วันหยุดคือวันที่ใคร ๆ ต่างก็รอคอยมากที่สุด เพราะนี่คือวันอันแสนสบายที่เราจะได้หยุดพักจากการทำงาน แต่ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมคนเราต้องทำงาน 5 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ และได้หยุดพักในวันเสาร์และวันอาทิตย์ คลิปนี้เราจะบรีฟให้คุณฟัง

ทำไม 1 สัปดาห์ถึงมี 7 วัน ?

ก่อนที่จะพูดถึงวันหยุดและวันทำงานนั้น เราต้องเข้าใจกันก่อนว่าทำไมใน 1 สัปดาห์ถึงมี 7 วัน โดยที่มาของเรื่องนี้ต้องย้อนไกลถึงสมัยโบราณที่โลกยังไม่มีการแบ่งเป็นประเทศต่าง ๆ แต่มีอารยธรรมน้อยใหญ่กระจัดกระจายไป โดยอารยธรรมอียิปต์ได้แบ่งให้มี 10 วันใน 1 สัปดาห์ ในขณะที่อารยธรรมอิทรัสคันได้แบ่งให้มี 8 วัน ซึ่งชาวโรมันก็หยิบเอา 8 วันต่อสัปดาห์ไปใช้ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนมาใช้ตามชาวบาบิโลน ที่กำหนดให้ใน 1 สัปดาห์มี 7 วัน

ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่า ทำไมชาวบาบิโลนถึงกำหนดเช่นนั้น แต่ก็มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจและให้เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า ชาวบาบิโลนเชื่อว่าระบบสุริยะมีดาวอยู่ 7 ดวง พวกเขาจึงกำหนดให้ 1 สัปดาห์มี 7 วัน และตั้งชื่อวันในสัปดาห์ตามชื่อดวงดาว ซึ่งต่อมาแนวคิดนี้ก็กระจายไปเรื่อย ๆ ทั่วทั้งตะวันออกกลางและยุโรป

เมื่อก่อนคนต้องทำงานทุกวัน

กลับมาที่ยุคปัจจุบันกันบ้าง แม้ว่าเราจะรู้แล้วว่า 1 สัปดาห์มี 7 วัน แต่มนุษย์ก็ยังต้องทำงานทุกวัน เพราะว่าไม่มีใครกำหนดวันหยุดเอาไว้ ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจเป็นเพราะว่าสมัยก่อนมนุษย์เป็นสังคมเกษตรกรรม จะทำนา ทำสวน ก็ต้องพึ่งลมฟ้าอากาศ เหนื่อยวันไหนก็ค่อยพัก แล้วก็ลุกขึ้นมาทำวันต่อไป

ซึ่งการทำงานแบบนี้ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้มนุษย์เหนื่อยมากเกินไป จึงเริ่มกำหนดให้มีวันหยุด 1 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ชาวคริสต์จะหยุดงานในวันอาทิตย์, ชาวยิวจะหยุดงานในวันเสาร์ ส่วนชาวมุสลิมจะหยุดงานในวันศุกร์ นั่นก็เพราะว่าวันดังกล่าว เป็นวันที่พวกเขาจะต้องไปประกอบพิธีทางศาสนานั่นเอง

สังคมอุตสาหกรรม

ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรม หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มมีเครื่องจักรไอน้ำไว้ใช้งาน ทำให้รูปแบบการผลิตเปลี่ยนจากครัวเรือนมาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม

โดยโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีแรงงานจำนวนมากเพื่อควบคุมเครื่องจักร ประกอบกับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรโลก เจ้าของโรงงานก็เร่งผลิตสินค้าทุกวัน เศรษฐกิจโลกก็เริ่มเติบโต สวนทางกับแรงงานที่ห่อเหี่ยว เนื่องจากขาดการพักผ่อน จนทำไปสู่การประท้วงใหญ่ในที่สุด

ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงหลังของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือบางคนอาจจะเรียกว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 แรงงานต้องทำงานประมาณ 60 – 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเป็นการทำงานแบบไม่มีวันหยุด หรือถ้าจะมีหยุดบ้าง ก็แค่ 1 วันเท่านั้น เพื่อไปประกอบพิธีทางศาสนาอย่างที่เราเคยบอกไป

ดังนั้น เมื่อทำงานเหนื่อยมากเกินไป การประท้วงขอหยุดงานจึงเกิดขึ้น ซึ่งคนที่ริเริ่มให้มีวันหยุด 2 วันต่อสัปดาห์ คือ เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ผู้ก่อตั้ง ฟอร์ด มอเตอร์ (Ford Motor) โรงงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ นั่นเอง

การริเริ่มวันหยุด

ในปี 1926 เฮนรี ฟอร์ด พยายามจะหลีกเลี่ยงการประท้วงของพนักงาน โดยเขาคิดว่า หากพนักงานได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ พวกเขาก็จะโมโหน้อยลง และก็น่าจะทำงานได้ดีขึ้น จึงได้ทดลองลดวันทำงานลง จาก 6 วัน เหลือ 5 วันต่อสัปดาห์ และมีวันหยุด 2 วัน คือวันเสาร์และวันอาทิตย์ โดยที่พนักงานยังได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม

ซึ่งความคิดนี้ ใคร ๆ ก็มองว่ามีแต่เสียกับเสีย เพราะว่าบริษัทต้องจ่ายเงินเท่าเดิม แต่ได้งานน้อยลง มันช่างดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะดีต่อบริษัทเลย แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นพนักงานที่มีความสุขมากขึ้น และทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น

เมื่อเห็นแบบนี้พนักงานในโรงงานอื่น ๆ ก็เริ่มลุกฮือ และเรียกร้องให้โรงงานของพวกเขามีชั่วโมงทำงานและวันหยุดเหมือนกับโรงงานของฟอร์ด ขณะเดียวกันบางโรงงานก็อยากมีรายได้เพิ่มบ้าง จึงหันมาเพิ่มวันหยุดให้กับพนักงาน แต่บางโรงงานก็ยังไม่ยอมอยู่ดี จนสุดท้ายเพื่อจบทุกความวุ่นวาย รัฐบาลสหรัฐฯ จึงได้ออกกฎหมายแรงงานในปี 1932 และกำหนดให้แรงงานทำงานเพียง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมง และมีวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์

การทำงาน 5 วันนั้นมากเกินไปไหม ?

และแล้วก็มาถึงวันนี้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งการทำงาน 5 วัน เหมือนจะมากเกินไปอีกแล้ว ทำให้แนวคิดเรื่องลดการทำงานให้เหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ มีการพูดถึงกันมากขึ้น จน Royal Society of Biology ในประเทศอังกฤษ ได้ลงมือทำงานวิจัยครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการทดลองให้พนักงานใน 61 บริษัท ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลานานถึง 6 เดือน ซึ่งการทดลองดังกล่าว เพิ่งจะเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี่เอง และก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจอย่างมาก

โดยพนักงานมากกว่า 70% บอกว่าการทำงานรูปแบบนี้ช่วยให้ภาวะหมดไฟลดลง และบริษัท 18 แห่งที่เข้าร่วมการทดสอบ บอกว่าจะใช้นโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เป็นการถาวร ในขณะที่อีก 56 แห่ง บอกว่าจะขยายเวลาการทำงานแบบนี้ต่อไปอีก

ไม่ว่าในอนาคต พวกเราจะได้ทำงาน 5 วัน หรือ 4 วัน แต่ท้ายที่สุดแล้ว การทำงานที่ดีไม่ใช่การ Work Hard แต่ต้องเป็น Work Smart หมายความว่า ทำงานอย่างไรให้ได้งาน โดยที่ไม่เครียด ไม่ทำลายสุขภาพ และไม่ทำลายความสัมพันธ์กับคนรอบ ๆ ตัวเราด้วยนั่นเอง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส