หลังจากที่เว็บแบไต๋บุกโรงงานผลิตสมาร์ทโฟน Huawei แบไต๋กระบวนสร้างมือถือหนึ่งเครื่องว่าต้องทำอะไรบ้าง ในทริปตะลุยจีนครั้งนี้ เรายังได้พูดคุยกับทีมงานที่ดูแลการพัฒนา AI หรือปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นความสามารถหลักของ Huawei Mate 10 และเยี่ยมชมนิทรรศการ IoT (Internet of Things) ของหัวเว่ย ทำให้เห็นภาพชัดเจนถึง 2 ธุรกิจหลัก คือธุรกิจสร้างเครือข่ายกับธุรกิจอุปกรณ์สำหรับผู้ใช้ของหัวเว่ยด้วย

Beyond Innovation – 4 แนวคิดสู่แบรนด์ชั้นนำของหัวเว่ย

  1. Innovation หัวเว่ยลงทุนมากกว่า 45,000 ล้านเหรียญด้านการวิจัยผลิตภัณฑ์มาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เป็นบริษัทที่ลงทุนตรงนี้สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ทำให้มีสินค้าที่ล้ำสมัยในระดับโลก
  2. Quality สินค้าจะต้องมีคุณภาพกว่าใคร สินค้าจะต้องมีการทดสอบทุกอย่าง ผ่านขั้นตอนที่ทำให้มั่นใจว่า สินค้าทุกตัวออกมานั้น มีคุณภาพจริงๆ ซึ่งมีทั้งการทดสอบภายใน (ที่เรานำเสนอให้ดูในกระบวนการสร้างสมาร์ทโฟน) และการทดสอบจากองค์กรภายนอก (เช่น TÜV Rheinland ทดสอบระบบชาร์จของ Huawei Mate 10)
  3. Openness รับฟังความคิดเห็นของทุกคนและนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม ทาง Huawei เริ่มเรียนรู้และรับฟังว่า ต้องมาทำอะไรบ้างหากเกิดปัญหา เช่นในเคสของ Memory ที่เรานำเสนอกันไป หรือการร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำเช่น Leica, Pantone, Google, Microsoft เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์
  4. Social Responsibility เรื่องการทำการตลาด การตอบรับโลกโซเชียลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องของ Ecosystem ที่ทาง Huawei ได้เล็งเห็นว่าการสร้างผลิตภัณฑ์จะต้องมาพร้อมความรับผิดชอบในธรรมชาติ โดยการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าด้านอื่นนอกเหนือจากโซล่าเซลล์ หรือการพัฒนาการสร้างโทรศัพท์ที่เป็น Eco-friendly สร้างสรรค์ให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

คุยกับหัวหน้าทีมพัฒนา AI ของหัวเว่ย

มร.ฟีลิกซ์ ชาง รองประธานฝ่ายวิศวกรรมด้านซอฟต์แวร์ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป

ในอนาคตอันใกล้ๆ นี้แหละ AI หรือปัญญาประดิษฐ์จะเป็นเรื่องที่ทุกวงการเข้าไปเกี่ยวข้องนะครับ ซึ่งจากการพูดคุยกับคุณฟีลิกซ์ ชาง รองประธานฝ่ายวิศวกรรมด้านซอฟต์แวร์  หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ผู้บริหารที่ดูแลงานพัฒนา AI โดยตรง ทำให้ทราบว่าหัวเว่ยเริ่มพัฒนา AI มาตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้วในฝั่งเทคโนโลยีเครือข่าย เพราะหัวเว่ยมีวิสัยทัศน์ว่า AI จะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลากหลายในธุรกิจ (General Purpose Technology) ตอนนี้หัวเว่ยจึงมีวิศวกรพัฒนา AI มากกว่า 100 คน จากวิศวกรทั้งหมดกว่า 2000 คน

ถ้ามองปัญญาประดิษฐ์ให้ใกล้ตัวเราหน่อยก็อย่าง AI ที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือครับ คือสมาร์ทโฟนมีเซนเซอร์ต่างๆ เก็บรายละเอียดรอบตัวเช่น ตำแหน่งสถานที่ ทิศทาง เสียง ภาพ ความดันอากาศ อุณหภูมิ แต่สิ่งที่เราต้องการสมองเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลนำมาใช้ทันที ซึ่ง AI ที่ว่านี้จะทำงานคล้ายกับระบบสมองของมนุษย์ ที่มีความเร็วในการประเมินว่าสิ่งรอบตัวคืออะไร และต้องตัดสินใจอย่างไร ซึ่งเป็นลักษณะการประมวลผลที่แตกต่างจาก CPU เดิมที่คิดเป็นโลจิกตรงไปตรงมา ต้องการข้อมูลที่มากพอและแม่นยำจึงจะสามารถประมวลผลได้ ซึ่งบางทีก็มากเกินไปจนประมวลผลได้ช้า

AI ของ Huawei Mate 10 จึงเข้ามาช่วย

คุณฟีลิกซ์อธิบายว่าระบบปัญญาประดิษฐ์ที่อยู่ใน Huawei Mate 10 นั้นเป็น On-device AI เป็นหลัก คือเป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ประมวลผลจบในตัวเครื่อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของเครื่อง เช่น AI ทำงานร่วมกับกล้อง ทำให้กล้องของ Huawei Mate 10 สามารถวิเคราะห์ได้ทันที (ด้วยความเร็วในการวิเคราะห์ 2,000 ภาพต่อวินาที) ว่าสิ่งที่อยู่ในเฟรมภาพนั้นคืออะไร เป็นบุคคล เป็นอาหาร เป็นภาพวิว เป็นภาพแมว เป็นข้อความ ฯลฯ แล้วปรับลักษณะภาพให้เหมาะสมกับการถ่ายประเภทนั้นๆ (เช่นถ้าวิเคราะห์ว่าเป็นอาหาร ก็จะปรับภาพให้สีสดมากขึ้น หรือวิเคราะห์ว่าเป็นข้อความ จะปรับภาพให้คมขึ้น)

การพัฒนา AI สำหรับการถ่ายภาพของ Mate 10 นั้นมีการเรียนรู้จากรูปกว่า 100 ล้านภาพเพื่อฝึกให้ปัญญาประดิษฐ์เข้าใจว่าภาพแต่ละแบบจะมีลักษณะอย่างไร ซึ่งตอนนี้ใน Mate 10 สามารถแยกแยะการถ่ายภาพได้ 13 แบบ และจะพัฒนาให้แยกให้มากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ AI แบบที่ใช้งานใน Mate 10 ยังสนับสนุนการทำงานของผู้ใช้อีกหลายอย่าง ทั้งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องให้ลื่นขึ้น จัดสรรทรัพยากรได้ดีขึ้น ด้วยการเรียนรู้ลักษณะการใช้งานของผู้ใช้ แล้วจูนระบบให้เหมาะ หรือช่วยรับรู้เสียงของผู้ใช้ และปรับแต่งให้การคุยโทรศัพท์ชัดขึ้น รู้ว่าจะต้องลดเสียงรบกวนเบื้องหลังอย่างไร

AI จะช่วยให้ผู้ใช้เก่งขึ้นในด้านที่ไม่ถนัด เช่นถ่ายรูปดีขึ้นเพราะเครื่องช่วยแต่ง

ซึ่งการทำงานแบบ On-Device จะทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เพราะข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้จะถูกเก็บและประมวลผลในเครื่องเท่านั้น ไม่ได้ถูกส่งขึ้นประมวลผลที่อื่น แต่อย่างไรก็ตามงานบางส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวก็ต้องมี Cloud AI สนับสนุน เพื่อนำองค์ความรู้จากภายนอกเข้ามาช่วยทำให้การตัดสินใจของปัญญาประดิษฐ์ทำได้แม่นยำขึ้น

ในอนาคต เมื่อการประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์พัฒนาขึ้น จะช่วยในงานได้อีกหลายอย่าง เช่นการใช้ AR แบบกินพลังงานต่ำลง หรืองาน Real-time Computer Vision ก็จะเป็นไปได้มากขึ้น

AI ของ Huawei เหนือว่าเจ้าอื่นๆ อย่างไร

คุณฟีลิกซ์อธิบายในประเด็นนี้ว่า จุดเด่นของ AI จาก Huawei ทำงานร่วมกันทั้ง Hardware, Software และ Ecosystem

ในฝั่ง Hardware หัวเว่ยมีชิป Kirin 970 ตัวล่าสุดที่พัฒนาเองอยู่ในสมาร์ทโฟนซีรี่ส์ Mate 10 (และน่าจะใส่ลงในสมาร์ทโฟนตัวถัดๆ ไปด้วย) ที่มี NPU (Neural Processing Unit) หน่วยประมวลผลพิเศษเพื่อทำงานในลักษณะเดียวกับสมองมนุษย์ ทำให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ทำงานเร็วขึ้น

ส่วนในฝั่ง Software หัวเว่ยก็มี EMUI ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาจาก Android โดยเติมความสามารถที่หัวเว่ยต้องการลงไปอย่าง Kirin HiAI API ตัวใหม่เพื่อทำงานเรื่อง AI โดยเฉพาะ (อยู่ระดับชั้นเดียวกับ Android AI API) เพื่อให้ทำงานร่วมกับ NPU ได้ดีขึ้น

และ Ecosystem หัวเว่ยก็จับมือกับหลายบริษัทเช่น Microsoft หรือ Google เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้งานกับ AI ของหัวเว่ยได้ดีขึ้น (แม้จะเพิ่งเริ่มต้นก็ตาม) โดย AI ของหัวเว่ยนั้นเป็นมาตรฐานกลาง เป็น Open Platform นักพัฒนาภายนอกก็สามารถพัฒนาแอปเพื่อใช้ AI ของหัวเว่ยได้ โดยผ่าน TF หรือ Caffe ที่นิยมใช้กันอยู่แล้ว (ไปเชื่อมต่อกับ Android AI API, Kirin HiAI อีกที) หรือจะเขียนตรงเข้า EMUI AI Engine เลยก็ได้

มอง AI ในอนาคต

คุณฟีลิกซ์และคุณชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ประเทศไทย

เมื่อนักข่าวถามคุณฟีลิกซ์ว่า AI จะน่ากลัวแบบที่เราเห็นในข่าวว่าผู้นำความคิดด้านเทคโนโลยีออกมาเตือนเรื่องอันตรายจาก AI คุณฟิลิกซ์ก็ให้มุมมองว่า สถานะของปัญญาประดิษฐ์ที่มนุษย์พัฒนาได้ตอนนี้ยังอยู่ห่างไกลจากจุดที่จะเป็นอันตรายได้อีกเยอะ เรายังต้องผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีอีกมาก แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่ามันก็อาจจะมีอันตรายได้

ส่วน AR (Augmented Reality) กับ AI จะทำงานร่วมกันไหม คุณฟีลิกซ์ก็ให้ความเห็นว่า 2 เทคโนโลยีอยู่คนละสายกันเลย พัฒนากันมาคนละแขนง แต่สุดท้ายก็ต้องมาเกื้อกูลกันอยู่ดี AR ก็ต้องใช้ AI เพื่อวิเคราะห์แยกแยะสิ่งที่อยู่ในภาพ หัวเว่ยจึงมีทีมพัฒนา AR โดยเฉพาะด้วย