ต้องบอกเลยว่า Chatbot หรือแชต AI ที่ตอบกลับมาให้เราได้แบบอัตโนมัติผ่าน Language Model หรือโมเดลภาษานั้นเกิดขึ้นมากันอย่างต่อเนื่อง จนตอนนี้มีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย แล้วใครจะดีกว่ากัน วันนี้ beartai ชวนทุกคนมาประชัน AI Chatbot แต่ละเจ้า ตั้งแต่ ChatGPT, Bing AI, Google Bard และ Alisa กัน ว่าเจ้าไหนทำอะไรได้บ้าง ?

เริ่มจาก ChatGPT ซึ่งเป็นเจ้าแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง AI Chatbot เลยก็ว่าได้ ความสามารถหลาย ๆ อย่างของ ChatGPT นั้นสามารถพบเห็นได้ใน Chatbot ตัวอื่น ๆ เช่น การตอบคำถามต่อเนื่อง, สรุปสิ่งที่เราเขียน หรือการชวนคุยเล่นต่าง ๆ แถมยังรองรับภาษาไทยด้วย แต่เนื่องจาก ChatGPT เป็นการใช้ Language Model ล้วน ๆ ไม่ได้ต่ออินเทอร์เน็ต ทำให้ ChatGPT มีข้อมูลที่จำกัดอยู่ที่เดือนกันยายน ปี 2021 ที่ผ่านมาเท่านั้น โดยปัจจุบัน GPT (Generative Pre-trained Transformer) ใน ChatGPT นั้นเป็นเวอร์ชัน 3.5 ซึ่งถ้าใครอยากใช้เวอร์ชันใหม่อย่างเวอร์ชัน 4 ก็สามารถใช้ได้เฉพาะแบบสมัครสมาชิกรายเดือนเท่านั้น นอกจากนั้น ผู้ที่สมัครสมาชิกรายเดือน ยังสามารถเชื่อมต่อปลั๊กอินภายนอก ให้ ChatGPT ทรงพลังกว่าเดิมได้ด้วย

ต่อด้วย Bing AI ของไมโครซอฟท์ ผู้ที่ร่วมลงทุนใน OpenAI บริษัทที่เป็นผู้สร้าง ChatGPT ขึ้นมา ที่ได้นำเอาแกนหลักของ ChatGPT ซึ่งก็คือ GPT เข้ามาประกอบกับการค้นหาในแบบของ Bing ทำให้ Bing AI นั้นสามารถตอบคำถามได้ในรูปแบบเดียวกันกับ ChatGPT แต่สามารถต่ออินเทอร์เน็ต ค้นหาใน Bing เพื่อนำเอาข้อมูลที่ใหม่กว่ามาตอบเราได้ แถมยังใช้ GPT เวอร์ชัน 4 ที่ ChatGPT ต้องเสียเงินเพื่อจะใช้งานได้อีกด้วย ! แต่จะมีข้อสังเกตตรงที่ Bing AI นั้นจำกัดการถามตอบอยู่ที่ 200 คำถามต่อวัน โดยสามารถถามได้ 20 คำถามต่อ 1 การสนทนา ถ้าครบแล้วต้องล้างการสนทนาทั้งหมดออก เนื่องจากยังเป็นโปรเจกต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และต้องใช้งานผ่าน Microsoft Edge เท่านั้น (เพราะ Bing เป็นของไมโครซอฟท์นั่นเอง)

อีก 1 Chatbot ที่คนจับตามอง และกำลังค่อย ๆ กลับมาช้า ๆ อย่าง Google Bard ที่เป็นความพยายามสร้าง Chatbot ของ Google เอง จึงได้ออก Google Bard ออกมาในเวอร์ชันทดลอง แต่ก็มีความสามารถที่ไม่แพ้รุ่นพี่เจ้าอื่น ๆ เลย แถมล่าสุดในงาน Google I/O 2023 ก็ได้มีฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมเพียบเลย ! เช่น การสร้างภาพจากคำที่กำหนดผ่าน Adobe Firefly, เชื่อมต่อปลั๊กอินภายนอก, หรืออย่างตอนนี้ที่เริ่มจะรองรับภาษาญี่ปุ่น และเกาหลีแล้ว แถมยังประกาศว่าจะรองรับภาษาไทยในอนาคตด้วย แต่ด้วยความที่ Google Bard ยังค่อนข้างใหม่ และใช้โมเดลภาษาของ Google เองอย่าง PaLM 2 ทำให้ยังรองรับการถามคำถามที่ซับซ้อนแบบรุ่นพี่ทั้ง 2 ยังไม่ได้ ต้องรอดูกันต่อไปว่า Google bard จะพัฒนาไปในทางไหน และจะสู้คนอื่นได้หรือไม่ เพราะหลาย ๆ ฟีเจอร์เด็ดที่เพิ่มเข้ามา ตอนนี้ยังใช้งานไม่ได้นะ !

และสุดท้าย Alisa (อลิสา) ‘ผู้ช่วยส่วนตัว’ ที่เป็นผลงานของคนไทย ซึ่งจากหน้าเว็บไซต์นั้น อลิสาเองก็เป็น AI Chatbot ที่อยู่บนพื้นฐานของ GPT เหมือนกับทั้ง 3 เจ้าก่อนหน้านี้ แต่มีการรองรับภาษาไทยที่เป็นธรรมชาติมากกว่า, สามารถตอบคำถามแบบต่อเนื่องได้, ใช้งานได้ฟรีแบบจำกัดจำนวนพรอมต์ (Prompt) ที่ส่งไปได้ต่อเดือน และใช้ง่าย ๆ ผ่าน Line@ แถมสร้างภาพจากคำที่เราใส่ไปได้ด้วย ! แม้จะทำได้จำกัดที่ 50 Credit ถ้าใช้แบบฟรีก็ตาม แต่ว่า Alisa ยังมีข้อสังเกตที่การใช้งาน ยังมีความลำบากอยู่บ้าง เช่นต้องใช้ /Q เพื่อถามคำถามต่อเนื่อง และข้อมูลที่ทางผู้พัฒนาบอกว่าอัปเดตถึงปี 2023 นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ทุกอย่าง เป็นต้น

สุดท้ายแล้ว แต่ละ Chatbot ทั้ง ChatGPT, Bing AI, Google Bard และ Alisa ต่างก็มีจุดเด่น และข้อสังเกตของตัวเอง ดังนั้นใครที่กำลังเลือกใช้อยู่ ต้องเข้าใจถึงจุดเด่น และข้อจำกัดของแต่ละตัวก่อนจะเลือกใช้กันด้วยนะ ! ทั้งนี้ใครที่สนใจอยากลองไปคุยกับ Chatbot AI เหล่านี้ก็ตามแต่ละเจ้ากันไปได้เลย !

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส