ทุกวันนี้เทรนด์การจับจ่ายใช้สอยนั้นกำลังเดินเข้าสู่รูปแบบออนไลน์อย่างเต็มตัว โดยเฉพาะการพัฒนาของระบบการจ่ายเงินออนไลน์ที่ถูกให้ความสำคัญและมีการรับรองใช้งานในวงกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าก็มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่หวังจะใช้ช่องโหว่เข้ามาหาผลประโยชน์ในรูปแบบของการโจรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นการเจาะรหัสผ่านหรือข้อมูลส่วนตัวในรูปแบบต่างๆ ในวันนี้เว็บแบไต๋มีข้อแนะนำ 10 ประการจาก Cisco บริษัทผลิตอุปกรณ์เครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจะช่วยให้คุณผู้อ่านซื้อของออน์ไลน์ได้อย่างปลอดภัย

แน่นอนว่าช่วงปลายปีอย่างนี้ มีโปรโมชันมากมายจากแบรนด์ต่างๆ ที่แข่งกันออกมาล่อตาล่อใจผู้บริโภคอย่างมาก ใครที่กำลังสนใจและอยากควักกระเป๋าซื้อของสักชิ้นในตอนนี้ ก็ลองปฏิบัติตามเช็คลิสต์ด้านล่างก่อนสั่งซื้อนะครับ

  1. เลือกซื้อสินค้าออนไลน์จากเว็บไซต์ที่มี https เท่านั้น : เนื่องจากจะเป็นเว็บไซต์ที่มีการเข้ารหัสข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลบัตรเครดิตที่ไม่สามารถทำการขโมยข้อมูลระหว่างสั่งซื้อได้
  2. อย่าซื้อสินค้าออนไลน์ขณะที่กำลังเชื่อมต่อ Wi-Fi สาธารณะ: อดใจรอไปใช้ Wi-Fi จากที่บ้านหรือที่ทำงานซึ่งมีความปลอดภัยในการเข้ารหัสมากกว่า แล้วค่อยสั่งซื้อสินค้า
  3. สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ด้วยบัตรเครดิตหรือ Paypal แทนที่จะใช้บัตรเดบิต: เพราะบัตรเครดิตและ Paypal นั้นมีการคุ้มครองการขโมยเงินออนไลน์ แต่หากใช้บัตรเดบิตซื้อสินค้าแล้ว จะไม่สามารถเรียกเงินคืนได้หากเกิดความผิดพลาด
  4. อย่าบันทึกข้อมูลเครดิตการ์ดของคุณลงบนเว็บเบราเซอร์หรือร้านค้าออนไลน์: ถือเป็นอีกหนึ่งการเพิ่มความเสี่ยงที่ข้อมูลสำคัญของคุณอาจจะถูกเข้าถึงได้ง่ายดาย 
  5. เลือกซื้อสินค้ากับแบรนด์ที่น่าเชื่อถือและไม่มีประวัติเสียหาย: ก่อนซื้อสินค้าจากร้านใดก็ตามบนออนไลน์ เฉลียวใจอ่านรีวิวของผู้ที่ซื้อสินค้าจากร้านดังกล่าวไปแล้ว ทั้งการระบบการบริการรวมทั้งคุณภาพสินค้าที่ลูกค้าได้รับ
  6. อย่ากดคลิกข้อเสนอหรือโปรโมชันต่างๆ บนอีเมล์: ให้พึงระลึกเสมอว่านี่อาจเป็น Phishing หรือการสร้างอีเมล์-เว็บไซต์ปลอมเพื่อหวังหลอกให้คุณเข้าใจผิดและยอมกรอกข้อมูลสำคัญลงไป ทางที่ดีเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ทางการของแบรนด์ที่เราให้ความสนใจจะดีกว่า
  7. ตั้งรหัสผ่านให้มือถือหรือแท็บเล็ตเสมอ: ในกรณีที่เราทำอุปกรณ์ของเราสูญหาย ก็ทำให้สามารถวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าข้อมูลสำคัญบนอุปกรณ์เหล่านั้นจะได้รับการป้องกันเบื้องต้น
  8. คอยอัพเดทเฟิร์มแวร์และแอปพลิเคชันอยู่เสมอ: ไม่ว่าจะเป็นเฟิร์มแวร์มือถือ แอปพลิเคชันต่างๆ ก็ควรหมั่นอัพเดทเพื่อป้องกันช่องโหว่ที่แฮกเกอร์อาจทำการโจมตีและเข้าถึงข้อมูลได้
  9. อย่าลืมติดตั้งโปรแกรมที่ช่วยป้องกันภัยบนอินเทอร์เน็ต: อาทิ เช่นการติดตั้งโปรแกรมแอนตี้ไวรัส เพื่อเพิ่มความปลอดภัยการใช้อินเทอร์เน็ตของคุณ
  10. ให้ระวังข้อความหรือรูปภาพโฆษณาที่เข้าข่ายเกินความเป็นจริง: จำให้ขึ้นใจก่อนซื้อของออนไลน์เลยว่า ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินของคุณนั้นสำคัญอย่างมาก ก่อนการตัดสินใจกรอกข้อมูลเหล่านี้ลงไปในเว็บไซต์ต่างๆ

แม้ว่าโลกยุคนี้การซื้อขายผ่านออนไลน์จะทำได้สะดวกง่ายดาย และอาจมีผู้คนบางส่วนที่ตกเป็นเหยื่อจากการที่เผลอให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญออกไปอย่างไม่ตั้งใจ แต่อย่างน้อยหากอ่านบทความนี้แล้ว จะทำให้คุณผู้อ่านอุ่นใจและเพลิดเพลินกับการช้อปปิ้งบนโลกออนไลน์อย่างแน่นอน อย่าลืมว่า ‘กันไว้ดีกว่าแก้’ นะครับ

อ้างอิง