แม้สิงคโปร์จะขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของอาหาร แต่เนื่องจากภูมิประเทศเป็นเกาะเล็ก ๆ ทำให้วัตถุดิบอาหารมากถึง 90% ของสิงคโปร์นั้น ต้องนำเข้ามาจาก 170 ประเทศทั่วโลก และในสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายประเทศงดส่งออกอาหารและปรับเพิ่มราคา ทำให้สิงคโปร์ต้องเร่งหาวิธีแก้ไขปัญหาอาหารขาดแคลนที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศ

ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สัญญาณของอาหารขาดแคลนก็เริ่มชัดเจนขึ้น เนื่องจากแรงงานและปริมาณการขนส่งลดลง ทำให้ราคาอาหารเริ่มสูงขึ้น อีกทั้งสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ยิ่งเข้ามาทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นไปอีก เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีนโยบายงดส่งออกอาหาร เพื่อกักตุนไว้ในประเทศตัวเอง

หนึ่งในประเทศที่ส่งผลกระทบหนักต่อสิงคโปร์คือ ‘มาเลเซีย’ ที่ประกาศงดส่งออกเนื้อไก่ เนื่องจากสิงคโปร์นั้นต้องนำเข้าเนื้อไก่จากมาเลเซียมากถึง 34% ทำให้นโยบายนี้ส่งผลต่อปริมาณและราคาของเนื้อไก่ในสิงคโปร์อย่างมาก

‘ข้าวมันไก่สิงคโปร์’ ขาดตลาด! หลังมาเลเซียระงับการส่งออกไก่

และเพื่อตอบสนองต่อความไม่มั่นคงทางอาหารของประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์จึงออกโครงการ ’30 by 30′ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มการผลิตในประเทศให้ถึง 30% ของความต้องการบริโภคให้ได้ภายในปี 2030 แต่นักวิเคราะห์กลับมองว่าเป้าหมายนี้เป็นสิ่งที่สำเร็จได้ยากมาก เนื่องจากเวลาเริ่มกระชั้นชิดเข้ามาแล้ว ในขณะที่สิงคโปร์ยังผลิตอาหารในประเทศได้เพียง 10% ของความต้องการทั้งหมด

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังระบุว่า มีเรื่องที่น่ากังวลอีก 2 เรื่อง คือ

  1. พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการอาหารจากธรรมชาติ แทนที่จะยอมเปลี่ยนมาเป็นอาหารที่เกิดจากกระบวนการทางเลือก รวมถึงเนื้อสัตว์ที่ทำมาจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นกระบวนการหลักของโครงการ ’30 by 30′
  2. ผู้บริโภคจะยังคงเลือกซื้ออาหารนำเข้า ถ้าหากอาหารที่ผลิตในประเทศมีราคาแพงกว่า เนื่องจากกระบวนการและต้นทุนการผลิตที่ซับซ้อน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลจะต้องมีมาตรการที่ทำให้ราคาอาหารท้องถิ่นถูกกว่าอาหารนำเข้า หรือทำให้ผลผลิตและมีคุณภาพดีจนสามารถชักจูงให้คนยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้นได้

อีกหนึ่งอย่างที่สิงคโปร์สามารถทำได้ คือการนำเข้าอาหารจากหลากหลายประเทศให้มากขึ้น เพื่อป้องกันอาหารขาดแคลนเฉียบพลัน เพราะถึงแม้ว่าปัจจุบันสิงคโปร์จะนำเข้าอาหารจากหลายประเทศอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีบางประเทศที่รับผิดชอบอาหารส่วนมากในสิงคโปร์อยู่ดี เช่น เนื้อไก่ ที่สิงคโปร์นำเข้ามาจากมาเลเซียมากถึง 34% และบราซิลอีก 48%

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังแนะนำอีกว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี จึงสามารถให้ความช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ในการพัฒนาระบบการผลิต เพื่อผลิตอาหารให้มากขึ้นได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยเหลือสิงคโปร์ได้แล้ว ยังจะช่วยเรื่องความมั่นคงอาหารของทั้งโลกได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ราคาอาหารในสิงคโปร์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นถึง 4.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน และสูงขึ้นมาจากเดือนมีนาคมถึง 3.3% แสดงให้เห็นถึงปัญหาอาหารขาดแคลนอย่างกะทันหัน ตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้คาดการณ์ว่าราคาอาหารจะสูงขึ้นไปอีกถึง 20% `ในปีนี้ ก่อนที่จะเริ่มลดลงในปีถัดไป

ที่มา: CNBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส