เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (17 มีนาคม) เพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ที่ถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพจะสูญเสียทรัพย์สิน ทั้งผ่านโทรศัพท์หรือวิธีอื่น ๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ 

โดย พ.ร.ก. ฉบับนี้มีทั้งหมด 14 มาตรา สาระสำคัญที่น่าสนใจอยู่ที่ มาตรา 9 คือ ผู้ที่เปิดหรือยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม หรืออี-มันนีของตน โดยไม่ได้ใช้เพื่อตนหรือกิจการของตนเอง (บัญชีม้า) หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้เบอร์มือถือ โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือความผิดทางอาญาอื่นใด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 10 คือ ผู้ใดเป็นธุระ จัดหา โฆษณา หรือให้มีการซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืมบัญชีเงินฝาก บัตรเอทีเอ็ม หรืออี-มันนี เพื่อใช้กระทำความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 – 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

และมาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระ จัดหา โฆษณา หรือไขข่าวซื้อหรือขายเบอร์มือถือที่ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ (เบอร์ผี) มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่ดีอีเอส ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หารือ หลัง พ.ร.ก. ปราบอาชญากรรมออนไลน์บังคับใช้ มั่นใจช่วยลดความเสี่ยงประชาชนโดนดูดเงินผ่านช่องทางดิจิทัล บรรเทาการสูญเสียทรัพย์ได้แน่

ด้านนางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. กล่าวว่า “พ.ร.ก. ดังกล่าว จะมีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาภัยทางการเงินได้อย่างตรงจุด และเมื่อผนวกกับชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินของ ธปท. ที่จะยกระดับการป้องกัน ตรวจจับ ตอบสนองและรับมือต่อภัยการเงินในภาคการธนาคารให้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว จะช่วยให้การแก้ปัญหาทำได้ครบวงจรยิ่งขึ้น 

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า พ.ร.ก. นี้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การจัดการภัยทางการเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะ พ.ร.ก.มีบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ชัดเจน ทั้งผู้เปิดบัญชีม้า และผู้ให้การสนับสนุน ทำให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ตำรวจ และ ธนาคาร สามารถแชร์ข้อมูลผู้กระทำผิดข้ามธนาคารได้โดยอัตโนมัติ และสามารถบล็อกบัญชีที่ต้องสงสัยชั่วคราวได้ทันที โดยไม่ต้องรอแจ้งความ เพื่อลดบัญชีม้าที่มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการเอาเงินออกจากบัญชีผู้เสียหายได้

ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม