วันที่ 7 มีนาคม 2566 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดย ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้และมูลค่าของฐานภาษี (รายได้จากการขายลบต้นทุน) อันเนื่องมาจากการขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน ที่เสนอขายต่อประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.ฎ. ดังกล่าวยังยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป (ย้อนหลังไปถึงวันที่พระราชกำหนดการประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ) เพื่อให้มาตรการภาษีของโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนเท่าเทียมกับมาตรการภาษีของหลักทรัพย์ และส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจโดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการระดมทุน

สำหรับโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน หรือ Investment Token คือโทเคนดิจิทัลที่กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ โดยผู้ถือโทเคนเพื่อการลงทุนจะได้ผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนแบ่งของกำไรและส่วนแบ่งรายได้

ถือเป็นช่องทางในการเพิ่มเงินทุนของผู้ประกอบการ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ครม. จึงเห็นชอบในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ออกโทเคนดิจิทัล

“ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการยกเว้นภาษีในครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ มีทางเลือกในการระดมทุนด้วยโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน นอกเหนือจากการระดมทุนด้วยเครื่องมือแบบเดิม ๆ เช่น ผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์, ผ่านพันธบัตร หรือหุ้นกู้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการระดมทุน การลงทุน และการจ้างงานในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย” น.ส.รัชดา กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2566 – 2567 จะมีการออกและเสนอขายโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนมูลค่ารวมประมาณ 128,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 25,600 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 8,960  ล้านบาท ดังนั้น ประมาณการการสูญเสียรายได้ของภาครัฐในช่วง 2 ปีจะอยู่ที่ 35,279 ล้านบาท