โดย
พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธาน กสทช.
[email protected]

ปัจจุบันทั่วโลกมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจำนวนเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ประกอบกับมีการขยายโครงข่ายโทรคมนาคมอย่างต่อเนื่องและมีให้บริการได้หลากหลายช่องทางด้วยกัน ได้ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชากรในปัจจุบันต้องพึ่งพาและอาศัยการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น จึงทำให้ในปัจจุบันมีกระแสความนิยมของการใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกอัจฉริยะที่รู้จักกันดีในกลุ่ม Smart gadgets หรือ Wearable devices แม้กระทั่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับและสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างง่ายดาย สิ่งเหล่านี้ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งรียกว่า Internet of Things (IoT)

จากบทความของ McKinsey เรื่อง “Disruptive technologies: Advances that will transform life, business, and the global economy” กล่าวว่า Internet of Things (IoT) ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนเกมในทศวรรษหน้า ซึ่งแนวคิดของ IoT ถือเป็นความท้าทายของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ทั้งในระดับธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคม

 Internet of Things (IoT) หมายถึง การที่สิ่งต่างๆ ถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต

สำหรับนิยามของ Internet of Things (IoT) หมายถึง การที่สิ่งต่างๆ ถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่างเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต ทำให้มนุษย์สามารถสั่งการ ควบคุมใช้งานอุปกรณ์ต่างๆผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การสั่งเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องมือทางการเกษตร เครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม อาคาร บ้านเรือน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น หากวันนั้นมาถึงอย่างเต็มรูปแบบ จะเป็นทั้งประโยชน์อย่างมหาศาล และมีความเสี่ยงไปพร้อมๆ กัน เพราะหากระบบรักษาความปลอดภัยของอุปกรณ์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่ดีพอ จะทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามากระทำการที่ไม่พึงประสงค์ต่ออุปกรณ์ข้อมูลสารสนเทศหรือความเป็นส่วนตัวของบุคคลได้

แนวคิดในเรื่องเครือข่ายของ Smart devices ดังกล่าวข้างต้น มีมาตั้งแต่ปี 1982 (2525) โดยมีการสร้างตู้หยอดเหรียญซื้อโค้กที่ Carnegie Mellon University (เดิมชื่อ Carnegie Institute of Technology) ซึ่งประดิษฐกรรมนี้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตเครื่องแรกของโลก ตู้นี้สามารถรายงานว่ามีสต็อกเหลืออยู่กี่กระป๋อง กระป๋องที่ใส่เข้าไปเย็นหรือยังฯลฯ ในปี 1991 (2534) Mark Weiser เขียนบทความสำคัญชื่อ “The Computer of the 21th Century” และตามมาด้วยงานเขียนของนักวิชาการอีกหลายคนจนเกิดวิสัยทัศน์ในเรื่อง IoT ขึ้น แนวคิดของ IoT พัฒนาเป็นลำดับจนเกิดโมเมนตัมในปี 1999 (2542) โดยเป็นความคิดในเรื่องการสื่อสารชนิดจากอุปกรณ์ถึงอุปกรณ์ (Device to Device: D2D) เช่น ตู้เย็นถึงมือถือ มือถือถึงเครื่องปรับอากาศ เครื่องจักรถึงเครื่องจักร ฯลฯ IoT ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ในตอนแรกคิดว่าการสื่อสารถึงกันผ่าน Radio-frequency identification (RFID) เป็นเงื่อนไขสำคัญของ IoT โดยคิดว่าถ้าทุกสิ่งของและมนุษย์ทุกคนมี ID (identification) แล้ว คอมพิวเตอร์ก็สามารถจัดการได้เกือบทุกเรื่อง

โดยทั่วไปแล้ว IoT ในปัจจุบันปรากฏผสมผสานอยู่ในรูปแบบของบ้านอัจฉริยะ แอปพลิเคชั่น (applications) อุปกรณ์สวมใส่ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ในภาคอุตสาหกรรม แต่ความเป็นจริง IoT มีมากกว่านั้น ซึ่ง IoT Analytics สามารถจำแนกได้ออกเป็น 2 ส่วน คือ ผู้บริโภค และภาคธุรกิจ โดยในส่วนของผู้บริโภคสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ การใช้งานภายในบ้าน การใช้ชีวิต สุขภาพ และยานยนต์ และสำหรับการใช้งานในภาคธุรกิจสามารถแบ่งออกเป็น 8 กลุ่มย่อยด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มธุรกิจสุขภาพ กลุ่มพลังงาน กลุ่มธุรกิจยานยนต์ เมือง ภาคผลิต ภาคบริการ และอื่นๆ

 ต้นทุนของการผลิตอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่มีระบบ IoT จะลดลงครึ่งหนึ่งในทุก 10 ปี

ปัจจุบันพบว่าการประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud) ข้อมูลขนาดใหญ่ การวิเคราะห์ และการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกับเทคโนโลยี มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลให้เกิดการนำ IoT มาใช้อย่างแพร่หลาย และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การสร้างและกำหนดอนาคตของระบบไอซีทีเพื่อลดต้นทุนให้น้อยลง จะช่วยสร้างสภาวการณ์ที่ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยจากการเลือกรับและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเหล่านั้น นอกจากนี้ ยังมีบางแนวโน้มที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องคือ ต้นทุนของการผลิตอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่มีระบบ IoT จะลดลงครึ่งหนึ่งในทุก 10 ปี

การเชื่อมต่อในโลกดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยที่การเชื่อมต่อไม่เพียงแต่เป็นเรื่องจำเป็น แต่ถือเป็นเรื่องสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศต่างๆทั่วโลก และในการส่งต่อข้อมูลระหว่างธุรกิจ ลูกค้า หน่วยงาน บริการ และการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด การเชื่อมต่อในโลกดิจิทัลจึงถือว่าเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงของประเทศได้อย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม

เกี่ยวกับผู้เขียน

Col. Settapong Malisuwan
Ph.D. in Telecom. Engineering
D.Phil. (candidate) in Cybersecurity Strategy and Management
MS. in Mobile Communication
MS. in Telecom. Engineering
BS. in Electrical Engineering
Cert. in National Security (Anti-terrorism program)
Cert. in National Security (Defense Resource Management)
Cert. in National Security (Streamlining Gov.)
Cert. in Spectrum Management

Cert. in Intellectual Property