ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะผู้แทนคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Thailand Taxonomy ภายใต้คณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน

ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไว้ใช้ประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับความหมายของ Taxonomy ในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น คือ การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียวตามนิยามเดียวกัน ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดสรรเงินทุนของภาคการเงินการธนาคาร ซึ่งเป็นตัวกลางสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทั้งนี้ การจัดกลุ่มของ Thailand Taxonomy นั้น จะใช้หลักการที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยจะแบ่งการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมต่าง ๆ ออกเป็น 3 ระดับ เรียกว่า ระบบ Traffic-Light System ได้แก่ สีเขียว, สีเหลือง และสีแดง

Indonesia Green Taxonomy 1.0
การจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามระบบ Traffic-Light System ของอินโดนีเซีย
Source : POJK 51/2017, Indonesia Green Taxonomy 1.0 (2022), CPI analysis

ซึ่งในระยะที่ 1 นี้ คณะทำงานฯ จะเริ่มด้วยการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูง และจะดำเนินการในภาคสำคัญอื่น ๆ ในระยะต่อไป

ดังนั้น เพื่อให้การจัดกลุ่มเป็นไปอย่างราบรื่นและเหมาะสม ทาง ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. จึงขอเชิญผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจ ร่วมให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 (ลิงก์เอกสาร คลิกที่นี่) และผลกระทบหากนำมาใช้งาน โดยท่านสามารถกรอกแบบฟอร์มเพื่อส่งความเห็น (ลิงก์ตอบแบบสอบถาม คลิกที่นี่) โดยสามารถส่งความเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2565 ถึง 26 มกราคม 2566