หลังจากที่ FAA ( Federal Aviation Administration ) หรือองค์กรการบินที่กำกับดูแลการบินพลเรือนในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการปรับลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศของไทย จากระดับปกติ (Category 1) เป็นระดับที่ต่ำกว่ามาตรฐาน (Category 2) ส่งผลให้สายการบินของไทยไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินไปยังสหรัฐอเมริกาได้นอกเหนือจากเที่ยวบินประจำฤดูกาลที่ได้รับอนุญาตแล้วนั้น

ดังที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยไม่มีสายการบินใดที่บินเข้าไปยังสหรัฐอเมริกาหลังจากที่ การบินไทย ตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบิน กรุงเทพฯ/ลอส แองเจลลิส ไปก่อนหน้าการปรับลดอันดับไม่นาน

ผลกระทบโดยตรงในแง่ของธุรกิจจึงยังไม่มีหรือยังไม่ส่งผล แต่มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของวิบากกรรมอันยาวนาน

ผู้อ่านท่านครับ FAA มิได้ใช้กฎกติกาของตัวเองมาใช้ในการตัดสินและลดอันดับประเทศไทยนะครับ

FAA แค่ยกคณะเข้ามาติดตามการแก้ปัญหา SSC หรือข้อบกพร่องทางด้านความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญที่ ICAO ตรวจสอบและพบว่า กรมการบินพลเรือน (ในขณะนั้น) มีปัญหาและเป็นสาเหตุให้เราโดนธงแดงเนื่องจากไม่สามารถชี้แจงวิธีแก้ปัญหานั้นได้อย่างเป็นรูปธรรมในเวลาที่กำหนด

หมายความว่าหลังจากที่ ICAO ได้ตรวจพบปัญหาและได้แจ้งให้กรมการบินพลเรือนทราบ เขาจะมีเวลาให้ชาติภาคีสมาชิกที่มีปัญหาไปหาวิธีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถอธิบายวิธีการนั้นให้ ICAO รับทราบ

city-flying-vacation-working

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความไม่รู้ร้อนหนาวของผู้รับผิดชอบปล่อยผ่านเวลาให้ล่วงเลยจากปลายเดือนมกราคม ๒๕๕๘ ที่เราสอบตกไปจนสิ้นสุดระยะเวลาประมาณเดือนมีนาคมซึ่ง ICAO ต้องนำผลสอบประกาศให้สาธารณชนรับรู้และปักธงแดงเพื่อเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวดองหนองยุ่งกับการบินพานิชย์ทั้งหลายเพิ่มความระมัดระวัง อากาศยานสัญชาติไทย เนื่องจากมีความบกพร่องทางด้านความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง

เมื่อ FAA เข้ามาซึ่งเขาก็มาตามระเบียบและมารยาทที่พึงปฏิบัติเมื่อได้พูดคุยติดตามสอบถามก็พบว่ายังคงไม่มีการแก้ปัญหาดังกล่าวในระดับที่น่าพอใจเมื่อนับจากช่วงเวลาที่สอบตกเป็นมา ดังนั้นเขาก็ประกาศให้สาธารณชนรับทราบพร้อมทั้งลดอันดับมาตรฐานความปลอดภัยฯ ตามระเบียบ

ที่จริงชาติแรกที่ออกมาฮึ่มฮั่มตั้งแต่ทราบว่าเราสอบตกก็คือ ญี่ปุ่น นะครับ ในเวลานั้นถ้าจำได้กระทรวงคมนาคมส่งคณะไปเจรจาล็อบบี้กันอุตลุด

ก็เป็นเรื่องแปลกนะครับแทนที่จะรวบรวมสรรพกำลังมุ่งแก้ปัญหากลับเลือกวิธีส่งคณะไปเจรจา ถ้าความบกพร่องทางด้านความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญมันแก้ด้วยการเจรจาต้าอ่วยได้แล้วโลกนี้มันมีกฎมีเกณฑ์ไปทำไม

เรื่องสำคัญที่ผมอยากจะฝากกราบเรียนถึงท่านนายกรัฐมนตรีก็คือปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราเป็นชาติแรกในโลกครับ

อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯ โดนกันมาอ่วมอรทัยแต่ทุกชาติก็ผ่านพ้นปัญหาไปได้ด้วยวิธีการแก้ไขที่ถูกต้อง

ในเมื่อข้าราชการทำปัญหานี้ให้เกิดขึ้นทั้งๆที่ ICAO เขาเตือนถึงสองครั้ง

ครั้งแรกเมื่อปี พศ.๒๕๔๘ ขณะนั้นกรมฯสอบผ่านฉลุยแต่ ICAO เขาเห็นแล้วว่าบุคคลากรที่มีอยู่จะไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมการบินต้องเตรียมความพร้อมนะ

ได้เตรียมไหม … คงไม่ต้องตอบให้เมื่อยตุ้ม

ครั้งที่สองเขาเตือนอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปลายปี พศ.๒๕๕๖ ว่าเตรียมตัวเข้าห้องสอบนะ

ท่านนายกฯจะยังวางใจให้ลิงที่ทำให้แหยุ่งมาทำหน้าที่แก้อีกหรือ

ที่สำคัญบรรดาคณะกรรมการหรือผู้ที่นั่งหัวโต๊ะในการนำทีมแก้ปัญหานี้ ท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีความเข้าใจในปัญหาและเข้าใจในอุตสาหกรรมการบินพานิชย์มากน้อยอย่างไร

ผมเกรงว่าบรรดาผู้ที่เป็นคนทำงานจะเกิดอาการท้อเสียก่อนเพราะทำแล้วต้องรายงานผู้บังคับบัญชาที่อาจจะเข้าใจกันคนละภาษา

วิธีดีที่สุดคือจ้าง คนนอก ครับไม่ว่าจะไทยจะเทศมีผู้ที่รู้จริงในเรื่องเหล่านี้เขาพร้อมจะมาช่วยเพียงแต่ ค่าตัว ของแต่ละท่านไม่ใช่ถูกๆ จ้างมาแล้วต้องใจกว้างวางใจให้เขาทำไปครับปัญหาจะได้แก้ไขลุล่วงในเวลาไม่นาน

มีอีกเรื่องที่ต้องอธิบายให้ท่านฟังครับ

พอโดนลดอันดับจาก FAA ตอนนี้จับต้นชนปลายไม่ถูกถึงกับออกข่าวว่า EASA ซึ่งเป็นองค์กรการบินแบบเดียวกับ FAA แต่เจ้านี้เขากำกับดูแลทั้งทวีปยุโรปจะแถลงผลสอบไทยในวันที่ ๑๐ธันวาคม ที่จะถึงนี้

ผมขอเรียนข้อเท็จจริงที่หลายท่านรวมทั้งสื่อมวลชนสายหลักอาจจะยังไม่ทราบดังต่อไปนี้ครับ

  1. EASA ยังไม่ได้มา ออดิท หรือ มาสอบอะไรเราเลยอาจจะมีข้อสงสัยแต่หลังธงแดงยังไม่เคยมาติดตามสอบถามอย่างเป็นทางการ
  2. คณะที่มานั่นเขามาตามคำร้องขอของ การบินไทย และ MJETS ( ผู้ให้บริการท่าอากาศยานส่วนบุคคลและให้บริการเช่าเหมาลำเครื่องบินส่วนบุคคล ) ซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้ต้องการให้ Safety Board มาสอบความพร้อมในเรื่องของ TCO หรือ Third Country Operators ซึ่งถ้าจะมีการประกาศอะไรในวันที่ ๑๐ นี้ก็น่าจะเป็นเรื่องผลสอบของสองหน่วยงานนี้ครับ
  3. เจ้าหน้าที่ ๔ คนที่มาปฏิบัติงานตามข้อสองนั้นไม่ได้สังกัด EASA แต่อยู่ในคณะทำงานเฉพาะของ TCO ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองโคโลญจ์นประเทศเยอรมนีเป็นหน่วยงานภายใต้ EU เหมือนกันกับ EASA แต่ทำคนละหน้าที่ ทั้งสี่คนได้รับคำขอร้องมาจาก EASA ว่าไหนๆมาเมืองไทยแล้วก็แวะไปคุยกับ กรมฯ เขาด้วยแต่จะคุยเรื่องอะไรนั้นผมไม่อาจคาดเดาแต่ถ้าจะเอาเหตุเอาผลกันสี่คนนั่นถูกส่งมาทำภาระกิจอื่นที่ไม่ใช่การมาพูดคุยกับประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเรื่องความคืบหน้าปัญหา SSC

มีหลายท่านที่แสดงความเป็นห่วงว่าหาก การบินไทย ไม่ผ่าน TCO จะส่งผลร้ายทำให้ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินและ/หรือกระทบต่อการบินในระบบ Codeshare เข้ายุโรป

ผมขอเรียนข้อเท็จจริงอย่างนี้ครับ ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยฯท่านจงมั่นใจและภูมิใจได้เลยว่า การบินไทย ไม่น้อยหน้าสายการบินใดในโลกแถม กรมการบินพลเรือน ยังขอความช่วยเหลือทางด้านองค์ความรู้จากการบินไทยอย่างสม่ำเสมอแม้กระทั่งโดนธงแดงไปการบินไทยยังส่งคนเข้าไปช่วยแก้ไข แม้กระทั่งตอนที่ประเทศไทย สอบตก ICAO เครื่องการบินไทยโดนจับ Ramp Check ( การสุ่มตรวจที่สนามบินปลายทางโดยกรมการบินของประเทศนั้นๆแบบไม่แจ้งล่วงหน้า ) ทั้งที่สนามบิน นาริตะ ปารีส ฯ การบินไทยสามารถผ่านพ้นมาได้ด้วยดี ผมไม่ห่วงการบินไทยในเรื่องนี้ครับ

ส่วน MJETS คือผู้ประกอบการสายการบินและท่าอากาศยานส่วนบุคคลที่ดอนเมืองเป็นบริษัทของคนไทยได้รับผลกระทบจากธงแดงไปพอสมควรเพราะการบินแบบส่วนตัวหรือเหมาลำมันไม่มีกำหนดการที่ต้องยื่นขอตารางการบินประจำฤดูกาลกันล่วงหน้าครับเป็นธุรกิจการบินที่ตอบโจทย์ผู้มีอันจะกินและผู้บริหารที่ไม่สามารถเดินทางตามเวลาของสายการบินดังนั้นเมื่อประเทศไทยโดนธงแดงการที่จะขอใบอนุญาตทำการบินไปยังประเทศต่างๆย่อมได้รับผลกระทบด้วยกติกาที่หยุมหยิมขึ้น การทำ TCO ครั้งนี้ MJETS ต้องการแสดงให้เห็นว่าตนนั้นมีความพร้อมต่อการตรวจสอบทุกมาตรฐานในโลกนี้ ต่อให้ประเทศไทยสอบตกแต่ผู้ประกอบการไทยสอบผ่านยังนับเป็นการกู้ชื่อเสียงประเทศชาติกลับคืนมาบ้าง

ผู้อ่านท่านครับการได้รับธงแดงมันปักไปแล้วแต่ธุรกิจต้องดำเนินต่อไปแต่จะเป็นการดำเนินงานที่ไม่สะดวกราบรื่นเหมือนเคยมาจะต้องมีกรอบให้เดินต้องเผชิญกับการตรวจสอบจากทุกหน่วยงานการบินที่เกี่ยวข้องเพราะ ราชการไทย เป็นผู้ออกใบอนุญาตและตรวจสอบความพร้อมของอากาศยานไทยในเมื่อผู้ตรวจสอบดันมาสอบตกวิบากกรรมจึงบังเกิด

black-and-white-flight-man-person

ท่านนายกรัฐมนตรีที่เคารพรักครับประเทศไทยมีผู้รู้ที่ทำมาหากินเลี้ยงชีพในสาขาวิชาชีพนี้มากมายและอยู่กันมายาวนานครับ ข้าราชการท่านทำพังแต่เอกชนไทยพร้อมจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาขอแต่เพียงท่านจงโปรดไว้วางใจและรับฟังเถิดครับ

เราไม่มีอะไรจะเสียหายไปกว่านี้แล้วเพราะ ICAO ซึ่งถือว่าเป็น พ่อทุกสถาบัน ได้ปักธงแดงลงกลางใจดังนั้นการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทุกประเทศที่เรามีธุรกิจการบินเกี่ยวข้องย่อมต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การตีโพยตีพายไม่ไช่วยให้อะไรมันดีขึ้นเพราะผลย่อมมาจากเหตุและเป็นเหตุอันสมควรได้รับผลนี้

แก้ไขปัญหา SSC อย่างเป็นรูปธรรมเถิดครับให้เอกชนเป็นผู้นำทางรัฐบาลทำหน้าที่สนับสนุนไม่ต้องออกหน้าเพราะสุดท้ายคนไทยและประเทศไทยจะได้รับเครดิตนี้ร่วมกัน

ผู้อ่านท่านคงพอจะเห็นภาพแล้วนะครับว่าอะไรเป็นอะไร อย่าไปตื่นเต้น

พบกันใหม่ครับ