เมื่อวานนี้ทาง Sony Playstation ได้ปล่อยวิดิโอ Playstation 5 Teardown ออกมาให้เหล่าสาวกได้รับชมภายในตัวเครื่องของ PS5 กันเต็ม ๆ โดยภายในวิดิโอนั้นได้โชว์ถึงชิ้นส่วนภายในมากมาย และในวันนี้ทางเราจะมา Deep-Dive Hardware ของเจ้า PlayStation 5 กันครับ

โดยภายในวิดิโอนี้ เราได้คุณ Yasuhiro Ootori, Hardware Design ของ Sony Interactive Entertainment มาเป็นผู้สาธิตวิธีการถอดชิ้นส่วนของเจ้าเครื่อง PS5 นี้ และเพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เราไปดูกันเลย


ภายนอกตัวเครื่อง


อย่างแรกเรามาดูตัวเครื่องกันก่อนเลยครับ เป็นอย่างที่หลาย ๆ คนทราบกันว่าเจ้า PS5 มันมีขนาดใหญ่มาก ๆ โดยมันมีขนาด ความกว้าง 10.4 เซนติเมตร ความสูงมากถึง 39 เซนติเมตร และความยาว 26 เซนติเมตร โดยถ้านึกภาพไม่ออก ผมแนะนำให้ลองนึกถึงเคสคอมพิวเตอร์ขนาด ATX หรือ Micro-ATX ที่มีความกว้างน้อยกว่า 10 เซนติเมตร หรือไม่ก็ลองไปหาไม้บรรทัดมาลองวัดดู นั้นล่ะครับ คือขนาดของ PS5

ในด้านหน้าตัวเครื่อง จะมีช่อง USB-A แบบ Hi-Speed และ USB-C แบบ SuperSpeed 10GB อยู่อย่างละช่อง

ส่วนด้านหลังจะมี USB-A SuperSpeed 10GB อยู่ 2 ช่อง พร้อมกับ LAN Port, HDMI Out และ AC In Connector เป็นอย่างที่รู้กันว่าด้านหลังของ PS5 นั้นไม่มีช่อง S/PDIF หรือ Optical Audio Out อีกต่อไปแล้ว แต่จุดที่น่าสังเกตคือ ช่องต่อสำหรับ PS Camera นั้นก็หายไปด้วย แล้วแบบนี้เราจะเอา PSVR ไปใช้ยังไงหว่า

ในด้านหน้านั้นจะมี Air Vent อยู่ทั้งหมด 2 ชุด และด้านหลังเกือบทั้งหมดเป็น Air vent ขนาดใหญ่ที่เอาไว้เปาลมออกแบบจัดเต็ม งานนี้ใครมีแพลนจะวางตัวเครื่องไว้ที่ไหน ก็ต้องจัดการกับพื้นที่ไว้ให้ดี ๆ ให้สามารถระบายความร้อนออกจากทางด้านหลังได้ดีนะครับ

ในส่วนของขาตั้งนั้นได้แถมมาให้กับตัวเครื่องอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าเราจะสามารถวางตั้งหรือวางนอนก็ได้ โดยถ้าหากเราอยากจะวางนอน ก็สามารถใช้ขาตั้งที่มากับตัวเครื่องถอดประกอบเข้ากันใหม่ และวางนอนได้เลย


ภายในตัวเครื่อง


ถอดเองได้ง่าย ๆ

เราสามารถถอดฝาหลังตัวเครื่องออกได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเลย โดยการดึงแผ่นและสไลด์มันออกมา คล้าย ๆ กับของ PS4 โดยสามารถทำได้ทั้งสองด้านเลยครับ

Dust Catcher ใหญ่ ๆ สองจุด

เมื่อเปิดออกมาเราจะเจอกับพัดลมขนาดใหญ่ที่เปาลมทั้งสองด้าน มาพร้อมกับ Dust Catcher อยู่สองจุด โดยมันจะทำให้การทำความสะอาดฝุ่นของเราเป็นเรื่องง่ายขึ้นเยอะมาก (ไม่ต้องถอดพัดลมและ Heatsink ออกมาทั้งอันอีกแล้ว)

ช่อง SSD M.2 PCie4.0 พร้อมรอเสียบ !!

และแน่นอน จุดนี้จะทำให้หลายคนหายสงสัย ด้วยขนาด Storage ของ PS5 ที่ค่อนข้างน้อย เราสามารถติดตั้ง SSD M.2 PCie 4.0 ลงไปได้ง่าย ๆ โดยเปิดฝาหลังออก และขันน็อตเพื่อเปิดฝาเหล็กพร้อมติดตั้งได้เลย และอย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยัน ว่าจะเป็น M.2 รุ่นไหนก็ได้ที่มีขายตามท้องตลาด หรือต้องเป็นรุ่นที่รองรับโดย Sony แล้วเท่านั้นครับ (ที่แน่ๆ คือต้องเป็นการ์ด M.2 ระดับ PCIe Gen 4 ขึ้นไป ถึงจะแรงพอ)

เรามาดูที่ระบบระบายความร้อนกันต่อเลยครับ พัดลมที่ PS5 ใช้นั้นมีขนาดใหญ่มากโดยมันมี เส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 12 เซนติเมตร และมีความหนา 4.5 เซนติเมตร เป็นพัดลมแบบ Double-Sided Intake

มาพร้อมกับ Heatsink ขนาดโคตรใหญ่ ที่บอกได้เลยว่าสาเหตุที่ PS5 เครื่องใหญ่ ก็เพราะไอ่เจ้า Heatsink นี่ล่ะครับ

ใหญ่จริง ๆ

แน่นอนว่ามันเป็น Heatpipe แบบเดิมเหมือนกับ Heatsink ทั่ว ๆ ไป แต่ด้วยการจัดการ และการออกแบบ ทำให้การทำงานของมันนั้นแทบจะเหมือนกับ Heatsink แบบ Vapor Chamber เลย ด้วยการจัดการ Airflow รูปร่าง และขนาดของมัน มั่นใจได้เลยครับว่ามันต้องเย็นแน่ ๆ

หรือถ้ายังเย็นไม่พอ ผมขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับ Liquid Metal ครับ

PS5 นั้นได้เลือกใช้ Liquid Metal เป็น Cooling Compound แทน Thermal Paste หรือที่เราเรียกกันว่า ซิลิโคน โดยในวงการ PC นั้นมันเป็นอะไรที่ค่อนข้างอันตรายหากผู้ใช้ติดตั้งเองไม่เป็น หรือไม่ชํานาญพอ อีกทั้งมันยังมีราคาที่สูงอยู่ หากเทียบกับ Thermal Paste ทั่ว ๆ ไปครับ

โดย Sony ใช้เวลาอยู่เกือบ 2 ปีเพื่อศึกษามัน และเอามาใช้กับ PS5 ถือว่าเป็นอะไรที่เจ๋งมาก ๆ เพราะมันจะทำให้ PS5 ของเราสามารถรักษาระดับความร้อนเอาไว้ได้ดี และที่สำคัญสุด ๆ ก็คือเราอาจจะไม่จำเป็นต้องแกะตัวเครื่องมาเปลี่ยน Cooling Compound ใหม่อีกต่อไปแล้ว

อย่างใน PS4 ที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยมีประสบการณ์ตัวเครื่อง Overheat อยู่บ้างเมื่อเล่นไปนาน ๆ เนื่องจากเครื่องบางคนที่เก่าและนานมากแล้ว ทำให้ซิลิโคนเริ่มแห้ง ไหนจะเรื่องฝุ่นที่เข้าไปเกาะในพัดลมและ Heatsink อยู่อีกมากมาย ส่งผลให้ PS4 ของใครหลาย ๆ คนกลายเป็นเครื่องบินเจ็ท เวลาเปิดเล่นเกมนั้นล่ะครับ

โดยทั้งหมดนี้ถือว่า Sony ได้ทำการบ้านมาค่อนข้างได้ดี โดยเราน่าจะมั่นใจได้ในระดับหนึ่งเลยว่า PS5 น่าจะแก้ปัญหาความร้อนได้ ทั้งความร้อนสะสม และการระบายความด้วย ด้วยความสามารถของ Liquid Metal และ Heatpipe ขนาดใหญ่ ทำให้เราบอกลาปัญหา Overheat กันได้เลยครับ


Mainboard


ก่อนหน้านี้หลาย ๆ คนก็น่าจะได้รู้ถึงสเปกที่แท้จริงของ PS5 กันไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเราก็มาดูที่ตัวบอร์ดกันหน่อยครับ โดยหน้าตาของมันก็ยังคงเป็น PCB สีเขียวดั้งเดิม โดยคราวนี้ Sony ได้มีการออกแบบ Socket และ TIM ใหม่เพื่อรองรับการใช้งาน Liquid Metal และทำให้การระบายความร้อนได้ดีขึ้นกว่าเดิม

โดย CPU ของมันเป็น AMD Ryzen Zen 8 Cores / 16 Threads รันที่ 3.5GHz พร้อมกับ GPU AMD Radeon RDNA 2 up to 2.23GHz 10.3TFlops รองรับ Ray Tracing และมี RAM 16GB GDDR6/256bit

โดยจุดที่น่าสนใจทั้งหมดของ PS5 นี้ สำหรับผมอยู่ที่ตัว Custom SSD Controller Chip ที่ติดตั้งมาพร้อมกับ SSD 825GB โดยมันมี Read Speed อยู่ที่ 5.5GB/s แบบ Raw Data และ 8-9GB/s แบบ Compressed และด้วยค่า Bandwidth ที่สูงขนาดนี้ ทำให้เราสามารถโหลดไฟล์ 16GB ได้ใน 2 วินาที เลยทีเดียว

ก่อนหน้านี้ทาง Sony เคยได้ออกมาพูดถึงเรื่อง SSD ของตัว PS5 เองแล้ว โดยเราสามารถทำความเข้าใจกับมันง่าย ๆ โดยลองนึกภาพถึงการเล่นเกบแบบไม่มี Loading Screen หรือแม้การโหลด Patch ที่ไม่ต้องรอติดตั้งนาน ๆ อีกต่อไป หมดปัญหาเรื่องการ Streaming Texture สาหรับเกมที่อัด Texture มาเยอะ ๆ แต่อย่างไรก็ตามทางเราก็ยังไม่สามารถยืนยันอะไรได้ เนื่องจากว่าเรายังไม่เคยเล่นเกม PS5 เลยนั้นล่ะครับ

สุดท้ายคือ Ultra HD Blu-ray Drive ที่มาพร้อมกับแผ่นเหล็กหนา 2 ชั้น โดยมันจะลดทั้งเรื่องเสียง และการสั่น ขณะที่แผ่นกำลังหมุนอยู่ครับ

นอกจากนี้ตัวเครื่องก็ยังมาพร้อมกับ Wi-Fi 6 และ Bluetooth 5.1 พร้อมกับ PSU อยู่ที่ 350W ครับ


บอกตามตรงว่า จากตอนแรกที่ตัวผมเองไม่ค่อยชอบขนาดของตัวเครื่องสักเท่าไร แต่หลังจากที่ได้ดู Video Teardown ก็พอจะเข้าใจว่าทำไมตัวเครื่องมันถึงต้องใหญ่ขนาดนี้ ดูจากขนาด Heatsink ที่บอกตามตรงว่าตัวผมเอง เห็นครั้งแรกถึงกับตกใจเลยทีเดียว

แน่นอนว่าหากในอนาคตทางเราได้เครื่อง Playstation 5 มาอยู่ในมือเมื่อไร ทางเราจะไม่พลาดหยิบมันมา Review กันแน่นอนครับ