อัตราการเกิดของเด็กในประเทศเกาหลีใต้กำลังลดลงในอัตราที่เร็วที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้พบว่า ในปี 2022 โดยเฉลี่ยแล้วผู้หญิงเกาหลีหนึ่งคนจะมีลูก 0.78 ลดลงจากปี 2021 ที่อยู่ที่ 0.81 และนับว่าต่ำที่สุดในบรรดากว่า 260 ประเทศที่ติดตามโดยธนาคารโลก ส่งผลให้รัฐบาลเกาหลีใต้จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนแรงงานต่างชาติ เพื่อแก้ไขวิกฤตประชากร

แรงงานจำเป็นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

การวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญเผยให้เห็นว่า ด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอินโดนีเซียและไนจีเรียจะทำให้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ขยายตัวแซงหน้าเกาหลีใต้ได้ภายในปี 2050 และผลักดันให้เกาหลีใต้หลุดจากกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก 15 อันดับแรก ในขณะที่การคาดการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้นระบุว่า เกาหลีใต้อาจสูญเสียความเป็นประเทศที่มีเชื้อชาติเดียวกันภายในปี 2750 หากอัตราการเกิดของเด็กในประเทศยังคงลดลงตามอัตราปัจจุบัน

รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าว และพยายามแก้ไขมาตลอด 15 ปี ด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลกว่า 212,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7.31 ล้านล้านบาท แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนแรงงานต่างชาติ เพื่อป้อนเข้าสู่ภาคเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง และอุตสาหกรรมการผลิตที่กำลังขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก เนื่องจากงานในภาคส่วนดังกล่าวจำเป็นต้องใช้แรงงานหนัก แต่กลับมีรายได้น้อยนิด จึงไม่เป็นที่นิยมในหมู่หนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้

การเปิดรับแรงงานต่างชาติ

ในปี 2004 รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มเปิดรับแรงงานต่างชาติที่มีทักษะต่ำ เพื่อเข้ามาทำงานในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการผลิต โดยรัฐบาลนั้นเป็นผู้ควบคุมกระบวนการจ้างงานทั้งหมด ตั้งแต่การคัดเลือกแรงงาน การจัดหางาน ไปจนถึงการส่งกลับประเทศ

ทั้งนี้ ข้อมูลในปี 1990 เผยให้เห็นว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เกาหลีใต้มีชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวประมาณ 49,000 คน ในขณะที่ในปี 2019 จำนวนชาวต่างชาติที่พำนักระยะยาวและชาวต่างชาติที่พำนักน้อยกว่า 90 วัน เพิ่มขึ้นเป็น 2.52 ซึ่งคิดเป็นจำนวน 4.9% ของประชากรเกาหลีใต้ประมาณ 51 ล้านคน โดยสัดส่วนของชาวต่างชาติทั้งหมดประมาณ 40% เป็นชาวจีน ซึ่งมีเชื้อสายเกาหลี โดยพวกเขาสามารถใช้ภาษาเกาหลีและจีนได้อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงมีวัฒนธรรมและอาหารการกินที่ใกล้เคียง สัดส่วนรองลงมาคือชาวเวียดนามและชาวไทยตามลำดับ

ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งเปิดเผยกับ Nikkei Asia ว่า การนำเข้าแรงงานต่างชาติของรัฐบาลเกาหลีใต้นั้น ไม่ได้มีเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานเท่านั้น แต่รัฐบาลยังได้เตรียมวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้แรงงานต่างชาติกลายเป็นผู้พำนักถาวร เช่น แรงงานต่างชาติในเกาหลีใต้สามารถได้รับสถานะผู้พำนักถาวรผ่านการแต่งงานกับชาวเกาหลีใต้ ส่งผลให้จำนวนการแต่งงานระหว่างแรงงานต่างชาติกับชาวเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2000 โดยปัจจุบัน จำนวน 1 ใน 10 ของงานแต่งงานที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ มักเกี่ยวข้องกับการแต่งงานของชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนหรือเวียดนาม

นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยังส่งเสริมชาวต่างชาติที่กำลังจะแต่งงานกับชาวเกาหลีใต้หรือได้รับสถานะผู้พำนักถาวรแล้ว ด้วยบริการให้คำปรึกษาและการสอนภาษาเกาหลีฟรี ผ่านสถาบันภาษาที่รัฐบาลสนับสนุนและจัดตั้งขึ้น 319 แห่งทั่วประเทศ

การกีดกันชาวต่างชาติ

แม้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าแก้ไขวิกฤตประชากรกำลังเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ด้วยการจ้างแรงงานต่างชาติ และส่งเสริมการแต่งงานกับชาวเกาหลีใต้ แต่การจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อสนับสนุนชาวต่างชาติและลูก ๆ ของพวกเขา กำลังกลายเป็นความไม่พอใจของประชาชนชาวเกาหลีใต้เสียเอง เพราะนั่นหมายถึงการใช้เงินภาษีเพื่อชาวต่างชาติ

ความไม่พอใจดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อชาวต่างชาติที่พำนักในเกาหลีใต้ ทั้งการเลือกปฎิบัติและความรู้สึกถูกคุกคาม นอกจากนี้ แม้ว่าแรงงานชาวต่างชาติจะได้รับค่าแรงสูงกว่าค่าแรงในประเทศบ้านเกิด แต่พวกเขาก็ต้องทำงานในชั่วโมงที่ยาวนาน ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีกระแสของความไม่พอใจจากคนในชาติและปัญหาการทำงานของแรงงาน แต่เกาหลีใต้ยังคงเป็นประเทศที่แรงงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใฝ่ฝันมาทำงานเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะความรู้สึกคุ้นเคยกับบริษัทและผลิตภัณฑ์ของเกาหลีใต้ รวมถึงพลังของ Soft Power ผ่านละครโทรทัศน์ และกระแสของเพลง K POP ที่โด่งดังไปทั่วโลกก็ยิ่งดึงดูดให้คนหนุ่มสาวเข้ามาทำงานในประเทศ

NAMI ISLAND,KOREA - OCT 25: The statue and Tourists taking photo

ซึ่งในอนาคตก็ต้องติดตามดูต่อไปว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะแก้ไขปัญหาความไม่พอใจจากคนในชาติได้อย่างไร รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมของแรงงาน ค่าแรงที่เป็นธรรม และชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม เพื่อให้การแก้ไขวิกฤตประชากรของเกาหลีใต้นั้นดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน

ที่มา : Nikkei Asia

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส