ตามที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรได้ประกาศเปิดรับฟังความเห็น เรื่อง พระราชกําหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526 โดยกำหนดตั้งแต่วันที่ 3-17 พฤษภาคม 2566 นั้น

ล่าสุด วันที่ 6 พฤษภาคม 2566 นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ได้ยืนยันกับเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจว่า เป็นเรื่องจริง โดยยืนยันว่าไม่ใช่การเก็บภาษีใหม่ แต่เป็นการประเมินผลตามกฎหมาย ซึ่งกรมสรรพากรจะมีการอธิบายเรื่องนี้ให้ชัดเจนอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

ภาษีเดินทางออกนอกประเทศ

พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526 กําหนดให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากภาษีอื่น ๆ ที่กรมสรรพากรเคยจัดเก็บมา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บที่สําคัญ คือ เป็นการหารายได้ให้แก่รัฐบาล และป้องกันมิให้คนไทยนําเงินตราต่างประเทศออกนอกราชอาณาจักรเกินสมควร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดดุลการค้า และรักษาดุลการชําระเงินของประเทศ

thailand passport and thai baht

ใครต้องเสียภาษีบ้าง ?

1. เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย หรือเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร (มาตรา 3) โดยผู้ที่มีสัญชาติไทย หมายถึง คนไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเกิดในประเทศไทย หรือเกิดนอกประเทศไทยก็ตาม รวมถึงผู้ที่ขอแปลงสัญชาติเป็นคนไทยด้วย สําหรับคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร คือ คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาต ตามกฎหมายคนเข้าเมืองให้อยู่ในประเทศไทย แต่หากเป็นกรณีที่คนต่างด้าวที่เข้ามาประเทศไทยเป็นการชั่วคราวหรือระยะยาว หากไม่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ก็ไม่หน้าที่ต้องเสียภาษีการเดินทางแต่อย่างใด

2. เป็นผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร (มาตรา 8) บุคคลที่เข้าลักษณะที่จะต้องเสียภาษีการเดินทาง จะต้องเป็นการเดินทางออกไปจากประเทศไทยเท่านั้น หากเป็นการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยแล้ว บุคคลดังกล่าวไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการเดินทาง

การเก็บภาษีการเดินทางนี้ ถ้าเข้าลักษณะตาม 1. และ 2. แล้วจึงจะต้องเสียภาษีการเดินทางทั้งสิ้น ไม่ว่าผู้เดินทางจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือเป็นข้าราชการที่เดินทางไปราชการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเดินทางเพราะเหตุใด ๆ จะต้องเสียภาษีการเดินทาง เว้นแต่จะได้รับยกเว้นตามกฎหมาย

ต้องเสียภาษีเท่าไร ?

สำหรับอัตราภาษีนั้น พระราชกำหนดภาษีการเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2526 กําหนดให้อัตราภาษีการเดินทางไว้ไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท (มาตรา 8) แต่ได้มีการออกกฎกระทรวงกําหนดอัตราภาษีการเดินทางไว้ คือ การเดินทางโดยทางอากาศ ครั้งละ 1,000 บาท และการเดินทางโดยทางบกหรือทางน้ำ ครั้งละ 500 บาท

ต้องเสียภาษีอย่างไร ?

1. การเดินทางโดยทางเครื่องบิน ผู้เดินทางจะต้องชําระภาษีต่อผู้ประกอบการขนส่งหรือตัวแทน ซึ่งจําหน่ายตั๋วโดยสารในทันทีที่ซื้อตั๋วโดยสาร แต่ถ้ามีเหตุจําเป็นไม่อาจชําระได้ เช่น ตั๋วโดยสารซื้อมาจากต่างประเทศ ก็อาจชําระภาษีการเดินทางได้ต่อผู้ประกอบการขนส่งหรือตัวแทนในประเทศไทย, พนักงานเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรที่ท่าอากาศยาน หรือที่สํานักงานสรรพากรอําเภอท้องที่ที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานหาดใหญ่ เป็นต้น ตั้งอยู่ หรือชําระต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรประจําท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต หรือท่าอากาศยานหาดใหญ่ เป็นต้น

กรณีที่มีการเดินทางทางอากาศโดยการเช่าเครื่องบินเหมาลํา ซึ่งทางสายการบินจะออกบัตรโดยสารให้เพียงใบเดียว การเสียภาษีการเดินทางจะต้องเสียตามจํานวนคนที่โดยสาร ไม่ใช่ตามบัตรโดยสารที่ออก

2. การเดินทางโดยทางเรือ ผู้เดินทางจะต้องชําระภาษีการเดินทางต่อผู้ประกอบการขนส่งทางเรือหรือตัวแทน ซึ่งจําหน่ายตั๋วโดยสารในทันทีที่ซื้อตั๋วโดยสาร หรือถ้าซื้อตั๋วมาจากต่างประเทศ ให้ชําระภาษีการเดินทางต่อผู้ประกอบการขนส่ง หรือตัวแทนดังกล่าวในประเทศไทย หรือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรประจําท่าเรือ หรือ ณ สํานักงานสรรพากรอําเภอท้องที่ (ยกเว้นท้องที่ในเขตกรุงเทพมหานคร) ที่ด่านศุลกากรประจําท่าเรือตั้งอยู่

3. การเดินทางโดยทางรถไฟ ให้ชําระภาษีต่อพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย ณ สถานีรถไฟกรุงเทพหรือสถานีรถไฟซึ่งจําหน่ายตั๋วโดยสารให้ทันทีที่ซื้อตั๋วโดยสาร ในกรณีที่ไม่ได้ซื้อตั๋วรถไฟที่กรุงเทพหรือหาดใหญ่ให้ชําระภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรประจําพรมแดน หรือ ณ สํานักงานสรรพากรอําเภอท้องที่ที่ด่านศุลกากรประจําพรมแดนตั้งอยู่

4. การเดินทางโดยทางอื่น ผู้เดินทางต้องชําระภาษีต่อผู้ประกอบการขนส่ง ซึ่งจําหน่ายตั๋วโดยสารให้ทันทีที่ซื้อตั๋วโดยสาร ในกรณีที่ไม่มีการซื้อตั๋วโดยสารให้ผู้เดินทางชําระภาษีต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากรประจําพรมแดน หรือ ณ สํานักงานสรรพากรอำเภอท้องที่ที่ด่านศุลกากรประจําพรมแดนตั้งอยู่

ทั้งนี้ การชําระภาษีการเดินทางตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ให้ชําระเป็นรายบุคคล ไม่ว่าจะมีการออกตั๋วโดยสารเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม

ผู้ได้รับการยกเว้นภาษี

1. ผู้มีหน้าที่ทําการเกี่ยวกับการประกอบการขนส่ง ซึ่งโดยลักษณะหน้าที่ผู้นั้นไม่ต้องเสียค่าโดยสาร และเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยหน้าที่การงานของผู้ประกอบกิจการขนส่ง ซึ่งตนมีหน้าที่ (มาตรา 9 (1))

บุคคลกลุ่มนี้ได้แก่ พนักงานประจําเครื่องบินหรือยานพาหนะ ซึ่งทําการขนส่งระหว่างประเทศ เช่น นักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เป็นต้น ตามปกติบุคคลเหล่านี้จะมีรายชื่อตามแบบ ตม. 4 ของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นบัญชีรายชื่อบุคคลประจําเที่ยวบินหรือเรือ ซึ่งออกในแต่ละเที่ยว

สําหรับผู้มีหน้าที่ทําการเกี่ยวกับประกอบการขนส่ง เฉพาะการขนส่งผู้โดยสารออกนอกราชอาณาจักร ด้วยรถยนต์นั่งซึ่งมีที่นั่งไม่เกิน 7 คน หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 12 คนหรือ มีน้ำหนักไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม จะได้รับยกเว้นภาษีการเดินทางต่อเมื่อได้แสดงบัตรประจําตัวตาม แบบ ภ.ด.ท.17 ที่ทางกรมสรรพากรออกให้พร้อมทั้งบัญชีคนโดยสารตามแบบ ตม.3 และบัญชีคนประจําพาหนะตามแบบ ตม.4 ทั้งนี้ ให้แสดงเมื่อจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

2. ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยใช้ใบอนุญาตผ่านแดน (มาตรา 9 (2))

ใบอนุญาตผ่านแดนออกโดยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอําเภอ ซึ่งจะออกให้แก่บุคคลที่มีภูมิลําเนาในจังหวัดหรืออําเภอนั้น ๆ โดยจะเข้าไปได้ไม่เกิน 25 กิโลเมตร และห้ามอยู่เกิน 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ การใช้ใบอนุญาตผ่านแดนเป็นเพียงข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะให้ประชาชนสามารถเดินทางข้ามชายแดนไปมาได้ที่ใช้กันมากในประเทศไทย เช่น จังหวัดเชียงราย, อําเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และอําเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นต้น

3. ภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช (มาตรา 9 (3) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2526))

ภิกษุสามเณร ไม่ว่าจะอยู่ในศาสนา หรือลัทธินิกายใด จะได้รับยกเว้นภาษีการเดินทาง โดยจะต้องมีหนังสือรับรองว่าเป็นภิกษุสงฆ์จริง เช่น พระภิกษุไทยในพระพุทธศาสนา จะต้องแสดงหนังสือสุทธิของพระ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่าเป็นพระภิกษุสามเณรที่ถูกต้อง จึงได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว

4. ผู้เดินทาง ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย (มาตรา 9 (3) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2526))

พิธีฮัจญ์ คือ การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจที่เมืองเมกกะ ในเดือนซุลฮิจญะฮ์ ตามวันเวลา และสถานที่ต่าง ๆ ที่ทางศาสนาอิสลามกําหนดไว้ โดยจะต้องมีหนังสือรับรองเพื่อไปประกอบพิธีฮัจญ์ประกอบเป็นหลักฐานในการพิจารณายกเว้นภาษี

Hajj is the sacred pilgrimage performed by Muslims at the holy mosque of Masjid al-Haram in Makkah, Saudi Arabia
การประกอบพิธีฮัจญ์

5. ผู้เดินทางไปทํางานนอกราชอาณาจักรตามสัญญาจ้างแรงงานที่กรมแรงงานให้ความเห็นชอบ (มาตรา 9 (3) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2526))

โดยผู้เดินทางไปทํางานต่างประเทศตามสัญญาจ้างแรงงานที่กรมแรงงานให้ความเห็นชอบจะได้รับยกเว้นภาษีการเดินทาง โดยทางกรมแรงงานจะออกหนังสือรับรองให้ เพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษี

6. ข้าราชการหรือลูกจ้าง ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจําสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ รวมทั้งสามี ภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคนรับใช้ส่วนตัวของข้าราชการและลูกจ้างดังกล่าว ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่สถานทูตหรือสถานกงสุลไทยนั้นตั้งอยู่ในประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย และเฉพาะการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยทางบกหรือทางน้ำไปยังประเทศนั้น (มาตรา 9 (3) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2527))

7. ผู้เดินทางซึ่งเดินทางโดยทางบกหรือทางน้ำ (มาตรา 9 (3) ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529))

8. ผู้เดินทางซึ่งเดินทางผ่านประเทศไทยเพื่อไปยังต่างประเทศ และจําเป็นต้องเข้าในราชอาณาจักร เพราะเหตุอากาศยานขัดข้องหรือเพื่อรอการเปลี่ยนอากาศยาน เนื่องจากไม่มีอากาศยานที่จะเดินทางต่อภายใน 24 ชั่วโมง แต่ผู้เดินทางดังกล่าวจะต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักรภายใน 48 ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เข้ามาในราชอาณาจักร (มาตรา 9 (3) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2529))

9. ผู้เดินทางซึ่งเดินทางโดยทางอากาศ (มาตรา 9 (3) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2534))

บทลงโทษหากเลี่ยงภาษี

ผู้เดินทางที่หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงโดยเดินทางออกนอกประเทศ โดยไม่ยอมเสียภาษีการเดินทางจะได้รับโทษ คือ เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือน โดยไม่รวมเบี้ยปรับ นอกจากนี้ ยังมีโทษทางอาญา จําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3,000 บาท

สําหรับผู้ประกอบการขนส่งที่รับชําระภาษีการเดินทางจากผู้เสียภาษีแล้ว แต่ไม่นําส่งภาษีตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกําหนด ต้องรับโทษคือ เสียเบี้ยปรับ 2 เท่า และเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีที่ต้องเสีย โดยไม่รวมเบี้ยปรับ

ที่มา : กรมสรรพากร