นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นปัญหาส่วยทางหลวงว่า ส่วยทางหลวงไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่มีมาหลายสิบปีแล้ว และมีมูลค่าการทุจริตคอร์รัปชันสูงในระดับ 20,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องจ่ายส่วย ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ในมุมของผู้ประกอบการ แม้ว่าจะบรรทุกสินค้าได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่คุ้มกับค่าซ่อมบำรุงที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งเมื่อเจอกับการแข่งขันที่ต้องตัดราคากันเองก็ยิ่งทำให้กำไรลดลงมาก

นายวิโรจน์ เปิดเผยว่า ต้นตอของปัญหาส่วยทางหลวง คือ เจ้าหน้าที่รัฐใช้ช่องว่างทางกฎหมายรังแกผู้ประกอบการ ทั้งการตรวจควันดำ, ตรวจเสียง, การตั้งด่านตราชั่งลอยเพื่อชั่งน้ำหนัก, การเดินตรวจรอบรถแบบจุกจิกเพื่อหาเรื่องปรับ รวมถึงการเรียกตรวจพนักงานขับรถ ฯลฯ จนเป็นเหตุให้เกิด “ขาใหญ่” หรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำหน้าที่เอาส่วยแบบเหมาจ่ายไปส่งให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วมาผลิตสติกเกอร์ขายให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้ดำเนินกิจการขนส่งได้โดยไม่ถูกตรวจสอบ แม้ว่าจะมีการกระทำผิดกฎหมายก็ตาม

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาส่วยทางหลวง, ส่วยรถบรรทุก หรือส่วยสติกเกอร์นั้น นายวิโรจน์แนะนำว่า ควรดึงเทคโนโลยี Weight In Motion (WIM) หรือการตรวจวัดน้ำหนักรถบรรทุกขณะรถวิ่งเข้ามาใช้งาน โดยระบบ WIM คืออุปกรณ์ชั่งน้ำหนักขณะยานพาหนะเคลื่อนที่ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อตรวจสอบและบันทึกน้ำหนักรวมของรถบรรทุกหรือยานพาหนะใด ๆ เมื่อเคลื่อนผ่านอุปกรณ์การวัด โดยไม่ต้องหยุดหรือชะลอความเร็วของยานพาหนะลง ส่งผลให้กระบวนการชั่งน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่า ด่านชั่งน้ำหนักรถบรรทุกในขณะรถวิ่ง หรือระบบ WIM จะทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกที่จะเข้ามาใช้ถนนหรือสะพาน รวมถึงคัดกรองรถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกินที่กฎหมายกำหนดออกจากถนนได้อย่างรวดเร็ว และช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด เนื่องจากช่วยลดความยาวแถวคอยของรถบรรทุกที่รอชั่งน้ำหนัก รวมถึงมีระบบกล้องตรวจสอบป้ายทะเบียนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพื่อแสดงหมายเลขทะเบียนบนป้ายแสดงข้อความเตือนว่าผ่านหรือไม่ผ่าน

Weigh-In-Motion-System
การทำงานของระบบ WIM

นายวิโรจน์ยังแนะนำอีกว่า ระบบ WIM ควบถูกนำมาใช้ควบคู่กับระบบการออกใบสั่งทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถส่งใบสั่งไปยังผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกินได้ทันที สำหรับการชำระค่าปรับนั้น แนะนำให้โอนชำระค่าปรับผ่านระบบธนาคารเป็นหลัก เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม นายวิโรจน์ กล่าวว่า ระบบที่เชื่อมโยงบูรณาการแบบนี้ อาจจะต้องมีการทบทวนกฎหมายให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมสากลและสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เช่น พิจารณาใช้น้ำหนักเฉลี่ยต่อล้อเป็นเกณฑ์แทนการใช้น้ำหนักรวม หรือกรณีที่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์น้ำหนักรวม ควรแบ่งตามประเภทของรถบรรทุก โดยพิจารณาตามจำนวนล้อ เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้ถนนชำรุด คือ น้ำหนักเฉลี่ยที่ถ่ายลงมาที่ล้อแล้วถ่ายลงสู่พื้นถนน ไม่ใช่น้ำหนักรวม

ด้วยระบบที่เชื่อมโยงบูรณาการดังกล่าว นายวิโรจน์เชื่อมั่นว่า น่าจะเป็นทางออกที่ดีต่อทุกฝ่าย เพราะเป็นการลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐลง ลดปัญหาการกลั่นแกล้งเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็มีความสะดวกสบายในการดำเนินกิจการมากขึ้น ไม่ต้องจอดรถหรือต่อคิวขึ้นชั่ง ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และกลายเป็นการแก้ปัญหาส่วยทางหลวงอย่างยั่งยืน

ที่มา : วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, Weigh In Motion

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส