The Canteen กลายเป็นร้านอาหารมังสวิรัติเป็นแห่งแรกในเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ ที่เพิ่มปริมาณ Carbon Footprint หรือจำนวนก๊าซเรือนกระจกของอาหารจานนั้น ๆ ในเมนูอาหารของร้าน

ก่อนหน้านี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษกำหนดให้ร้านอาหารที่มีพนักงานตั้งแต่ 250 คนขึ้นไป ต้องระบุข้อมูลโภชนาการ และแสดงจำนวนแคลอรีที่เห็นได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นการจุดประกายให้ The Canteen เลือกแสดงปริมาณ Carbon Footprint ในเมนูอาหารของตนเอง

“เราควรให้ความสำคัญกับห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และนั่นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด มันเป็นเรื่องที่ดีจริง ๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รู้ว่าอาหารที่เรากินมาจากไหน” เลียม สต็อก (Liam Stocks) ผู้จัดการร้านอาหาร The Canteen กล่าว

Bristol venue adds carbon footprint to its menu

ปริมาณ Carbon Footprint หรือจำนวนก๊าซเรือนกระจกของอาหารจานนั้น ๆ จะถูกคำนวณจากระยะทางที่วัตถุดิบใช้เพื่อเดินทางมาถึงร้านอาหาร, ฤดูกาลที่เก็บเกี่ยววัตถุดิบและส่วนผสมนั้น รวมถึงปริมาณการปล่อยมลพิษในกระบวนการผลิตของวัตถุดิบและส่วนผสมนั้น ๆ

เคียร่า บ็อกซ์ (Kierra Box) นักเคลื่อนไหวด้านกฎระเบียบการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของ Friends of the Earth องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมที่มีเครือข่ายทั่วโลก ระบุว่า การปรับเปลี่ยนให้กระบวนการผลิตอาหารมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแลดล้อมมากขึ้น จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น

โดยรายงานของ Nature Food ระบุว่า อุตสาหกรรมอาหารมีส่วนสร้างความเสียหายต่อสภาพอากาศประมาณ 40% ดังนั้น การลดปริมาณ Carbon Footprint หรือจำนวนก๊าซเรือนกระจกของอาหารจานนั้น ๆ จะช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมได้ เช่น ลดการบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว, การเลือกใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่นเพื่อลดการระยะทางการขนส่ง หรือแม้แต่การบริโภคอาหารตามฤดูกาล เพื่อหลีกเลี่ยงภาระการจัดเก็บอาหาร เป็นต้น

ยกตัวอย่าง ‘เบอร์เกอร์เนื้อ’ ที่ผลิตในสหราชอาณาจักร คือ เมนูที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 3,050 กรัม ต่อการเสิร์ฟ 1 จาน ในขณะที่ ‘เบอร์เกอร์มังสวิรัติ’ ซึ่งผลิตในสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 300 กรัมเท่านั้น

บ็อกซ์ยังระบุอีกว่า การทำให้ปริมาณ Carbon Footprint ในอาหารถูกพูดถึงนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในหมู่ผู้บริโภค แต่อย่างไรก็ตาม คนที่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุด คือ รัฐบาลและผู้ผลิตอาหารในอุตสาหกรรมที่ควรรับผิดชอบในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่สะอาด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา : BBC

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส