หลังจากเลื่อนการประชุมมาหลายครั้ง ผู้นำอาเซียนและสหรัฐอเมริกาตกลงกันจะพบกันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้ ตามคำเชิญของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทุกประเทศอาเซียนยกเว้นเมียนมาไปเป็นแขกพิเศษ

บังเอิญช่วงที่เชิญเดือนตุลาคมปีที่แล้ว สภาพการเมืองระหว่างประเทศยังเป็นปกติ ไม่มีใครคาดคิดว่า 4 เดือนต่อมา ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัสเซียจะส่งกองทัพเข้าไปในยูเครนก่อสงครามอันร้ายแรงในยุโรปจนถึงวันนี้ เหตุการณ์นี้เพิ่มความสำคัญอย่างมีนัยยะต่อสัมพันธ์อาเซียนและสหรัฐอเมริกาในอนาคตอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ขณะนี้ทั้ง 2 ประเทศกำลังร่างวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับความร่วมมือในอนาคตเช่นเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโรคระบาดโควิด-19 การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การเชื่อมโยง วิกฤตภาวะโลกร้อน ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในกรอบต่าง ๆ รวมทั้งยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก

พบกันที่กรุงวอชิงตันครั้งนี้ เป็นที่รู้กันดีว่าสหรัฐอเมริกาต้องการกดดันให้ผู้นำอาเซียนมีท่าทีชัดเจนมากขึ้นในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ผ่านมาสมาชิกอาเซียนเสียงแตก มีแต่สิงคโปร์เพียงประเทศเดียวที่สนับสนุนการคว่ำบาตรรัสเซียตามโลกตะวันตก ไบเดนต้องการให้พันธมิตรและเพื่อนสหรัฐฯ ออกมาประนามรัสเซียพร้อมหน้ากัน

ในการเมืองเวทีพหุภาคีแรงสนับสนุนของอาเซียนนั้นจะมีความหมายและน้ำหนักมาก ตลอดเวลาสองเดือนที่ผ่านมาอาเซียนไม่ได้เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ฉะนั้นการประชุมครั้งนี้ต้องจับตาดูบทบาทของประธานอาเซียนคือนายกรัฐมนตรีฮุนเซ็นว่าสามารถจะรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนได้หรือไม่

ส่วนไทยเรามีท่าทีชัดเจนตั้งแต่ต้น คือประณามการใช้กำลังและการรุกรานที่ละเมิดอธิปไตยและดินแดนของประเทศอื่น ควรต้องเคารพกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติ แต่ไทยเราไม่เข้าร่วมกับประเทศตะวันตกที่ออกมาประนามรัสเซียอย่างสาหัสสากรรจ์พร้อมกับร่วมออกแบบมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจแบบบูรณาการ เพื่อลดขีดความสามารถของรัสเซียในการทำสงครามต่อไปในยูเครน ผลพวงของการคว่ำบาตรครั้งนี้ยังจะสรุปไม่ได้เพราะบางประเทศในยุโรปไม่สามารถทำตามมาตรการเข้มงวดที่ตกลงกันไว้ได้ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับพลังงาน

ท่าทีไทยรวมทั้งความพยายามในระดับอาเซียนและนานาประเทศต่างต้องการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรมต่อชาวยูเครนที่เป็นเหยื่อสงครามอันโหดร้าย อย่าลืมว่าไทยอาจจะเผชิญกับสภาพเดียวกันที่มีสงครามตัวแทนข้างบ้าน ถ้าวิกฤตในเมียนมายังไม่มีข้อยุติ เพราะการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้านทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยกองกำลังพิทักษ์ประชาชน ที่รัฐบาลพลัดถิ่นได้ก่อตั้งขึ้นมากันยายนปีที่แล้ว สถานการณ์เช่นนี้จะเปิดโอกาสให้มหาอำนาจเข้ามาแทรกแซง สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้รบกัน

ทั้งสหรัฐฯและอาเซียนจะร่วมมือกันหาข้อยุติในเมียนมาโดยอาเซียนจะเป็นตัวนำ เท่าที่ผ่านมาทางรัฐบาลสหรัฐฯยังไว้ใจการทำงานอาเซียนและกรอบฉันทามติ 5 ข้อ เดือนนี้ครบรอบ 1 ปีพอดี ถึงแม้ว่ามีผลคืบหน้าน้อย เนื่องจากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งยังไม่พร้อมที่จะเปิดโต๊ะเข้าร่วมเจรจาได้ แต่มันเป็นกรอบที่อาเซียนนำมาแก้ไขวิกฤตเมียนมา

การประชุมสุดยอดครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาต้องการตอกย้ำความสำคัญของอาเซียนที่มีต่อเสถียรภาพ ความมั่นคงในภูมิภาค ถึงแม้ว่าจะเห็นต่างกันเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส