก แล้วก็ได้เล่นเกม ได้สนุกร่วมกันกับเขา แล้วก็สร้างรอยยิ้มให้กับผู้ชมทั้งในห้องส่งและผู้ชมทางบ้านด้วย ซึ่งก็ค่อนข้างจะเป็นตัวตนของแบมอยู่เหมือนกัน

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

คุณเริ่มต้นมาเป็นทาเลนต์ของ beartai ได้อย่างไร

ก็มีการติดต่อทาบทามมาครับ ว่าสนใจไหมถ้าจะให้มาเป็นพิธีกร พูดเรื่องเกี่ยวกับไอที หรือรีวิวสินค้าของลูกค้า ถ่ายในลักษณะเป็นคลิป อะไรแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว แบมติดตาม beartai มานานมากแล้วนะครับ ตั้งแต่ยุคที่ยังอยู่ทีวีสมัยโน้นเลย ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่า ตอน 4-5 ทุ่มก็จะมานั่งดูกับคุณพ่อเป็นประจำ (หัวเราะ) แล้วก็ตามมาจนกระทั่งเปลี่ยนเป็นออนไลน์แบบเต็มตัว แล้วก็ได้มีโอกาสเจอกับพี่หนุ่ยตามงานอีเวนต์หลาย ๆ งานเหมือนกันครับ ซึ่งเขาก็จะมาชมว่าเก่งมาก ก็ดีใจมากที่ได้เจอครับ พอทาง beartai ติดต่อมาก็เรียกได้ว่ายินดีมาก ๆ จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้ไกลจากงานที่แบมทำเท่าไหร่ครับ เพราะว่าแบมเองก็จะเป็นพิธีกรมือปืนรับจ้าง ไปถ่ายทำคลิปให้กับลูกค้าเจ้าต่าง ๆ อยู่แล้ว อะไรแบบนี้

ตอนแรกที่คุณได้ยินคำว่าทาเลนต์ของ beartai คุณคิดอย่างไร

ณ ตอนนั้น เท่าที่แบมพอจะนึกออกก็คือ พี่หนุ่ยแกเป็นคนที่สร้างคนมามากมายแล้ว ในความเข้าใจของแบมก็คือ พี่หนุ่ยกำลังจะสร้างคนเจนเนอเรชันใหม่ ๆ ที่จะมาเล่าเรื่องของไอที เทคโนโลยี กับคนอีกกลุ่มที่อาจจะเด็กลงมาหน่อย และก็ขยายโมเดลทางธุรกิจออกไปด้วย เพราะลูกค้าก็เข้ามาเยอะมาก การมีทาเลนต์ก็คือคนที่ได้รับไว้วางใจ และเป็นคนที่เข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อัปเดตมาช่วยเล่าเรื่องเหล่านี้ด้วย

คุณสนใจเทคโนโลยีมากแค่ไหน เหมือนเคยเห็นคุณสนใจเรื่องเกี่ยวกับกล้องถ่ายรูปและโดรนเป็นพิเศษ

ใช่ครับ แบมเรียกตัวเองว่าเป็น “Jack of all trade” คือเป็นคนที่สนใจทุกเรื่องแบบผิว ๆ แทบจะทุกเรื่องเลยครับ แล้วด้วยความที่แบมเองก็เป็นเจน Y เป็นคนที่เติบโตและคาบเกี่ยวกับเทคโนโลยี มันก็เลยอยู่ในความสนใจของแบม แล้วแบมเองก็ชื่นชอบ ‘สตีฟ จอบส์’ (Steve Jobs) อยู่แล้วด้วยครับ ทั้งในแง่ของการทำงาน หรือการพรีเซนต์งานเปิดตัวสินค้าของเขาเอง ก็เลยทำให้แบมสนใจเรื่องของเทคโนโลยีมาโดยตลอด เพียงแค่ว่าอาจจะไม่ได้ถึงกับอัปเดต รู้ก่อนใครอะไร หรือบอกตัวเองว่าเป็นผู้รู้ด้านไอทีอะไรขนาดนั้น

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

เล่าถึงบรรยากาศตอนถ่ายคลิปแรกในฐานะทาเลนต์ให้ฟังได้ไหม ว่าตื่นเต้นแค่ไหน เบื้องหลังเป็นยังไงบ้าง

สำหรับคลิปแรกของแบม ถือว่าไม่เกร็งแล้วก็ออกมาไหลลื่นมากนะครับ แม้ว่าจะตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะว่ามันเป็นคลิปแรกด้วยแหละ แต่ที่แบมบอกว่าไม่เกร็งก็เพราะว่า หนึ่ง ทีมงานที่น่ารัก มืออาชีพ แล้วก็ทำงานกันไวมาก และทีมงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนรุ่นใหม่ ก็เลยจะคุยกันรู้เรื่อง สองก็คือ ด้วยความที่แบมเองเป็นพิธีกรมือปืนรับจ้างอยู่แล้ว ก็เลยจะคุ้นเคยและมีความพร้อมในการรับข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามาในหัว เพื่อที่จะพูดข้อมูลได้อย่างเข้าใจอยู่แล้ว

งานรีวิวแรกของแบมคืองานรีวิว ‘ยางรถยนต์ Michelin’ ครับ ซึ่งตอนที่รีวิวก็เป็นอะไรที่เจ๋งมาก เพราะว่าได้เปลี่ยนยางใหม่ด้วย เป็นไอเดียของคลิปที่ทีมงานอยากให้เปลี่ยนยางใหม่ยกเซต แล้วก็ขับออกไปเที่ยว ไปทำงานโน่นนี่นั่นภายในวันนั้นเลย ยิ่งพอเป็นเรื่องเกี่ยวกับยาง เรื่องรถยนต์ที่เราเองก็พอจะมีความรู้อยู่บ้าง ตอนที่ถ่ายก็สนุกด้วย เพราะว่าแบมได้ขับรถจริง ๆ แล้วมีทีมงานตามถ่ายประกบ ซึ่งมันก็ท้าทายดี แล้วก็เป็นคลิปที่แบมเองก็ชอบมากครับ

จริง ๆ ก็ไม่ใช่ว่าคลิป ‘กองทุน BBLAM’ หรือ ‘LINE POINTS Credit Card’ จะไม่สนุกนะครับ แต่ว่าทั้งสองคลิปนั้นเป็นการนั่งโต๊ะพูดที่สตูดิโอ แต่ว่าคลิป ยางรถยนต์ ทำให้เราได้ออกไปเปิดหูเปิดตา ได้ไปเจอนั่นเจอนี่ ต้องขับรถไปด้วย จำสคริปต์ไปด้วย ซึ่งมันสนุกและท้าทายดี ส่วนงานที่ถ่ายในสตูดิโอ ข้อดีก็คือ ถ่ายง่ายและเสร็จเร็ว

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

คลิปที่คุณรีวิวถือว่าหลากหลายมาก เดี๋ยวก็รีวิวรถยนต์ เดี๋ยวเป็นเรื่องการเงิน เลยอยากรู้ว่าคุณมีการเตรียมตัวทำการบ้านยังไงบ้าง

ด้วยความที่ว่าแบมเองมักจะมีงานเข้ามาวันละ 1-2 งาน แบมเองจะใช้วิธีการทำงานแบบวันต่อวันเลยครับ อย่างเช่นเมื่อคืน แบมก็เพิ่งเตรียมงานคลิปตัวล่าสุดก็คือ ‘กองทุน BBLAM’ ที่เพิ่งถ่ายจบไป ถ้ามีงานที่แบมต้องทำก่อนหน้านี้ แบมก็จะไม่ยุ่งกับงานอื่น ๆ เลย ยิ่งถ้าเป็นงานอีเวนต์ที่ใหญ่เป็นพิเศษ เป็นงานระดับประเทศ มีผู้ใหญ่ระดับประเทศมางาน ก็ยิ่งต้องเตรียมตัวหนักมาก

แต่ถ้าเป็นงานปกติ ก็จะใช้วิธีขอสคริปต์มาก่อนครับ ซึ่งปกติแบมจะขอให้ทีมงานส่งสคริปต์มาให้ก่อนอยู่แล้ว คืนก่อนวันถ่ายจะได้มีโอกาสได้อ่านก่อน แล้วก็โชคดีด้วยครับ ตรงที่ว่าเนื้อหาที่แบมได้ทำมักจะหนักไปทางไลฟ์สไตล์ซะเยอะ แล้วก็เชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ของแบมด้วย ก็เลยสามารถเล่าได้แบบสบาย ๆ เป็นธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องเน้นข้อมูลจ๋า ๆ ซึ่งถือว่าโชคดีมาก ๆ ครับ

ถ้าจะให้คุณให้คะแนนการเป็นทาเลนต์ของตัวเอง คุณอยากให้กี่คะแนน

อาจจะให้ประมาณ 7 คะแนนครับ ข้อดีคือ แบมว่าตัวแบมเองมีความตั้งใจทำงานครับ มีการทำความเข้าใจสคริปต์ก่อนจะพูด และมีระบบระเบียบในการทำงาน ซึ่งทีมงานก็มีส่วนช่วยทำให้มันมีความเป็นระบบและงานเสร็จไว ซึ่งถือว่าเป็นมืออาชีพครับ เป็นเรื่องที่ดี ส่วนข้อเสียที่หักไป 3 คะแนน แบมคิดว่าคงต้องให้เวลาตัวเองในการศึกษาเรื่องไอทีให้มากกว่านี้ครับ

เพราะว่าก็อย่างที่แบมบอกไปว่า ศึกษาเรื่องนี้ค่อนข้างผิวเผิน มันจะต่างจากตอนที่แบมเป็นพิธีกรอีเวนต์ เพราะว่าอันนั้นแบมเป็น MC หรือ Master of Ceremonies เป็นคนทำหน้าที่เชื่อมเรื่อง เปิดงาน ส่งเข้าคิวต่าง ๆ ส่งเข้าคิวสำคัญ แล้วก็ปิดงาน แต่พอมาเป็นทาเลนต์ เราต้องเป็นคนที่เล่าข้อมูลนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจเรื่องที่จะพูด แล้วก็ย่อยออกมาเพื่อให้คนฟังเข้าใจได้ง่าย กระชับ แล้วก็เป็นคำพูดของตัวเอง ซึ่งแบมเองต้องหาข้อมูลอีกเยอะเลยครับ ก็เลยหัก 3 คะแนนตรงจุดนี้ครับ

คุณมีจุดสูงสุดของการเป็นทาเลนต์บ้างไหม

ดีเลยครับ…จะได้ตั้งเป้าเอาไว้เลย (คิดนาน) ได้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือพรีเซนเตอร์ของสินค้าที่รีวิวครับ เป็นสินค้าที่เจ้าของสินค้าไอที สินค้าเทคโนโลยี ที่ได้เห็นคลิปที่แบมเป็นทาเลนต์รีวิว แล้วเขาชอบจนอยากจ้างเราให้เป็นพรีเซนเตอร์เลย อันนี้ดีเลยครับ จะได้ตั้งเป้าเอาไว้เลย ถ้าได้เป็นจริง ๆ เดี๋ยวจะพาพี่ไปเลี้ยงข้าว (หัวเราะ)

คำถามสุดท้าย ถ้าคุณได้มีโอกาสทำคอนเทนต์ของตัวเอง และเป็นทาเลนต์ด้วยตัวเอง คุณอยากทำเนื้อหาแบบไหน

แบมอยากทำเรื่องเกี่ยวกับ Metaverse และ NFT ครับ เพราะแบมรู้สึกว่ามันมาแน่ และตัวแบมเอง ณ ตอนนี้ มีความเข้าใจแบบบาง ๆ ที่พอจะอธิบายในฐานะพิธีกรงานอีเวนต์ได้ แต่ว่ายังไม่ได้มี Land เป็นของตัวเอง หรือมี NFT เป็นของตัวเอง แบมก็เลยอยากเป็นคนที่รู้เรื่องนี้ และสามารถอธิบายเรื่องนี้จนทำให้คนเห็นภาพเราในฐานะคนที่อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ แล้วเอาไปต่อยอดกับงานอย่างอื่นได้อีกเยอะเลย

นึกออกอีกอันหนึ่งครับ คืออันนั้นแบมมองว่ามันเป็นโอกาสนะครับ แต่ถ้าเอาแบบว่า จาก Passion เลย แบมอยากรีวิวรถเจ๋ง ๆ ครับ ตอนนี้เราก็มีคลิปรีวิวรถ EV แล้ว แต่แบมว่าน่าจะดี ถ้าจะมีรีวิวซูเปอร์คาร์ด้วย ซึ่งก็น่าจะรีวิวได้นะครับ เพราะปกติซูเปอร์คาร์ก็จะมีเทคโนโลยีในนั้นอยู่แล้ว และแบมเองก็ชอบซูเปอร์คาร์อยู่แล้ว ก็เลยอยากรีวิว อยากลองไปนั่ง ลองขับดู ก็คิดว่าน่าจะเจ๋งดีครับ

แบม ปีติภัทร คูตระกูล

ที่คุณว่า Metaverse มาแน่ แสดงว่าเดี๋ยวต่อไป งานอีเวนต์ต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้นบน Metaverse แน่นอน คุณในฐานะที่เป็นพิธีกรอีเวนต์มืออาชีพ ตอนนั้นคุณจะก้าวขาเข้าไปอยู่ในนั้นได้ยังไงบ้าง

ถูกต้องเลยครับ นี่คือสิ่งที่แบมเห็นด้วยเลยว่า ในที่สุดวันหนึ่ง งานอีเวนต์มันเกิดขึ้นบน Metaverse แน่ ๆ ซึ่งแบมเองก็อยากมีชื่ออยู่ในนั้น อยากให้ลูกค้าทุกคนนึกถึงว่า ถ้านึกถึง Metaverse ก็ต้องนึกถึงแบม เช่นสมมติว่า ถ้าแบรนด์ Nike อยากจะจัดอีเวนต์บน Metaverse เป็นแบรนด์แรกในโลก อยากให้เขานึกชื่อของแบม เพราะเคยพูดถึงเรื่องนี้เป็นคลิปใน beartai และไม่ได้ห่างไกลจากเรื่องนี้ เพราะว่าติดตามอยู่ตลอด

และถึงตอนนั้น แบมอาจจะมี Land อยู่ในนั้นแล้วก็ได้ ถ้างั้นก็เอาแบมไปเป็นพิธีกรงานอีเวนต์ในนั้นได้เลย หรืออาจจะให้แบมเป็นแขกรับเชิญ ในฐานะคนที่มี Land อยู่ในนั้นก็ได้ เอาสินค้ามาขายใน Land ของแบมก็ได้ หรือจะให้ Avatar ของแบมใส่รองเท้า Nike เดินอยู่ในนั้น แล้วก็พูดคุยกันในนั้นก็ได้ มันเป็นไปได้หมดเลย

อยากให้คนที่นึกถึงเรื่องของอนาคต เรื่องเทคโนโลยี แล้วนึกถึงแบม อะไรแบบนี้ครับ


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส