ในวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมา เมื่อเวลา 00:31 น. (PDT) หรือประมาณ 14:00 น. ตามเวลาประเทศไทย อาจฟังดูเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไรในสายตาคนทั่วไป แต่สำหรับทีมผู้ดูแลภารกิจการทดลองเที่ยวบินแรกของเฮลิคอปเตอร์นาม ‘Ingenuity’ บนดาวอังคาร นั่นคือวินาทีที่ยิ่งใหญ่ เพราะนั่นคือ ‘การบิน’ ครั้งแรกบนดาวอื่นที่ไม่ใช่โลก

วินาทีที่สัญญาณภาพถูกส่งมาจากดาวอังคารฉายชัดให้เห็นถึงความสำเร็จของเที่ยวบินแรกบนดาวเคราะห์ดวงอื่นที่ไม่ใช่โลก
Credit : NASA

“ทีมของเราถือว่าเที่ยวบินแรกนี้ เสมือนการปล่อยจรวด พวกเราทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้ภารกิจประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกัน เราก็รู้ว่า อาจเกิดความขัดข้องและต้องลองใหม่อีกครั้ง ในทางวิศวกรรมแล้ว ล้วนแต่มีความไม่แน่นอนอยู่เสมอ และนี่คือสิ่งที่ทำให้การทำงานกับเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นและคุ้มค่าแก่การทุ่มเท เราต้องคิดค้นและพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และเราได้ลองทำสิ่งที่คนอื่นได้แค่เฝ้าใฝ่ฝันถึง”

ข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงความตื่นเต้นของผู้ดูแลภารกิจในการนำ Ingenuity ขึ้น ทั้งยังถ่ายทอดให้ผู้อื่นสัมผัสได้ว่า งานในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ซึ่งผู้ที่เรียบเรียงถ้อยความนี้ก็ไม่ใช่ใคร มีมี ออง (MiMi Aung) หัวหน้าทีมผู้ดูแลภารกิจ Ingenuity Mars Helicopter จาก JPL (Jet Propulsion Laboratory) นั่นเอง

มีมี ออง (MiMi Aung)
หัวหน้าทีมผู้ดูแลภารกิจ Ingenuity Mars Helicopter จาก JPL (Jet Propulsion Laboratory)
Credit : NASA

ในภารกิจนี้ มีทีมงานจำนวนมากมายหลายคนเข้ามาเกี่ยวข้อง บุคคลที่เป็นหัวหน้าทีมจึงต้องมีทั้งความรู้ ความสามารถ เมื่อนาซาเปิดตัวผู้ดูแลภารกิจจึงมีสื่อสนใจสัมภาษณ์ผู้หญิงเก่งที่เป็นหัวหน้าทีมผู้นี้ทันที ความน่าทึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของเพศเท่านั้น (แม้ผู้หญิงจะเริ่มมีบทบาทในวงการดาราศาสตร์มากขึ้น แต่มีน้อยภารกิจมาก ๆ ที่จะนำทีมโดยผู้หญิงเช่นนี้) แต่ยังรวมไปถึงประวัติความเป็นมาของเธอด้วย

มีมี ออง (ตรงกลางภาพแถวล่างสุด) และทีมผู้ดูแลภารกิจ Ingenuity
Credit : NASA

มีมี ออง เป็นหญิงลูกครึ่งอเมริกัน-พม่า พ่อและแม่ของเธอพบกันระหว่างศึกษาปริญญาเอกในสาขาคณิตศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา โดยเธอกล่าวให้สัมภาษณ์ CBS Evening News ว่า Hla Hla Sein แม่ของเธอเป็นชาวพม่าคนแรก ที่ได้รับปริญญาเอกในด้านนี้ และนั่นคือสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้เธอ เธอรู้สึกโชคดีมากที่มีแม่เช่นนี้

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

อองเกิดในรัฐอิลลินนอยส์ แต่เติบโตที่พม่า ด้วยความสนใจในการสำรวจอวกาศ อองในวัย 16 ปี จึงตัดสินใจเดินทางกลับไปยังประเทศที่เธอเกิดอีกครั้ง โดยเลือกศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และเรียนต่อปริญญาโทด้วยงานประมวลผลสัญญาณและการสื่อสาร 

เมื่อเธอเข้าทำงานกับนาซาที่ JPL เธอได้ทำงานในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบินอวกาศและ NASA Deep Space Network (DSN) ได้ร่วมพัฒนาและทดสอบอัลกอริธึมกับเครือข่ายจานรับสัญญาณในโครงการ DSN ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก และยังเป็นหนึ่งในวิศวกรภารกิจ Psyche ที่จะเดินทางไปสำรวจดาวเคราะห์น้อยชื่อเดียวกันในปี 2026 ก่อนถูกแต่งตั้งเป็นผู้จัดการภารกิจนี้ในปี 2015

แผนผังแสดงที่ตั้งของเครือข่าวอวกาศห้วงลึกหรือ Deep Space Network (DSN) ของนาซา
Credit : NASA

อองอธิบายว่า Ingenuity คือการทดลองเทคโนโลยี แผนของเราคือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ เราแบกรับความเสี่ยงที่ภารกิจอื่นไม่สามารถทำได้ โดยดูแลแต่ละขั้นตอนอย่างรอบคอบ

เธอเล่าให้ฟังว่า ก่อนการขึ้นบินเที่ยวแรกเมื่อสัปดาห์ก่อน ทีมทดสอบและตรวจสอบการทำงานของระบบตัวจับเวลา การตั้งค่า และพบว่า จำเป็นต้องปรับซอฟต์แวร์ควบคุมการบินที่มีอยู่ใหม่ให้มีความเสถียรมากขึ้น ช่วยให้ใบพัดบินได้ด้วยความเร็วสูงสุดตามที่ตั้งเป้าไว้ รวมถึงเพิ่มคำสั่งในระบบปฏบัติการเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ภารกิจล้มเหลวลง และนั่นทำให้ทั้งทีมต้องมีแผนสำรอง ทำให้เกิดปรับปรุงและลงระบบควบคุมการบินของ Ingenuity ใหม่ทั้งหมด

วิธีการสำรองที่ว่าคือต้องส่งโปรแกรมใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงนี้ไปยังยานสำรวจ Perseverance ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนยานแม่ที่จะคอยป้อนคำสั่งไปให้เฮลิคอปเตอร์ทำการบิน การระบบคำสั่งในการดำเนินภารกิจของเฮลิคอปเตอร์มีปัญหา Perseverance จะส่งชุดคำสั่งเข้าไปให้ใหม่ทันที

ภาพนี้ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2019 มีมี ออง (คนกลางภาพ) กำลังสังเกตการณ์การบินของเฮลิคอปเปอร์ Ingenuity
ในห้องปฏิบัติการสูญญากาศ ที่ Jet Propulsion Laboratory (JPL)
Credit : NASA/JPL-Caltech

สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความรอบคอบและความพยายามอย่างที่สุดจนวินาทีสุดท้ายของทีมผู้ดูแล รวมถึงของตัวอองเองด้วย

“จงมุ่งมั่นทำในสิ่งที่อยากทำ อย่าให้ใครมาขวางทางคุณ หรือทำให้คุณไม่ได้ทำในสิ่งนั้น” อองกล่าวทิ้งท้ายเมื่อผู้สื่อข่าวกล่าวแซวว่าเธอทำภารกิจประวัติศาสตร์ที่ห่างไปจากโลก 180 ล้านไมล์ได้สำเร็จ “…ท้องฟ้าไม่ใช่ขีดจำกัดอีกต่อไปแล้ว” เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้มกว้าง

ท่าทางตื่นเต้นดีใจ และความมุ่งมั่นเป็นที่ปรากฏแก่สายตาผู้ร่วมลุ้นภารกิจทั่วโลก เมื่อรวมกับบทสัมภาษณ์แล้วก็ยิ่งสะท้อนถึงพลังใจอันยิ่งใหญ่ของเธอที่มีต่อความฝัน ซึ่งก็น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้ใครอีกหลายคนเช่นกัน

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส