ข่าว อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้เสนอซื้อ Twitter ในราคาหุ้นละ 54.20 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้มูลค่าของ Twitter กลายเป็น 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมัสก์กล่าวว่านี่เป็นข้อเสนอ “สุดท้ายและดีที่สุด” ของเขาเพื่อจะซื้อบริษัทโซเชียลมีเดียแห่งนี้และเอาออกจากตลาดหุ้น โดยเขาบอกว่า “ผมไม่มีความมั่นใจในการบริหารของบริษัท” และบอกกับ เบรต เทย์เลอร์ (Bret Taylor) ประธานบอร์ดบริหารของ Twitter ว่าเขาตั้งใจอยากจะทำให้บริษัทแห่งนี้ดีขึ้นโดยบอกว่า “ทวิตเตอร์มีศักยภาพที่ไม่ธรรมดา ผมจะปลดล็อกมันเอง”

ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ช่วงก่อนหน้านี้ไม่นานเขาจ่ายเงินกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อหุ้นของบริษัทรวมกว่า 9.22% ซึ่งทำให้เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Twitter ทันที จากนั้นบริษัทก็ประกาศว่ามัสก์จะเข้ามาอยู่ในบอร์ดบริหาร แต่สักพัก ปารัก อักราวัล (Parag Agrawal) ซีอีโอของทวิตเตอร์ ก็ประกาศกลับลำว่ามัสก์ตัดสินใจไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริษัทแล้ว แต่ถึงอย่างไงก็ตามบริษัทก็ยังคงเปิดกว้างรับฟังคำแนะนำของมัสก์อยู่เสมอ

ในข่าวการเสนอซื้อของมัสก์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมานั้นเขาก็บอกด้วยว่าถ้าไม่สำเร็จหรือทางบริษัทไม่รับข้อเสนอ เขาก็จะ “พิจารณาสถานะของตัวเองเรื่องการถือหุ้นที่มีอยู่ใหม่” แน่นอนว่าหลังจากนั้นบริษัทก็ออกมาชี้แจงว่าบอร์ดบริหารของ Twitter จะทำการรีวิวข้อเสนอของมัสก์อย่างละเอียดก่อนจะตัดสินใจอะไร โดยจะยึดเอาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นหลัก ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นอะไรที่แปลกประหลาด แดน ไอฟส์ (Dan Ives) นักวิเคราะห์ของ Wedbush (บริษัทการลงทุนของเอกชนที่ตั้งอยู่ในลอสแองเจลิส) กล่าวกับเว็บไซต์ CNBC ว่า

“นี่คือสิ่งที่ไม่เคยเห็นในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นเลย มันเป็นเหมือน ‘Twilight Zone’ สำหรับทุกคนที่ติดตาม Wall Street มาตลอด 100 ปีที่ผ่านมา”

ไม่มีใครรู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นและทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงแบบรายวันเลยทีเดียว อย่างล่าสุดในรายงานข่าวของ CNN ในวันที่ 15 เมษายนก็บอกว่า Twitter จะมีการใช้แผน ‘Poison Pill’ หรือแผนยาพิษเพื่อสกัดการเข้าซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตรของมัสก์ ซึ่งเป็นแผนที่นิยมนำมาใช้ในกรณีที่มีผู้เข้ามาซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตร แผนการนี้คือบุคคลหรือกลุ่มคนใดพยายามซื้อหุ้นบริษัทจนมีสัดส่วนมากกว่า 15% ของหุ้นสามัญโดยไม่ได้รับอนุมัติจากบอร์ดหรือผู้ถือหุ้นรายอื่น ๆ จะเริ่มใช้งานทันที โดยผู้ถือหุ้นทุกคนยกเว้นผู้ที่พยายามเข้าซื้อกิจการแบบไม่เป็นมิตรจะได้สิทธิ์ซื้อหุ้นออกใหม่ในราคาที่มีส่วนลด (ซึ่งอาจจะทำให้ราคาหุ้นร่วง เพราะมีจำนวนหุ้นเยอะขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนที่จะเข้ามาซื้อกิจการใช้เงินในการซื้อเยอะขึ้นด้วย เป็นมาตรการป้องกันแต่ก็ไม่ปิดกั้นแบบ 100%)

หลังข่าวที่มัสก์เข้าซื้อหุ้นบริษัท 9% ในช่วงต้นเดือนเมษายน วันนั้นราคาหุ้นปิดสูงขึ้นจากวันก่อนหน้ากว่า 17% ในการยื่นเรื่องต่อ ก.ล.ต. สหรัฐฯ มัสก์กล่าวว่าเขาเชื่อในศักยภาพของ Twitter ว่ามันมีโอกาสที่จะเป็น “แพลตฟอร์มสำหรับอิสระในการพูดหรือแสดงความคิดเห็น (Free Speech) ทั่วโลก”

ซึ่งประเด็นนี้เองที่เขาน่าจะให้ความสำคัญมากที่สุดและน่าจะเป็นเหตุผลใหญ่ที่เขาตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ เพราะก่อนหน้านี้เขาก็ได้วิจารณ์เรื่องนี้ในทวีตของเขาโดยบอกว่าแนวทางของ Twitter นั้นปิดกั้นอิสระในการพูดหรือแสดงความคิดเห็น แถมมีข่าวลืออีกว่าเหตุผลที่เขาตัดสินไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริษัทเพราะว่าต้องไม่ชวนทะเลาะและพูดอย่างอิสระไม่ได้ (มีคนทวีตเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วมัสก์ก็ไปกดหัวใจด้วย)

ไอฟส์กล่าวว่า “โซเชียลมีเดียแห่งนี้เป็นแพลตฟอร์มสำหรับอิสระในการพูดหรือแสดงความคิดเห็นและเป็นสิ่งที่เขาให้ความสนใจอย่างมาก มันกลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความแตกแยกสำหรับเขา จึงตัดสินใจลงมือและพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงมันเอง”

ถึงแม้ไม่มีใครทราบว่ามัสก์จะมีแนวทางในการนำบริษัทไปยังทิศทางไหน แต่ถ้าดูจากแนวทางจากทวีตที่เขาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็ดูเหมือนว่าเขาจะพยายามผ่อนกฏของการควบคุมเนื้อหาและลดความพยายามของแพลตฟอร์มที่จะกำจัดผู้ใช้ที่ละเมิดหลักเกณฑ์ของ Twitter เพื่อทำให้พื้นที่นี้เหมาะสำหรับการแชร์และพูดคุยอย่างอิสระ นอกจากนั้นแล้วเขายังพูดถึงเรื่องของการสร้างฟังก์ชัน “Edit” หรือแก้ไขข้อความหลังจากที่ทวีตไปแล้ว และการใช้เหรียญคริปโทอย่าง Dogecoin เพื่อจ่ายค่าสมาชิกบริการ Twitter Blue ด้วย แต่ถึงเราจะไม่รู้ว่าทางข้างหน้าของ Twitter ที่มัสก์จินตนาการไว้คืออะไร แต่เขาเชื่อว่าเขาจะสามารถ “ทำให้ [Twitter] ดีขึ้นอย่างมาก” อย่างแน่นอน

มีความคิดเห็นแตกออกเป็นสองฝั่งว่าบอร์ดบริหารของ Twitter ควรที่จะตอบรับข้อเสนอของมัสก์ยังไง ถ้ามองจากมุมที่ว่าราคาหุ้นเคยเทรดกันอยู่ราว ๆ หุ้นละ 39.91 เหรียญสหรัฐฯ ก่อนที่เราจะทราบว่ามัสก์เข้าถือหุ้น 9.22% ส่วนราคาที่เขาเสนอเข้าซื้อคือหุ้นละ 54.20 เหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นราว ๆ กว่า 36% มันก็ไม่ได้น้อยเลย ทำให้ยากที่จะบอกปฏิเสธ เมื่อมองว่า Twitter เองก็เป็นโซเชียลมีเดียแห่งหนึ่งที่ต่อสู้กับเจ้าอื่น ๆ ที่ใหญ่กว่ามากอย่าง Facebook, YouTube, Instagram หรือ TikTok แต่พิธีกรโทรทัศน์ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนบนช่อง CNBC อย่าง จิม แครเมอร์ (Jim Cramer) กลับเห็นว่าบอร์ดบริหารไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากตอบปฏิเสธและสนับสนุนผู้ถือหุ้นของบริษัท บางคนก็บอกว่ามัสก์แค่พูดให้ดูดีแต่ไม่ทำจริง ๆ หรอก อาจจะลองแหย่ ๆ ดูเพราะมีช่วงหนึ่งที่หุ้นของ Twitter มีราคาสูงถึงราว ๆ หุ้นละ 70 เหรียญเลย เพราะฉะนั้นถ้าบอร์ดบริหารตกลงที่ราคานี้อาจจะเห็นว่ามันถูกเกินไปด้วย

ไอฟส์เห็นต่างออกไป โดยเขาแสดงความคิดว่า “พวกเขาไม่ควรแค่ปฎิเสธข้อเสนอเพียงเพราะไม่ชอบมัสก์ พวกเขาได้รับความไว้วางใจในฐานะคณะกรรมการบริษัทมหาชน ซึ่งถ้าปฎิเสธเพียงเพราะไม่ชอบมัสก์ มีหวังได้โดยฟ้องกันยกใหญ่แน่นอน” แต่มหาเศรษฐีชาวอเมริกันและเจ้าของทีมบาสเกตบอล Dallas Mavericks อย่าง มาร์ค คิวบาน (Mark Cuban) ก็คาดเดาถึงปลายทางของเรื่องนี้อีกรูปแบบหนึ่งว่าบริษัทจะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้มัสก์เข้ามาซื้อได้ แต่จะหาใครสักคนหนึ่งที่ ‘Friendly’ หรือคนที่เห็นด้วยกับแนวทางของ Twitter เพื่อเข้ามาซื้อหุ้นในส่วนของมัสก์แทน

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่จบง่าย ๆ ปราค อัครวาล (Parag Agrawal) ซีอีโอของ Twitter ที่เข้ามารับตำแหน่งแทน แจ็ก ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2021 ยังมีงานที่ต้องทำอีกเยอะมาก ทั้งคู่อยู่ในบอร์ดบริหารและจะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 21 เมษายน 2022 เพื่อพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้

ส่วนท่าทีของมัสก์เองล่าสุดเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่งาน TED2022 ก็บอกว่าเขาไม่มั่นใจว่าจะซื้อ Twitter สำเร็จไหม แต่เขาก็กระซิบต่อว่าเขามี “Plan B” แผนสองเผื่อไว้แล้ว แต่ก็ไม่ได้บอกว่าคืออะไรกันแน่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ยังต้องติดตามกันต่ออีกพักใหญ่กว่าจะได้ข้อสรุปอย่างแน่นอน

อ้างอิิง 1 อ้างอิง 2 อ้างอิง 3
อ้างอิง 4 อ้างอิง 5 อ้างอิง 6
อ้างอิง 7 อ้างอิง 8 อ้างอิง 9
อ้างอิง 10

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส