เป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่ง นับตั้งแต่ เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (Evergrande Group) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีน ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ตลาดต่างประเทศ (Offshore Bond) มูลค่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 41,000 ล้านบาท ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกตกอยู่ในความปั่นป่วนระยะหนึ่ง แต่ที่หนักหนาคงต้องบอกว่าเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤต และเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีนไม่ให้ไปถึงเป้าหมาย

เพื่อยับยั้งไม่ให้วิกฤตลุกลาม ทางการจีนได้ออกมาตรการควบคุมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อปราบปรามการเกิดฟองสบู่ในอุตสาหกรรมนี้ โดยมาตรการดังกล่าวทำให้เม็ดเงินลงทุนหดหายไป และทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเข้าสู่ภาวะหดตัวต่อเนื่องถึง 6 ไตรมาส

ล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมาว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2023 นี้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนขยายตัว 1.3% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง โดยได้รับแรงหนุนจากการยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมหลักทั้งหมดเติบโต

แม้ว่าทางการจีนจะยังคงคุมเข้มการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่นักพัฒนาฯ ที่ยังคงมีหนี้สินอยู่ แต่ขณะเดียวรัฐบาลก็พยายามกระตุ้นยอดขายในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยมาตรการปรับลดงวดผ่อนชำระ เพื่อสนับสนุนตลาดที่อยู่อาศัยให้เติบโต สะท้อนได้จากยอดขายที่อยู่อาศัยใหม่ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่นักพัฒนาฯ ยังคงลดลงต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2023 นี้

นอกเหนือจากภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนยังเปิดเผยให้เห็นอีกว่า ทั้ง 12 อุตสาหกรรมของจีนขยายตัวเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 (เมษายน-มิถุนายน) โดยได้รับแรงหนุนจากการยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งทำให้การจับจ่ายภายในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในภาคบริการ เช่น กลุ่มที่พักและร้านอาหาร ขยายตัว 13.6% ส่วนภาคการขนส่งขยายตัว 4.8%

สำหรับภาคการผลิตนั้น แม้ว่าจะขยายตัวมากกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.8% แต่ก็ยังต่ำกว่าไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 (กรกฎาคม-กันยายน) ที่ขยายตัวถึง 4% โดยได้รับแรงหนุนสำคัญจากการคลายล็อกดาวน์มหานครเซี่ยงไฮ้

การขยายตัวในหลายอุตสาหกรรมของจีนเป็นแนวโน้มที่สะท้อนว่า เศรษฐกิจจีนกำลังฟื้นตัว ซึ่งทำให้นักลงทุนหลายคนใจชื้น แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่ายอดขายสินค้าคงทนภายในประเทศของจีนอย่างรถยนต์ยังคงซบเซา เช่นเดียวกับภาคการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยกดดัน ซึ่งอาจทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนพลาดเป้าหมายมากกว่า 5% ตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้

ที่มา : Nikkei Asia

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส