จากเหตการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา หรือโคราชเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็น 1 ในเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญของคนไทยและทั่วโลก ซึ่งประชาชนทั่วไปนั้นไม่อาจรู้ได้เลยว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่อย่างน้อยถ้าเรารู้วิธีป้องกันตัวจากกรณีนี้ได้ ก็จะช่วยชีวิตของเราและเพื่อน ๆ จากวิกฤติได้อย่างมาก โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ลำดับเหตการณ์ที่เรามีโอกาสประสบได้ดังนี้

เมื่อได้รับแจ้งเหตุ

  • เมื่อรับทราบว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นในละแวกใด ให้เราหลีกเลี่ยงการเดินทางไป ณ ที่แห่งนั้นทันที พร้อมแจ้งเหตุกับคนรู้จัก พ่อแม่พี่น้องและเพื่อนร่วมงานผ่านช่องทางการติดต่อทั้งโทรศัพท์และ Social Media
  • ถ้าอยู่ในละแวกใกล้เคียง ให้รีบเดินทางออกจากพื้นที่ทันที
  • คอยระมัดระวังรอบ ๆ ตัวอยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะถึงสถานที่ปลอดภัยเช่น สำนักงานตำรวจ หรือที่บ้านที่ห่างไกลจากจุดเกิดเหตุ

เมื่ออยู่ในเหตุการณ์

หลบเลี่ยงทันทีถ้าเป็นไปได้

  • ตั้งสติแล้วดูสถานการณ์รอบตัว ถ้าปลอดภัยให้รีบออกจากสถานที่ทันที
    • มองหาช่องทางหลบเลี่ยงเช่น ทางหนีไฟ เพื่อความปลอดภัย อย่าใช้ลิฟต์หรือบันใดเลื่อน เพราะอาจเสี่ยงต่อการสังเกตเห็นได้
  • ปิดเสียงแจ้งเตือนทุกชนิดเพื่อป้องกันการได้ยินของคนร้าย
  • ทิ้งสัมภาระของส่วนตัวที่เกะกะทันทีเช่น กระเป๋าสะพาย สินค้าต่าง ๆ เพื่อความคล่องตัว
  • แจ้งทางบ้านหรือที่ทำงานทันทีโดยใช้การพิมพ์แทนการโทรศัพท์หลังจากหลบเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัย
  • แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารพร้อมรายงานสถานการณ์โดยละเอียด
  • แจ้งคนรอบข้างไม่ให้เข้าไปในเหตุการณ์
  • และที่สำคัญ “อย่าถ่ายทอดสด” ในทุกกรณี

หลบซ่อน ถ้าไม่สามารถหนีได้

  • หลบจากสายตาของผู้ก่อการร้าย และพยายามทำตัวให้เงียบที่สุด
  • ปิดเสียงแจ้งเตือนทุกชนิดเพื่อป้องกันการได้ยินของคนร้าย
  • ให้หลบเข้าสถานที่ที่สามารถปิดตายได้ทันที และอยู่ห่างจากการมองเห็นหรือพบเจอโดยผู้ก่อการร้าย
  • ทำการล็อกประตูและหาอะไรมาขวางไว้ แล้วปิดไฟให้มืด
  • อย่าหลบอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ ให้กระจายตัวกันออกไปเพื่อเพิ่มความปลอดภัย
  • พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่อย่างเงียบที่สุดเช่น การพิมพ์แจ้งไปที่ช่องทาง Social Media เพื่อลดโอกาสการถูกพบโดยคนร้าย
  • อยู่เงียบ ๆ จนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าสถานการณ์ปลอดภัย

สู้กลับเมื่อถึงคราวจำเป็นจริง ๆ

  • ให้ทำการตอบโต้อย่างรุนแรงทันทีที่คิดว่าต้องมีการปะทะ
  • หว่านล้อมให้ผู้ประสบภัยร่วมมือกันลอบจู่โจม โดยเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นเก้าอี้ ถังดับเพลิง กรรไกร เครื่องครัวเช่นมีด กระทะ อะไรก็ตามที่สามารถปาใส่ผู้ก่อการร้ายได้อย่างรวดเร็ว
  • เตรียมใจว่าเราต้องทำร้ายเขาให้บาดเจ็บรุนแรงในทันทีเพื่อป้องกันตัว
    • ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘ บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

หลังจบเหตุการณ์

  • แสดงมือที่ว่างเปล่าให้เจ้าหน้าที่เห็นเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด
  • ทำความเข้าใจก่อนว่าเจ้าหน้าที่ต้องระงับเหตุการณ์ก่อนจะเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ อย่าตื่นตระหนกจนกลายเป็นการขัดขวางเจ้าหน้าที่ปฎิบัติงาน
  • เจ้าหน้าที่จะมีการพกพาอาวุธหนัก รวมไปถึงสเปรย์ หรือแก๊สน้ำตาในการเข้าควบคุมสถานการณ์
  • เจ้าหน้าที่อาจบอกให้ทุกคนหมอบลงไปที่พื้นเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
  • พยายามตามเจ้าหน้าที่อพยพไปตามทางที่เจ้าหน้าที่ได้เข้ามา ยกเว้นจะมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น
  • ให้ดูแลตัวเองให้ปลอดภัยก่อนเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ
  • ถ้าผู้บาดเจ็บกำลังตกอยู่ในอันตราย ให้ช่วยเขาเข้าสู่ที่ปลอดภัยทันที
  • ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ ให้มองหาชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น แล้วทำแผลให้กับผู้บาดเจ็บทันที
  • ให้เข้าพบจิตแพทย์เพื่อบำบัดอาการทางจิตหลังจากจบเหตุการณ์

และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่อยากย้ำอีกครั้งคือ “การตั้งสติให้ดีไม่ตื่นตระหนก” และ “ไม่ไลฟ์สดระหว่างเหตการณ์” นะครับ และทีมงาน beartai ขอให้เหตุการณ์คลี่คลายโดยเร็วและขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

อ้างอิง: https://www.ready.gov/active-shooter

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส