นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) เปิดเผยว่า กลางเดือนพฤศจิกายนนี้จะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ โดยจะทำผ่านแอปพลิเคชันใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการตั้งชื่อ สำหรับการลงทะเบียนของประชาชนคาดว่าจะสามารถทำได้หลังจากนั้น โดยยืนยันว่าจะได้ใช้งานทันเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567 อย่างแน่นอน

ส่วนสาเหตุที่ต้องมีการลงทะเบียนนั้น นายจุลพันธ์อธิบายว่า เนื่องจากรัฐบาลยืนยันจะเติมเงินดิจิทัลให้ทุกคนที่มีสิทธิ์ครั้งเดียว 10,000 บาท และกระบวนการลงทะเบียนนั้นถือเป็นกลไกในการยืนยันตัวตน โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเคยมีการใช้ระบบนี้ในการยืนยันตัวตนมาแล้ว ดังนั้น ประชาชนที่รัฐบาลเคยมีฐานข้อมูลอยู่ราว 40 ล้านคน ที่ได้ผ่านกระบวนการยืนยันตัวตนมาแล้ว เมื่อเข้าสู่โครงการนี้จะเป็นลักษณะให้กดปุ่มยืนยัน เพื่อให้สามารถเข้าสู่โครงการอีกครั้ง

สำหรับข้อสังเกตที่ต้องการเปลี่ยนเงื่อนไขให้แบ่งจ่ายเงินเป็นงวด ๆ นั้น นายจุลพันธ์อธิบายว่า การทำเช่นนั้นจะไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ของโครงการที่ต้องการกระชากเศรษฐกิจขึ้นในระยะเวลาอันสั้น เพราะหากทยอยจ่ายเดือนละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 10 เดือน ก็ไม่ต่างอะไรกับนโยบายที่เคยทำมาในอดีต

ส่วนความคิดเห็นของนักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ได้ร่วมกันลงชื่อขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่าเป็นการได้ไม่คุ้มเสียนั้น นายจุลพันธ์ระบุว่าคณะอนุกรรมการได้มีการหารือกันเรื่องนี้ในที่ประชุม และสรุปว่าโครงการนี้มีตัวคูณทางเศรษฐกิจมากกว่าโครงการอื่น ๆ ที่ทำมาในอดีตแน่นอน เพราะมีการกำหนดวิธีการและเงื่อนไขให้มีการนำเงินหมุนวนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง ส่วนเงื่อนไขระยะทางการใช้เงินระยะ 4 กิโลเมตร คณะอนุกรรมการยอมรับว่ารับฟังทุกข้อคิดเห็นและจะหาข้อสรุปให้ได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้

ประเด็นสุดท้ายคือที่มาของแหล่งเงิน ซึ่งช่วงเวลานี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่ได้มีการวางเป้าหมายไว้ว่าจะใช้งบประมาณเป็นหลักนั้น นายจุลพันธ์ระบุว่าจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อมีตัวเลือกให้กับรัฐบาลและคณะทำงาน โดยจะพิจารณาเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุด

ส่วนจะเป็นการเกลี่ยงบประมาณของกระทรวงอื่น ๆ มาใช้ในโครงการหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์กล่าวว่า ขณะนี้งบประมาณปี 2567 อยู่ระหว่างหน่วยงานส่งคำขอมาที่สำนักงบประมาณ จึงต้องไปดูรายละเอียดว่าโครงการไหนยังไม่มีความจำเป็น หรือโครงการไหนที่อาจจะดำเนินการไม่ทันในปีงบประมาณ หรือโครงการที่สามารถลดงบประมาณได้ ก็ต้องมีการปรับลดลง

อย่างไรก็ตาม นายจุลพันธ์ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้สั่งการให้ลดงบประมาณแต่ละโครงการ แต่ให้ไปดูความจำเป็นของโครงการว่าควรจะมีอยู่หรือไม่ เมื่อได้ตัวเลขมาแล้วก็จะนำไปจัดสรรเพื่อให้งบประมาณลงตัวต่อไป

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส