ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (29 มี.ค. 66) น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.75% ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้

สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 แม้จะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนที่ 3.8% YoY แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1 – 3% ส่งผลให้ กนง. อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งสุดท้ายในรอบวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นนี้ที่ 0.25% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) สำหรับอนาคต หากมีสถานการณ์ที่ส่งผลให้ กนง. จำเป็นต้องมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการปรับดอกเบี้ยนโยบายนั้น เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางหลักอย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกอบกับปัญหาธนาคารของชาติตะวันตกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ กนง. คงจะต้องให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว ส่งผลให้แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มลดลง โดยการประชุมของการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 21 – 22 มีนาคมที่ผ่านมา มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ตามคาด

รวมถึงการส่งสัญญาณว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุดลง ส่งผลให้แรงกดดันจากแนวโน้มนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นมีลดลง อย่างไรก็ตาม ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ยังมีความไม่แน่นอน โดยคงขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพด้านการเงินในระยะข้างหน้าท่ามกลางปัญหาภาคธนาคารในประเทศตะวันตก