วันที่ 4 ตุลาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงานเปิดตัวโครงการรถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น (วีลแชร์) หนึ่งในบริการเพื่อสังคม โดยความร่วมมือของกรุงเทพมหานคร และ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

โครงการรถรับส่งคนพิการ เป็นหนึ่งในนโยบายที่กรุงเทพมหานครตั้งใจเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการ โดยเฉพาะผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ ซึ่งไม่สามารถเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก กรุงเทพมหานคร จึงมอบหมายให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร จัดรถรับส่งเพื่อให้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์

โครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาแอปพลิเคชันภายใต้แนวคิด “เรียก รับ จัด จ่าย” โดย ‘เรียก’ คือการเรียกบริการผ่านแอปพลิเคชัน, ‘รับ’ คือการรับข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน, ‘จัด’ คือการจัดรถ และ ‘จ่าย’ คือการจ่ายรถไปยังผู้ขอใช้บริการ โดยจะทดลองใช้งานแอปพลิเคชันประมาณเดือนมีนาคม 2566

ทั้งนี้ ในอนาคตจะใช้การจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบดิจิทัล เพื่อช่วยให้การเรียกใช้บริการสะดวกขึ้น รวมทั้งบริหารจัดการรถเพื่อเพิ่มเที่ยววิ่งได้มากขึ้น และจะขยายโครงการเพื่อเพิ่มจุดให้บริการรถรับส่งผู้พิการให้ครอบคลุมสถานพยาบาลของกรุงเทพมหานครต่อไป 

รถที่ให้บริการในโครงการดังกล่าว ได้ดัดแปลงจากรถตู้ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถวีลแชร์และผู้ติดตามด้วยความปลอดภัย ประกอบด้วย ลิฟต์ไฮดรอลิกสำหรับขึ้น-ลง พร้อมที่จับ, หมุดยึดตัวรถพร้อมสายรัดความปลอดภัยและเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ และเบาะเสริม 2 ที่นั่ง สำหรับผู้ติดตาม โดยรถตู้ดังกล่าว สามารถรองรับรถวีลแชร์สูงสุด 3 คัน เบื้องต้นเปิดให้บริการ จำนวน 10 คัน และจะเพิ่มเป็น 20 คัน รวมจำนวน 30 คัน ภายในเดือนตุลาคมนี้ ในเบื้องต้นสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่สายด่วนสำหรับคนพิการ โทร.1479 หรือสายด่วน 1555 ของกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายสำคัญเพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน พี่น้องที่มีข้อจำกัดในการเดินทางก็เป็นส่วนหนึ่งกรุงเทพฯ เชื่อว่า เราทำให้พี่น้องที่เดินทางได้สะดวกสำหรับทุกคน

“แม้มีข้อเสนอหลายอย่างที่จะให้ปรับปรุง เช่น เรื่องการเชื่อมต่อรถสาธารณะ เรื่องป้ายรถเมล์ต่าง ๆ ต้องดำเนินการปรับปรุงให้ทุกคนสามารถเดินทางได้อย่างเท่าเทียมกัน คงมีการดำเนินการต่ออย่างต่อเนื่อง คงทำไม่เสร็จในเดือนเดียว กรุงเทพฯ มีพื้นที่กว้างขวาง ค่อยจัดความสำคัญ ค่อย ๆ ไล่ทำไป ได้คุยกับเครือข่าย และมีที่ปรึกษาที่เข้าใจพี่น้องที่ใช้วีลแชร์ ทำให้เราสามารถผลักดันนโยบายสำหรับประชาชนที่ใช้วีลแชร์ได้จริง ๆ มีเครือข่ายที่เข้มแข็ง และทำงานมาหลายปี เราเอาจริงเอาจัง และจะทำให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส