หลายคนน่าจะรู้จักกับคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) แล้วแน่นอน ซึ่งคนที่สนใจน่าจะได้รู้จักคำอื่นที่พ่วงมาด้วยอย่าง ‘ขุดเหรียญคริปโท’ วิธีที่จะได้รับคริปโทเคอร์เรนซีวิธีอื่นนอกจากการเทรดเอา โดยการขุดคริปโทนั้นเป็นวิธีการหาเหรียญในรูปแบบ ‘Proof of Work’ หรือการพิสูจน์ด้วยการทำงานเพื่อชิงเหรียญคริปโทเหล่านั้น ซึ่งส่งผลเสียด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะต้องใช้กำลังประมวลผลอย่างหนัก จนใช้ทรัพยากรอย่างไฟฟ้ามหาศาล ทำให้มีคนที่ไม่ชอบคริปโทเคอร์เรนซีเพราะเรื่องนี้ แต่ถ้าเกิดว่า มีวิธีในการหาเหรียญรูปแบบอื่นที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมล่ะ ? วันนี้เราจะมาพูดถึงวิธีการหาเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีด้วย ‘Proof of stake’ กัน

ก่อนที่เราจะพาไปรู้จักเรื่อง Proof of stake เราต้องขออธิบายเรื่องวิธีการหาคริปโทเคอร์เรนซีก่อน เนื่องจากว่าคริปโทเคอร์เรนซีแต่ละประเภทนั้น มีวิธีการในการได้เหรียญมาที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเภทของเหรียญ ซึ่งในที่นี้ เราจะโฟกัสที่เหรียญกลุ่ม mining-based หรือเหรียญที่ต้องมีการขุดเท่านั้นนะ

โดยปกติแล้ว เหรียญในกลุ่ม mining-based altcoins นั้น ต้องใช้การ ‘ขุด’ ในการแย่งชิงเหรียญขึ้นมา หรือก็คือการตรวจสอบธุรกรรมด้วยการตัดสินใจของคนหมู่มาก (Consensus) ถอดรหัสการทำธุรกรรมต่าง ๆ ด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของแต่ละคน เนื่องจาก ทุก ๆ คนจะทำการเก็บบัญชีสมุดธนาคารหรือ ledger ของผู้คนทั้งโลกที่ใช้เหรียญนั้น ๆ ซึ่งทำได้ด้วยเทคโนโลยี Blockchain และทำให้สามารถโอนสกุลเงินดิจิทัลนี้ได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนเป็นเหรียญสกุลเงินนั้น ๆ โดยจะมีวิธีในการให้รางวัลการตรวจสอบธุรกรรมเหล่านี้ที่แตกต่างกันไป โดยจะขอเล่าออกมาเป็นส่วน ๆ ได้ดังนี้

Proof of Work – การขุดคริปโทแบบดั้งเดิม

ในสมัยก่อน คริปโทเคอร์เรนซีของโลกอย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) นั้นมีวิธีในการให้ ‘ค่าแรง’ เป็นคริปโทเคอเรนซีด้วยการ ‘ตรวจสอบธุรกรรม’ ถอดรหัสการทำธุรกรรมต่าง ๆ จากการโอนสกุลเงินเหล่านั้นของผู้อื่น แล้วจะได้รางวัลเข้าไปยังกระเป๋าเงินดิจิทัลของเรา ซึ่งการให้ค่าแรงนี้จะเกิดจากการแข่งขันถอดรหัสเพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งใครที่ทำได้เสร็จก่อน ก็จะ ‘ชนะ’ และได้รับบิตคอยน์ไป

จุดประสงค์หลัก ๆ ที่ใช้วิธีการตรวจสอบการทำธุรกรรมแบบนี้ ก็เพื่อป้องกันการโจมตีแบบ DDoS (distributed denial-of-service attack) หรือการโจมตีที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์หลาย ๆ เครื่อง เชื่อมต่อเข้าเซิร์ฟเวอร์เดียวพร้อม ๆ กันครั้งละมาก ๆ เพื่อหวังให้เซิร์ฟเวอร์นั้นล่ม การทำ Proof of Work จะช่วยให้การเข้ามาร่วมตรวจสอบธุรกรรมนั้นทำได้โดยไม่ต้องผ่านเซิร์ฟเวอร์ใดเป็นพิเศษนั่นเอง

Bitcoin mining farm. IT hardware. Electronic devices with fans. Cryptocurrency miners.

ตามข้อมูลของ Siamblockchain แล้ว ขณะที่เราทำธุรกรรม โอนคริปโทเคอร์เรนซี ในเบื้องหลังก็จะทำการตรวจสอบ โดยเริ่มจากการนำธุรกรรมที่เกิดขึ้นมามัดรวมกัน แล้วสร้างตัวเก็บข้อมูลใหม่ (หรือที่คนเรียกกันว่าบล็อก) จากนั้น ‘นักขุด’ ทั้งหลายก็จะเข้ามาแข่งขันกันตรวจสอบบล็อกนั้น ๆ ว่าเป็นของจริงหรือไม่ ด้วยการแก้ไขสมการคณิตศาสตร์ ซึ่งเรียกกันว่าปัญหาของ Proof of Work นักขุดคนไหนที่สามารถแก้ไขสมการได้สำเร็จ และปิดบล็อกนั้นได้เป็นคนแรก ก็จะได้รับรางวัลไป และบล็อกนั้นก็จะถูกปิด และเก็บไว้ในระบบบล็อกเชนต่อไป

แม้วิธีนี้จะได้ผล ไร้ตัวกลางอย่างแท้จริง และแต่ทว่าปัญหาอยู่ที่ การแข่งกันแก้ไขสมการเหล่่านั้นจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีผู้แข่งขันที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การต้องใช้การ์ดจอที่มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น และจำนวนมากขึ้นไปด้วย แล้วก็จะทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าในการรันเครื่องขุดเหรียญเหล่านี้มากขึ้นไปอีก จนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นได้ เพราะทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้านั้นถูกใช้ไปมากกว่าการทำอุตสาหกรรมอื่น ๆ

แล้วเราแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง

เนื่องจากปัญหาทางสิ่งแวดล้อมของการใช้วิธี Proof of Work ในการตรวจสอบธุรกรรม ทำให้มีคนที่คิดริเริ่มวิธีการตรวจสิบธุรกรรมแบบใหม่ ที่ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมลง โดยในปัจจุบันมีวิธีการตรวจสอบธุรกรรมที่มีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้นอยู่ 2 รูปแบบ คือ Proof of Space-Time และ Proof of Stake

Proof of Space-Time – ให้ที่เก็บข้อมูล ตรวจสอบแทนการ์ดจอ

Proof of Space-Time หรือ Proof of Cpapcity เป็นวิธีในการตรวจสอบอีกวิธีหนึ่ง แต่ไม่ใช่การตรวจสอบการทำธุรกรรมหรอกนะ มันคือการตรวจสอบไฟล์ โดยใช้พื้นที่ของ HDD/SSD (Hard Disk/Solid-State Drive) ที่เราใช้เก็บข้อมูลต่าง ๆ บนคอมพิวเตอร์ เพื่อขุดเหรียญ หรือตรวจสอบว่าในไฟล์ที่เรามีอยู่ใน HDD/SSD นั้นเป็นไฟล์ที่แท้จริงหรือไม่ แทนที่จะเป็นการตรวจสอบธุรกรรม และให้รางวัลเป็นคริปโทเคอร์เรนซีแทน

ซึ่งเหรียญที่นำ Proof of Space-Time มาใช้เป็นวิธีการในการแจกเหรียญสกุลนั้น ๆ มักจะเป็นบริการให้เช่าเซิร์ฟเวอร์ในรูปแบบ Blockchain ซึ่งจะมีการอัปโหลด ดาวน์โหลดไฟล์ เขียนเพิ่ม และลบออกของ HDD/SSD อยู่ตลอด เพื่อใช้แทนเซิร์ฟเวอร์ที่ฝากไฟล์ศูนย์กลาง และเป็นระบบฝากไฟล์แบบไร้ตัวกลาง (เช่น Google Drive) นั่นเอง ซึ่งวิธีการขุดด้วย HDD/SSD นั้นลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้ไฟฟ้าลดลงได้อย่างมาก

แต่วิธีนี้ แทนที่จะแก้ปัญหาได้ กลับสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาแทน เนื่องจาก SSD นั้นมีปริมาณของข้อมูลที่เขียนได้อยู่จำกัด และมีอายุการใช้งานของมันที่ตายตัว หากใช้งานแบบทั่วไป สามารถอยู่ได้ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปเลยทีเดียว แต่ว่าถ้าเอามาใช้ขุดเหมือง อายุใช้งานจะเหลือเพียงแค่ 40 วันเท่านั้น เพราะต้องเปิดเพื่อเขียนและลบออกตลอด 24 ชั่วโมง เกิดเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์มากมายตามมาอย่างรวดเร็ว และอาจจะทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าการขุดเหรียญด้วยการ์ดจอซะอีก

ดังนั้น วิธี Proof of Space-Time จึงยังไม่ใช่ทางออกที่จะทำให้การขุดคริปโทเคอร์เรนซีนั้นไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางได้ วิธีที่น่าสนใจที่สุดตอนนี้จึงเป็น Proof of Stake นั่นเอง

Proof of Stake – ยิ่งมีเหรียญเยอะ ยิ่งมีสิทธิ์ตรวจสอบเยอะ

วิธีสุดท้าย ที่กำลังจะเป็นหนึ่งในวิธีการตรวจสอบธุรกรรม และรับคริปโทเคอเรนซีใหม่ได้อย่างรักสิ่งแวดล้อมมากที่สุด นั่นก็คือ Proof of Stake นั่นเอง โดยคำนี้มีความหมายโดยตรงว่าการพิสูจน์ด้วยการเดิมพัน เพราะว่า Proof of Stake นั้น จะเลือกว่า Node ไหน หรือผู้ใช้กลุ่มไหนจะได้รับสิทธิ์เป็นผู้สร้างบล็อกสำหรับการบันทึกธุรกรรมและได้รับผลตอบแทนหรือรางวัล ซึ่งการเลือกคนมาสร้างบล็อกใหม่ในการตรวจสอบ หรือบันทึกธุรกรรมได้นั้น จะถูกกำหนดตาม ‘ความรวย’ ของผู้ที่ถือครองเหรียญสกุลนั้น ๆ อยู่ ซึ่งนั่นหมายถึง ใครที่มีเหรียญมากกว่า ก็จะมีสิทธิ์ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบธุรกรรมได้มากกว่า

โดยเหรียญที่จะให้เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่ได้รับเลือกให้ตรวจสอบธุรกรรมนั้น ได้ถูกสร้างมาจนหมดตั้งแต่ต้นแล้ว จึงไม่ต้องมีการ ‘ขุด’ เหรียญพวกนั้นขึ้นมาใหม่ ดังนั้นผู้ที่ถือเหรียญ หรือถือเดิมพันเหรียญเหล่านั้นไว้ ก็จะได้รับค่าธรรมเนียมในการโอนและตรวจสอบธุรกรรมไปแทน เราจึงอาจเรียกผู้ที่ได้รับรางวัลนี้ว่า ‘นักตีเหล็ก’ แทนที่จะเป็นนักขุด

เปรียบเทียบระหว่าง Proof of Work และ Proof of stakes ภาพโดย Finematics

ข้อดีของการตรวจสอบวิธีนี้ก็คือ การจะตีเหล็กนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ทรัพยากร อุปกรณ์ที่ทันสมัยใด ๆ มาแข่งขันกันถอดรหัสธุรกรรมเลย ทุก ๆ อย่างจะถูกกำหนดตามความร่ำรวยของผู้ถือเหรียญเท่านั้น แถมยังประหยัดพลังงาน ลดการใช้ทรัพยากร และดีต่อสิ่งแวดล้อมของโลกอีกด้วยนะ

แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีเท่านั้น เพราะว่าข้อสังเกตของวิธีนี้ก็คือ ผู้ที่มีเหรียญอยู่มาก ก็จะมีสิทธิ์ในการรับเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีเหล่านั้นจากการตรวจสอบธุรกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนดอกเบี้ยธนาคาร แต่ว่าถ้ามีผู้ที่มีจำนวนเหรียญมาก ๆ ก็มีสิทธิ์ได้รับเหรียญมาก และผู้ทีมีเหรียญส่วนน้อย ก็จะได้รับเหรียญที่น้อยลงไปด้วยหรือไม่ ? ปัญหานี้ ผู้ที่เป็นเจ้าของเหรียญต้องหาวิธีในการจำกัดเหรียญที่ถืออยู่ได้ หรือจำนวนครั้งที่สามารถเข้าไปร่วมตรวจสอบการทำธุรกรรมติดต่อกัน เพื่อไม่ให้่มีเหล่า ‘วาฬ’ ที่จะชิงเหรียญรางวัลมากจนทำให้รายย่อยไม่สามารถรับเหรียญได้

และอีกเรื่องก็คือ วิธีตรวจสอบธุรกรรมเหล่านี้ ยังคงเป็นเรื่องที่ใหม่มาก และมีเหรียญอยู่ไม่มาก ที่เริ่มใช้ระบบนี้แล้ว โดยเหรียญที่โด่งดังที่สุดที่กำลังจะเริ่มใช้ระบบนี้ก็คือ ‘Ethereum 2.0’ ซึ่งเรายังต้องรอดูต่อไปว่าระบบนี้จะได้ผลมากหรือน้อยแค่ไหน

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เปิดให้ทุกคนยืนยันธุรกรรมอย่างอิสระ แต่ระบบก็จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมว่ามีการปลอมแปลงธุรกรรมอยู่หรือไม่ ถ้าเกิดว่ามีการปลอมแปลง ผู้ตรวจสอบที่ปลอมแปลงรายนั้นจะโดนยึดเหรียญสกุลนั้นที่ได้ค้ำประกันไว้เป็นบทลงโทษ และอาจจะถูกแบนออกจากการตรวจสอบ เข้าสู่ระบบสุ่มใหม่อีกครั้ง

สุดท้ายนี้ ก็ได้แสดงให้เห็นว่าวงการคริปโทเคอร์เรนซีนั้น มีความพยายามที่จะสร้างตัวเองให้เป็นมาตรฐานของการเงินการธนาคารรูปแบบใหม่ ที่คนในวงกว้างให้การยอมรับมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเป็นมาตรฐานใหม่ของการใช้จ่ายในอนาคตได้

อ้างอิง

Business vector created by fullvector – www.freepik.com
Siamblockchain 1 / Siamblockchain 2
TNN Thailand
Zipmex

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส