ผู้ใหญ่หลายคนพร่ำบ่นกันว่า โอ้ยยย เด็กสมัยนี้ ใช้เวลาไปกับอะไรไม่รู้ ไม่เกิดประโยชน์เลย.. วันนี้แบไต๋เลยจะมาพิสูจน์ว่า ไม่เสมอไป!! เด็กรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ที่ใช้เวลาไปอย่างคุ้มค่าและมีคุณค่าสุดๆ นั้นมีอยู่มากมาย และวันนี้แบไต๋จะพาคุณผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับ พรีม – แพรพลอย ทูลสูงเนิน สาวนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีงานอดิเรกเป็นสาวอาสาสมัครกู้ภัย!!

เริ่มจากเรื่องเรียนก่อนเลย ทำไมเลือกเรียนนิเทศศาสตร์

เพราะว่าพรีมสนใจเกี่ยวกับงานสื่อค่ะ และมันมีหลากหลายวิชาให้เราได้เลือก เช่น เป็นดีเจวิทยุ ได้ลองงานทั้งเบื้องหลังรายการและเบื้องหน้าเลย

ส่วนสาขาวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่พรีมเรียน จะสอนตั้งแต่หลักเบื้องต้น ของงานวิทยุ ไปจนถึงได้ปฏิบัติจริงเลยค่ะ และก็รวมทั้งงานโทรทัศน์ด้วย อย่างวิชาผลิต ได้ลงมือทำงานจริงๆ เลย แทบทุกกระบวนการ ลองมาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น เอ็มวี หนังสั้น รายการ.. ตอนเรียนก็เลยต้องทำทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังเลยค่ะ ประสบการณ์ล้นหลามเลย

เล่าชีวิตในรั้วรังสิตให้ฟังหน่อย

สังคมของมหาวิทยาลัยรังสิต ค่อนข้างจะชิลๆ อยู่แบบพี่น้อง อาจารย์ให้คำปรึกษาดี เป็นกันเองค่ะ เพื่อนๆ ช่วยเหลือกันดีไม่แบ่งชนชั้น มีอะไรก็ช่วยกันเสมอ ส่วนกิจกรรมในมหาวิทยาลัยของพรีมก็ไม่ค่อยมีอะไรมากมายค่ะ เพราะพรีมมาเข้าเทอม1แบบไม่ได้รับน้อง เลยไม่ค่อยรู้จักใครเยอะ ไม่ได้ทำกิจกรรมมากมายด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นงานอดิเรกอย่างงานกู้ภัย ที่ทำควบคู่กับการเรียนมาตลอดเลย

งานอดิเรกของน้องพรีมที่ทุกคนต้องร้องว้าว

เวลาว่างๆ พรีมจะทำงานอาสาค่ะ (ยิ้ม) อาสากู้ภัยนั่นเอง พรีมคิดว่าการทำอาสา มันทำให้เรา ได้อุทิศตัวเองให้เป็นประโยชน์ ออกไปช่วยคนอื่นที่เดือดร้อน ออกไปช่วยสังคมค่ะ ดีกว่าเราทิ้งเวลาวันๆ ไปอย่างเปล่าประโยชน์

เป็นมายังไง ทำไมถึงทำงานอาสาสมัครกู้ภัยได้

ย้อนกลับไปตอนเรียนมัธยมเลยค่ะ พรีมมีโอกาสได้รู้จักกับรุ่นพี่ที่เขาเป็นอาสาสมัครกู้ภัยและเราได้เห็นเขาทำงาน เราเริ่มเข้าไปคลุกคลีกับเขา เราก็เกิดความรู้สึกอยากทำขึ้นมาเลย แต่เนื่องด้วยเราเป็น เด็กต่างจังหวัดและเป็นผู้หญิง เวลาจะทำงานด้านนี้ ก็เลยค่อนข้างยากนิดนึง จากที่พรีมสัมผัสมา เมื่อก่อนเนี่ย คนจะมองอาสากู้ภัยในทางลบพอสมควร แล้วผู้ปกครองพรีม ก็ไม่อนุญาตให้พรีมไปทำ ท่านก็บอกว่าเป็นห่วงเรา กลัวว่าจะมีอันตราย เพราะเราก็เป็นผู้หญิงด้วย ต้องอยู่กับผู้ชายเยอะๆ ออกไปตอนดึกๆ ที่บ้านก็เลยเป็นห่วงเรา ไม่อยากให้เราทำด้านนี้เท่าไหร่

พอเข้ามาเรียนมหาวิทยาลัย ก็ได้มารู้จักกับรุ่นพี่ที่เขาเป็นอาสาอีก เขาเห็นว่าเราเองก็สนใจงานด้านนี้ ก็เลยชวนพรีมไปหาประสบการณ์ พรีมเองก็คิดว่าโอกาสมาถึงละ อยากทำมานานแล้ว (หัวเราะ) ก็เลยไปลองเลยค่ะ พอลองไปหลายๆ ครั้งเข้า ก็ยิ่งรู้สึกว่ามันใช่ เราชอบงานด้านนี้ ก็เลยตัดสินใจสอบ แล้วก็ลงมือทำจริงจังเลย แรกๆ ก็อาจจะมีสั่นๆ บ้าง (หัวเราะ) ตื่นเต้น ทำอะไรไม่ถูก แต่พอนานๆ ไปก็เริ่มชิน จัดการกับตัวเองได้ดีขึ้นค่ะ

ความท้าทายของงานอาสาสมัครกู้ภัย

จริงๆ งานด้านนี้มันไม่ได้ยากและก็ไม่ได้ง่าย เพราะว่าการจะเข้ามาทำงานอาสาได้ คนที่เริ่มทำก็ต้องผ่านการอบรมและสอบกับหัวหน้าจุดมาก่อนอยู่แล้ว ถ้าท้าทายจริงๆ คงเป็นเรื่องของการตั้งสติและปรับตัวมั้งคะ เพราะเวลาเจอเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละครั้งเนี่ยจะไม่ค่อยซ้ำกันเลย มีเหตุเบาบ้าง เหตุรุนแรงบ้าง ปนๆ กันไป เราก็ต้องมีสติและปรับตัวให้ทัน แต่ข้อดีคือทุกๆ เหตุ ทำให้เราได้เรียนรู้ และได้ประสบการณ์เพิ่มเติมค่ะ ที่สำคัญคือในการทำงานจะต้องไม่เป็นตัวถ่วงของทีม เราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้การปฐมพยาบาลและเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเร็วที่สุด ส่วนมากก็จะทำงานเป็นทีม เราก็ต้องเข้ากับทุกคนในทีมให้ได้ด้วย

ถ้าสนใจอยากทำงานด้านนี้บ้าง ต้องเริ่มต้นยังไงคะ

ถ้าเกิดว่ามีคนสนใจอยากทำงานอาสาสมัครกู้ภัย ก็ไม่อยากเลยค่ะ แค่ติดต่อ กับจุดที่ใกล้บ้านเรา แต่จะต้องมีอายุ 18 ปี ขึ้นไปนะคะ แต่ถ้าอายุน้อยกว่า 18 ปี แล้วอยากทำ ก็ให้ผู้ปกครอง เซ็นต์อนุญาตทำงานให้ได้ค่ะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหัวหน้าจุดตามความเหมาะสมด้วย และพอเข้ามาแล้ว เขาก็จะมีการสอนทักษะเบื้องต้น 5 อย่างให้กับเราค่ะ คือ 1.การใช้กระเป๋ายาหรือกระเป๋าปฐมพยาบาล 2.การดาม  3.การเคลื่อนย้าย  4. กระเป๋ากู้ชีพ  และสุดท้ายการซีพีอาร์ค่ะ จากนั้นเราก็ต้องไปสอบในแต่ละฐาน ซึ่งจะมีหัวหน้าจุดคอยควบคุมดูแลตลอด ถ้าเราสอบผ่านหมด หัวหน้าจุดก็จะอนุมัติให้เราไปตัดชุดได้ค่ะ นั่นคือเราผ่านแล้ว ได้เข้าทำงานอาสาสมัครค่ะ แต่การสอบยังมีรายละเอียดอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละจุดด้วย ซึ่งแต่ละจุดอาจจะไม่เหมือนกันนะคะ

เล่าเหตุการณ์ที่น้องพรีมประทับใจที่สุดให้ฟังหน่อย

พรีมเคยไปรับคุณตาท่านหนึ่งที่ป่วยไปโรงพยาบาลค่ะ ซึ่งคุณตาเขาอาศัยเพียงลำพัง เนื่องจากลูกหลานไปทำงานกันหมด คุณตาเลยโทรขอความช่วยเหลือจากอาสากู้ภัย พอเราไปถึงก็ประเมินอาการคุณตาเบื้องต้น แล้วจึงนำคุณตาไปส่งโรงพยาบาล

ในขณะที่อยู่บนรถ คุณตาก็ถามว่า “ค่ารถเท่าไหร่” เราก็เลยบอกไปว่า “ไม่เสียเงินค่ะคุณตา เราไปส่งคุณตาที่โรงพยาบาลฟรี ไม่คิดเงิน” คุณตาเขาก็ตกใจนิดนึง แล้วเขาก็เล่าให้ฟังว่า “วันเก่า เขาให้คุณตาไปส่ง แล้วคิดค่าไปส่ง 500 บาท” แล้วคุณตาก็ถามย้ำอีกครั้งว่า “ไม่เอาเงินจริงๆ หรอ” เราจึงตอบไปว่า “เราไม่เอาเงิน ให้คุณตาเก็บเงินไว้เป็นค่ารักษาที่โรงพยาบาลต่อไป ถ้าคุณตาไม่มีใครให้คุณตาโทรเบอร์ 1418 หรือ 1669 แล้วพวกเราจะมารับคุณตาไปโรงพยาบาลเอง ให้คุณตาคิดซะว่า พวกหนูเป็นลูกเป็นหลานของคุณตาคนนึง” แล้วคุณตาก็ยกมือไหว้ พร้อมขอบคุณพวกเราค่ะ พวกเราจึงตอบกลับไปว่า “ไม่เป็นไรค่ะ ปู่พวกหนูก็อายุพอๆ กับคุณตาแหละค่ะ แต่เป็นโรคเยอะกว่าคุณตา หนูเข้าใจ” พอถึงโรงพยาบาล คุณตาก็ขอบคุณพร้อมอวยพรให้พวกเรา “เจริญๆ นะลูก” พวกเราก็ตอบว่า “ขอให้คุณตาหายไวๆ แข็งแรงๆ นะคะ”

จริงๆ แล้วทุกเหตุการณ์ที่เราไปเจอ เราสามารถช่วยชีวิตคนให้เขากลับไปอยู่กับครอบครัวได้ มันคือสิ่งที่ทำให้พวกเราดีใจ พวกเราไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน แต่ได้รับค่าตอบแทนเป็นคำขอบคุณ เพียงแค่เท่านี้ก็มีกำลังใจในการทำงานต่อ

แอปที่พรีมใช้ในการทำงาน

เป็นแอปจัดสรรเวลาแต่ละวันค่ะ และก็จัด To do list อะไรแบบนี้ เพราะเราเรียนไปด้วย ทำงานด้านนี้ไปด้วย ก็ต้องจัดเวลาให้ดีเลย พรีมชอบใช้ TickTick ค่ะ

เป็นแอปที่จดลิสต์รายการว่าเราต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ซึ่งใช้งานง่ายมากๆ สามารถตั้งค่าแจ้งเตือนกันเราลืมได้ด้วย แถมยังเชื่อมกับ Gmail อีก พรีมว่าสะดวกดีค่ะ ลองไปโหลดมาลองใช้กันดู

ดาวน์โหลด

อ่านบทสัมภาษณ์ไป อดยิ้มไปไม่ได้เลย เพราะน้องพรีมได้เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า คนยุคนี้ ก็เป็นหนึ่งในคนที่ขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าอย่างมีคุณค่าไม่แพ้คนยุคอื่นๆ และก่อนจากกันวันนี้แบไต๋คงต้องทิ้งท้ายประโยคหนึ่ง ที่ได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับน้องพรีม

ทำในสิ่งที่เรารัก สิ่งนั้นจะให้ความสุขกับเรา ไม่ว่าเราจะได้ผลตอบแทนภายนอกหรือไม่ก็ตาม