Streaming music (การสตรีมเพลง) เป็นสิ่งที่คุณผู้อ่านหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกันใช่ไหม?

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป วงการดนตรีและเสียงเพลงเองจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคเช่นกัน การซื้อเพลงฟังเป็นรายเพลง หรือเป็นอัลบั้มแบบดิจิทัลไม่ได้ตอบโจทย์ผู้ฟังที่กระหายในเสียงเพลงด้วยงบที่จำกัดเท่าไรนัก รูปแบบการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งที่เอื้อให้ผู้ฟังสามารถฟังเพลงได้ไม่จำกัดในงบสุดประหยัดจึงเติบโตขึ้นไม่หยุดหย่อน พวกเราจึงมีเพลงดี ๆ หลากหลายแนวให้ฟังอย่างเต็มที่ แต่คุณผู้อ่านเคยสงสัยบ้างไหม ว่าทางผู้บริการสตรีมเพลงนั้นมีวิธีแบ่งรายได้ไปสู่ศิลปินที่เรารักอย่างไรบ้าง? เคยสงสัยบ้างไหมว่าจากจำนวนเงินไม่มากนักที่ทางผู้ให้บริการสตรีมเพลงเรียกเก็บ จะกลับไปหาศิลปินของพวกเราสักเท่าไรกัน? พวกคุณอาจจะพอคิดภาพออกอยู่บ้างแล้ว แต่เราจะมาพาคุณไปเข้าใจเรื่องนี้ให้มากขึ้นอีก

Spotify จ่ายส่วนแบ่งศิลปินอย่างไร

สำหรับ Spotify ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งยอดฮิตที่ใคร ๆ ต่างก็รู้จักกันดี นั้นมีระบบการจ่ายส่วนแบ่งสู่ศิลปินที่เรียกว่า “สตรีมแชร์ (stream share)”

ซึ่งทาง Spotify จะนำยอดสตรีมทั้งหมดในหนึ่งเดือนของประเทศนั้น ๆ มาหาว่าสตรีมเหล่านั้นมีสัดส่วนเท่าใด สตรีมแชร์จึงจะเป็นตัวกำหนดรายได้ของศิลปิน เหมือนกับการแบ่งพาย

สมมติว่าเดือนที่แล้วมียอดสตรีมรวม 1,000,000 ครั้ง และศิลปินรายหนึ่งมียอดสตรีม 100,000 ครั้ง จากยอดสตรีมรวม ศิลปินรายนั้นก็จะได้รับส่วนแบ่งเงินเป็น 10% ของรายได้ที่หักเปอร์เซ็นต์ส่วนหนึ่งไปสู่ Spotify แล้ว โดยจากข้อมูลปัจจุบัน ปี 2022 จะมีการหักรายได้ไปสู่ Spotify จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์

โดยหากศิลปินสังกัดอยู่ในบริษัท กระบวนการแบ่งเงินก็จะมากขึ้น ทางต้นสังกัดของศิลปินจะได้รับเงินส่วนแบ่งจำนวน 70 เปอร์เซ็นต์นั้นไปแบ่งให้ศิลปินด้วยกระบวนการที่ทางต้นสังกัดและศิลปินได้ตกลงกันไว้ในสัญญา จึงจะออกมาเป็นส่วนแบ่งเงินที่แท้จริงแก่ศิลปิน

Tidal จ่ายส่วนแบ่งศิลปินอย่างไร

ในขณะที่ทาง Tidal หนึ่งในผู้ให้บริการสตรีมเพลงสำหรับผู้รักในรายละเอียดของเสียงเพลง ที่ยังคงโดดเด่นในเรื่องการให้บริการสตรีมเพลงแบบ ‘Hi-Res audio’ ได้อธิบายถึงการจ่ายเงินส่วนแบ่งให้ศิลปินไว้ว่า ทาง Tidal จะแบ่งเงินไปสู่ศิลปินโดยการนำยอดเงินจาก ‘ผู้สมัครสมาชิก’ ทั้งหมดไปรวมกันอยู่ใน ‘เงินส่วนกลาง’ ก่อนจะดูยอดเข้าฟังของศิลปินแต่ละคนต่อเดือน ว่ามียอดเป็นอย่างไร สามารถแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมาได้กี่เปอร์เซ็นต์ จึงจะสามารถนำมาคำนวณเป็นยอดเงินที่ทางผู้ให้บริการจะจ่ายแก่ตัวศิลปินได้ ซึ่งในส่วนนี้ก็จะคล้ายกับที่ Spotify ทำ

แต่ล่าสุด Tidal เริ่มปรับการจ่ายเงินส่วนแบ่งแก่ศิลปิน ด้วยหลักการ 2 ประการ เพื่อยกระดับความโปร่งใสในการจ่ายเงินส่วนแบ่งที่สูงขึ้นให้แก่ศิลปิน ในปี 2022 ดังนี้

  • การจ่ายเงินสู่ศิลปินโดยตรง เป็นวิธีการใหม่ให้แฟน ๆ สามารถสนับสนุนศิลปินคนโปรด สำหรับผู้สมัครสมาชิกแบบ HiFi Plus โดยศิลปินที่มียอดสตรีมจากสมาชิก HiFi Plus มากที่สุดเพียงคนเดียว ที่จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์จากผู้สมัคร Tidal คนนั้นๆ
  • Fan-Centered Royalties เป็นแนวทางที่ยุติธรรมและโปร่งใสมากขึ้น แฟน ๆ จะมีบทบาทที่สำคัญยิ่งขึ้นต่อความสำเร็จของศิลปิน โดยจะแบ่งยอดสตรีมที่ได้รับจากแฟน ๆ ที่สมัครสมาชิกแบบ HiFi Plus ออกจากผู้สมัครสมาชิกแบบธรรมดา ทำให้เงินส่วนแบ่งของศิลปินสูงขึ้นเมื่อได้รับการสตรีมจากผู้ใช้ HiFi Plus

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นกระบวนการจัดสรรส่วนแบ่งรายได้ของทั้งสองผู้ให้บริการสตรีมมิ่งนั้นมีความคล้ายคลึงกัน แตกต่างเพียงส่วนรายละเอียดเบื้องลึกเท่านั้น จึงพอจะสรุปภาพรวมได้ว่า กระบวนการแบ่งจ่ายเงินสู่ศิลปินนั้นจะต้องนำเงินรวมทั้งหมดที่ทางผู้ให้บริการสตรีมเพลงได้รับ ทั้งจากการสมัครสมาชิก และจากโฆษณา มาหารแบ่งออกเป็นเปอร์เซ็นต์ตามยอดสรีม แล้วจ่ายให้ทางศิลปิน/บริษัทต้นสังกัดนั่นเอง

การฟัง 1 ครั้ง แอปสตรีมเพลงจ่ายให้ศิลปินเท่าไหร่?

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อลองพยายามเทียบยอดสตรีม 1 ครั้ง ต่อจำนวนเงินที่ทางผู้ให้บริการสตรีมมิ่งแต่ละรายจะจ่าย ก็จะได้ออกมาประมาณนี้

ผู้ให้บริการสตรีมมิง อัตราการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ต่อ 1 สตรีม
Amazon Music$0.00402
Apple Music$0.008
Deezer$0.0011
Spotify$0.00318
Tidal$0.01284
YouTube Music$0.002

จะเห็นได้ว่าทาง Tidal นั้นมีการจ่ายส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์ให้ศิลปินในจำนวนที่มากที่สุด แต่ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน (ประมาณ 3 ล้านคน) ที่น้อยกว่าผู้ให้บริการรายอื่น ทำให้ยอดเงินที่ได้รับจากผู้ใช้งานนั้นน้อยลงไปด้วย ในขณะที่ทาง Spotify นั้นถูกนับเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยส่วนแบ่ง 32% ของผู้ใช้บริการสตรีมมิ่ง จึงทำให้แม้ทางแพลตฟอร์มจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ศิลปินไม่มาก แต่ก็มีโอกาสที่ยอดสตรีมจะสูงกว่า จนทำให้รายได้ที่ศิลปินจะได้รับมีมากกว่าอยู่ดี ศิลปินส่วนใหญ่จึงยังคงเผยแพร่ผลงานผ่านแฟลตฟอร์มนี้เป็นจำนวนมาก

ส่วนทาง Apple Music ที่มีส่วนแบ่งการตลาดรองลงมาเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการสตรีมมิง 16 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่จ่ายค่าลิขสิทธิ์ในจำนวนเงินที่น่าคบหามาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้งาน และจำนวนเงินที่ทางแพลตฟอร์มจะจ่าย

สำหรับ Amazon Music นั้นมีจำนวนผู้ใช้งานถึง 13 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตราการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในจำนวนไม่มากไม่น้อยเมื่อเทียบกับรายอื่น จึงนับว่าเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่กึ่งกลาง ยังคงน่าคบหาสำหรับศิลปิน

นอกจากนี้ คุณผู้อ่านคงเห็นได้ชัดเลยว่าอัตราการจ่ายค่าลิขสิทธิ์สำหรับ YouTube Music และ Deezer นั้นน้อยนิดมาก แต่ความแตกต่างนั้นก็ยังมีอยู่ เพราะทาง YouTube Music มีผู้ใช้งานจำนวนมากถึง 50 ล้านคน เนื่องจากผู้คนจำนวนมากได้รู้จัก YouTube Music ผ่าน YouTube ที่มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 2,000 ล้านคน ดังนั้น แม้จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ต่อการสตรีม 1 ครั้งในราคาไม่มาก แต่จำนวนผู้เข้าสตรีมก็มีจำนวนมาก เงินที่ศิลปินจะได้รับจึงอาจจะไม่น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับ Deezer เนื่องด้วยทาง Deezer นั้นมีจำนวนผู้ใช้งานเพียงประมาณ 16 ล้านคน และยังมีอัตราการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่ต่ำมากที่สุดอีก

ทั้งนี้ ตัวเลขที่ออกมานั้นเป็นเพียงข้อมูลเฉลี่ยคร่าว ๆ ของแต่ละผู้ให้บริการสตรีมมิงเท่านั้น ไม่ได้ลงลึกที่อัตราค่าลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกันไปสำหรับสมาชิกในรูปแบบที่แตกต่างกัน หรือปัจจัยอื่น ๆ อีก ดังนั้น เมื่อต้องแบ่งจ่ายค่าลิขสิทธิ์สู่ศิลปิน ราคาที่ศิลปินได้รับจึงอาจมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่ทางเราได้กล่าวมา

อ้างอิง: Orpheus, Producer Hive, Tidal

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส